คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1154/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังเกิดเหตุแล้วโจทก์ จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการและพนักงานประกันภัยของจำเลยที่ 4 ได้มีการเจรจาเรื่องค่าเสียหายกัน ทั้งได้ความว่ารถยนต์บรรทุกเป็นของจำเลยที่ 2เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 ประกอบกับจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 3 ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิด จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยรถยนต์จากจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย รถยนต์โจทก์ถูกชนท้ายและไถลไปชนรถยนต์บรรทุกที่จอดอยู่ข้างหน้า ได้รับความเสียหายทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีสภาพพังยับเยินต้องซ่อมแซม ศาลกำหนดค่าซ่อมแซมให้ 106,705 บาทค่าขาดประโยชน์ 36 วัน วันละ 300 บาท เป็นเงิน 10,800 บาท น้อยกว่าที่โจทก์ขอ และการที่รถยนต์โจทก์ถูกชนเสียหายยับเยินย่อมเสื่อมราคาลง แม้จะทำการซ่อมแซมอย่างดีแล้วก็ตาม ศาลกำหนดค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 5,000 บาท เป็นการเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจำนวน 135,716 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2ท-0218 กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้าง และได้กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 รถยนต์ของโจทก์เสียหายเล็กน้อย จำเลยที่ 4 จะรับผิดต่อโจทก์เมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อโจทก์ และจะรับผิดในวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่เกิน 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน 122,505 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จให้จำเลยที่ 4 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อโจทก์ในวงเงิน100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่19 พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ฝ่ายจำเลยก็มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า หลังเกิดเหตุแล้วโจทก์จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการและพนักงานประกันภัยของจำเลยที่ 4 ได้มีการเจรจาเรื่องค่าเสียหายกัน ทั้งได้ความว่ารถยนต์บรรทุกเป็นของจำเลยที่ 2 ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 ประกอบกับจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดดังได้วินิจฉัยมาจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์จากจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ฝ่ายจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายสำหรับค่าซ่อมแซมรถยนต์ ค่าขาดประโยชน์และค่าเสื่อมราคาสูงเกินไปนั้น เห็นว่า รถยนต์โจทก์ถูกชนท้ายและไถลไปชนรถยนต์บรรทุกที่จอดอยู่ข้างหน้าทำให้ได้รับความเสียหายทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีสภาพพังยับเยินต้องซ่อมแซม โจทก์ได้ให้ช่างตรวจความเสียหายแล้ว นายสุริยา สิริวรวิทย์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์เบิกความว่า พยานได้ตรวจความเสียหายของรถยนต์โจทก์และตีราคาไว้เป็นเงิน 106,705 บาท โดยต้องซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ถึง 46 รายการตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าซ่อมแซมให้ตามจำนวนดังกล่าว สำหรับค่าขาดประโยชน์นายอรัญ เลิศธีระพงศ์ พยานจำเลยเบิกความว่าได้เสนอราคาเหมาซ่อมรถยนต์โจทก์แก่จำเลยที่ 4 ตามเอกสารหมาย ล.1 ระบุเวลาซ่อม120 วัน และนายโชตินัย แซ่ลิ้ม พยานจำเลยที่จำเลยที่ 4 เรียกให้ไปตีราคาค่าซ่อมรถยนต์โจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่ารถยนต์โจทก์จะใช้เวลาซ่อมประมาณ 60 วัน ถ้ามีเหตุการณ์ต้องซ่อมเพิ่มเติมอาจเกินเวลาก็ได้ ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์ 36 วัน วันละ 300 บาทรวมเป็นเงิน 10,800 บาทน้อยกว่าที่โจทก์ขอและการที่รถยนต์โจทก์ถูกชนเสียหายยับเยินดังกล่าวย่อมเสื่อมราคาลงแม้จะทำการซ่อมแซมอย่างดีแล้วก็ตาม ซึ่งศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 5,000 บาท ดังนี้ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้วไม่มีเหตุที่จะแก้ไขค่าเสียหายให้น้อยลงไปอีกที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share