แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องอ้างถึงสัญญาของผู้เข้าทำงานที่จำเลยทำกับโจทก์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของจำเลย และรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งโจทก์ถือว่ามิได้ปฏิบัติงานเป็นไปตามสัญญาฉบับดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเพราะปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเฉพาะ มิใช่เรื่องละเมิด เมื่อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ลักษณะ 6 มิได้กำหนดอายุความไว้ คดีโจทก์จึงมีอายุความ10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยแจ้งชัดถึงข้ออ้างตามฟ้องโจทก์ที่อ้างว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินโดยตรง เพราะตำแหน่งหัวหน้ากองรักษาเงินที่จำเลยดำรงอยู่นั้นเป็นผู้รักษาเงินตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 4 จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า มีระเบียบฯ ฉบับที่ 72 กำหนดส่วนงานของกองรักษาเงินและระเบียบฯฉบับที่ 4 กำหนดหน้าที่ของผู้รักษาเงินซึ่งเป็นคนละส่วนกันจำเลยเป็นหัวหน้ากองรักษาเงินจึงไม่ใช่ผู้รักษาเงินตามระเบียบฯ ฉบับที่ 4 นั้น อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้จำเลยรับผิดโดยวินิจฉัยว่าจำเลยไม่อาจหยิบยกประเพณีหรือทางปฏิบัติมาเป็นข้อแก้ตัวจำเลยปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง หละหลวมมิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่ควร กับจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้ช่วยของจำเลยทุจริตการที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้าง จำเลยมิได้ทุจริต มิได้ประมาทหรือบกพร่องต่อหน้าที่ โจทก์ไม่มีระเบียบ ข้อบังคับคำสั่งให้จำเลยจดแจ้งจำนวนเงินนำเข้าออกจำเลยได้มอบหมายงานในหน้าที่ให้ผู้ช่วยของจำเลยไปแล้วหากจำเลยต้องรับผิดก็รับผิดเพียงกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายอันเป็นไปตามสภาพการทำงานระหว่างจำเลยกับผู้ช่วยของจำเลยนั้นจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งหัวหน้ากองรักษาเงิน โดยมีสัญญาจ้างกับโจทก์ว่า จำเลยยอมปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับซึ่งคณะกรรมการหรือผู้อำนวยการธนาคารออมสินได้กำหนดวางไว้ และที่จะมีขึ้นภายหน้าตลอดจนคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หากจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจะยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ปรากฎตามภาพถ่ายสัญญาของผู้เข้าทำงานธนาคารออมสินเอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำฟ้อง สำหรับกองรักษาเงินที่จำเลยเป็นหัวหน้ากองนี้ มีหน้าที่รับและส่งเงินจากหน่วยงานภายในสำนักงานใหญ่และสาขาต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและช่วยนำเงินส่งผู้ฝากตามที่สาขาต่างๆ จะขอความร่วมมือจำเลยจึงเป็นผู้รักษาเงินตามนัยแห่งระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 4 ว่าด้วยการตรวจสอบและรักษาเงินประจำวัน โดยเงินสดจะเก็บรักษาในตู้นิรภัยในห้องมั่นคงและในห้องทำงานของหัวหน้ากองรักษาเงิน กับมีคณะกรรมการหนึ่งชุดซึ่งหัวหน้ากองรักษาเงินเป็นกรรมการอยู่ด้วยเรียกว่า ‘คณะกรรมการรักษาเงินสด’ เป็นผู้รับผิดชอบ ในตอนเช้าของวันทำการ คณะกรรมการรักษาเงินสดจะไขกุญแจตู้นิรภัยเพื่อให้หัวหน้ากองรักษาเงินเอาเงินออกมาเพื่อธุรกิจของวันนั้นหลังจากนั้น ความรับผิดชอบในเงินทั้งหมดในห้องมั่นคงจะตกแก่หัวหน้ากองรักษาเงินแต่ผู้เดียวจนกว่าจะสิ้นวันทำการเมื่อปิดบัญชีประจำวันแล้ว คณะกรรมการรักษาเงินสดจะนับเงินคงเหลือทั้งหมดว่าตรงกับบัญชีหรือไม่ เมื่อตรงกันก็จะเก็บเงินคงเหลือไว้ในตู้นิรภัยและปิดกุญแจ ความรับผิดชอบทั้งหลายจะตกอยู่กับคณะกรรมการรักษาเงินสด จนกว่าจะถึงตอนเช้าของวันเปิดทำการ สำหรับตู้นิรภัยในห้องทำงานของจำเลยนั้นจำเลยเป็นผู้ถือลูกกุญแจไว้แต่ผู้เดียว เมื่อวันที่ 14กรกฎาคม 2529 ขณะที่จำเลยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองรักษาเงินเมื่อสิ้นเวลาทำการแล้วคณะกรรมการรักษาเงินสดได้ตรวจสอบยอดเงินคงเหลือกับหลักฐานทางบัญชี ปรากฎว่าเงินขาดบัญชีจำนวน500,000 บาท จำเลยได้รายงานเหตุการณ์ต่อหัวหน้าฝ่ายการบัญชีตามภาพถ่ายเอกสารหมายเลข 4 ท้ายคำฟ้อง โจทก์มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ทำการสอบสวนแล้วได้ความว่า ในตอนเช้าของวันที่ 14กรกฎาคม 2529 เมื่อคณะกรรมการรักษาเงินสดเปิดตู้นิรภัยในห้องมั่นคงแล้ว จำเลยได้นำเงินออกมาเพื่อนำไปใช้ในธุรกิจ และตลอดเวลาทำการจำเลยทำการรับจ่ายเงินให้แก่หน่วยงานของโจทก์หลายรายโดยมีหลักฐานเอกสารการจ่ายและรับเงิน หลักฐานการจ่ายและรับเงินของแต่ละวัน จำเลยได้วางไว้บนโต๊ะทำงานของจำเลยซึ่งมีพนักงานในบังคับบัญชาของจำเลยและพนักงานอื่นเดินเข้าออกได้ตลอดเวลา กรณีจึงเป็นไปได้ที่มีผู้ทุจริตลักใบเบิกเงินฉบับใดฉบับหนึ่งจากโต๊ะทำงานของจำเลยออกไปแล้วทำหลักฐานการเบิกเงินขึ้นใหม่ จำเลยยอมรับว่า ในการรับหรือจ่ายเงินในวันดังกล่าว จำเลยไม่ได้ตรวจนับเงินคงเหลือและไม่ได้ทำบันทึกการรับจ่ายเงินไว้จึงไม่อาจทราบได้ว่าในแต่ละช่วงของวันทำการนั้น จำนวนเงินคงเหลือถูกต้องแท้จริงเพียงใด ฉะนั้น เมื่อมีผู้ทุจริตทำการเบิกเงินซ้ำซ้อน จำเลยก็ไม่อาจทราบได้ และช่วงเวลา 13.30 นาฬิกาถึง 15.30 นาฬิกาของวันดังกล่าว จำเลยมิได้นั่งปฏิบัติหน้าที่ในห้องทำงานเพราะได้ออกไปติดต่อธุระส่วนตัวนอกห้องทำงาน โดยมิได้แจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทราบ กับมิได้มอบหมายเอกสารการเงินหรือหน้าที่ และมิได้มอบกุญแจตู้นิรภัยให้พนักงานคนใด เอกสารการจ่ายเงินก็มิได้เก็บไว้ในที่ปลอดภัย และปรากฎหลักฐานว่าในวันนั้นส่วนการออมสินสำนักงานใหญ่ได้เบิกเงินจากจำเลยจำนวน500,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับเงินที่ขาดบัญชี เมื่อการสอบสวนไม่สามารถยืนยันได้ว่า เงินที่ขาดบัญชีได้ขาดไปอย่างไรก็ตาม แต่หลักฐานทางบัญชีเชื่อได้ว่าขาดบัญชีไปในระหว่างปฏิบัติงานประจำวันนั้น เมื่อเงินทั้งหมดในระหว่างการปฏิบัติงานประจำวันอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากองรักษาเงิน จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยจึงได้ทำบันทึกถึงหัวหน้าฝ่ายการบัญชีเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2529 ตามภาพถ่ายเอกสารหมายเลข 4 ท้ายคำฟ้องอันเป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลยต่อมาคณะกรรมการพิจารณาโทษทางวินัยได้พิจารณาสำนวนการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแต่ผู้เดียว และลงโทษลดขั้นเงินเดือนหนึ่งขั้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2531 เป็นต้นไป โจทก์ทวงถามให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนนี้แล้ว แต่จำเลยตอบปฏิเสธ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2529 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี เป็นเงิน 75,000บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2529 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี เป็นค่าดอกเบี้ย 75,000 บาท กับให้จำเลยชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินจำนวน 500,000บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์แจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามหนังสือที่ คน.222/2530 ลงวันที่ 11 เมษายน 2530 จำเลยตอบปฏิเสธตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2530 นับถึงวันฟ้องจึงเกินหนึ่งปี คดีขาดอายุความ จำเลยมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้าง เงินจำนวน 500,000 บาทที่สูญหายไปไม่ใช่เกิดจากความผิดของจำเลย หากจะฟังว่าจำเลยมีความผิดก็จะเป็นความผิดทางวินัยซึ่งโจทก์ได้ลงโทษจำเลยแล้ว หนังสือของจำเลยตามภาพถ่ายเอกสารหมายเลข 4 ท้ายคำฟ้องไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ เพราะจำเลยมิได้ยอมรับว่าจะชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่เป็นบันทึกรายงานข้อเท็จจริงให้ผู้บังคับบัญชาทราบและยอมรับผิดทางวินัยเท่านั้น ในวันที่ 14กรกฎาคม 2529 จำเลยมาปฏิบัติงานตามปกติ และเมื่อเวลาประมาณ13.30 นาฬิกา ถึง 15.30 นาฬิกา จำเลยได้ออกจากห้องทำงานไปพบปะกับผู้จัดการสาขาธนาคารออมสินต่างจังหวัดที่เข้ามารับการอบรมที่ฟ้องชั้นบน ก่อนออกจากห้องทำงาน จำเลยได้บอกและมอบงานให้นางสุจนี นิยมาคม ซึ่งเป็นผู้ช่วยของจำเลยให้ทำหน้าที่แทนจำเลยไม่ได้ออกไปจากบริเวณสำนักงาน เมื่อจำเลยกลับมาปฏิบัติงานและตรวจสอบเอกสารต่างๆ จึงปรากฎว่าเงินจำนวน 500,000 บาทได้ขาดหายไปโดยไม่ทราบว่าหายไปอย่างไร เวลาใดและใครเป็นผู้ทุจริต ในวันรุ่งขึ้นก็ยังไม่ทราบถึงเหตุดังกล่าว จำเลยจึงทำบันทึกรายงานผู้บังคับบัญชาตามขั้นตอนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม2529 โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนจำเลยแต่ผู้เดียว โดยมิได้แจ้งข้อกล่าวหาตามระเบียบ ต่อมาในวันที่ 13 กันยายน 2530ซึ่งเป็นระยะเวลาระหว่างการสอบสวน โจทก์มีคำสั่งย้ายจำเลยไปประจำธนาคารช่วยปฏิบัติงานที่กองกลาง สำนักงานใหญ่ และแต่งตั้งนางสุจนี นิยมาคม ดำรงตำแหน่งแทนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนได้กระทำโดยไม่ชอบต่อระเบียบการของโจทก์ ฉบับที่ 92ว่าด้วยความรับผิดชอบของพนักงานธนาคารออมสินในทางแพ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2530 โจทก์มีหนังสือที่ คน.222/2530 แจ้งให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหาย จำเลยมีหนังสือตอบปฏิเสธเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2530 นอกจากนั้นระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 4ว่าด้วยการตรวจสอบและรักษาเงินประจำวันข้อ 1 ได้ถูกยกเลิกโดยระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 9 ข้อ 3 ดังนั้น หัวหน้ากองรักษาเงินและผู้ช่วยหัวหน้ากองรักษาเงินจึงมีหน้าที่รับผิดร่วมกัน หากจะฟังว่าจำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวก็คงต้องรับผิดเพียง 250,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมคดีไม่ขาดอายุความ จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่ควร เมื่อเกิดความเสียหายจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้าง พิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14กรกฎาคม 2529 จนถึงวันฟ้องแต่ไม่ให้เกิน 75,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของเงินจำนวน 500,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘จำเลยอุทธรณ์ตามข้อ 2.1 ว่า โจทก์อ้างข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปีนับแต่โจทก์ทวงถาม คดีจึงขาดอายุความ พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องโดยอ้างถึงสัญญาของผู้เข้าทำงานธนาคารออมสินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ตามภาพถ่ายเอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำฟ้อง (เอกสารหมาย จ.4) กับกล่าวอ้างข้อเท็จจริงถึงตำแหน่งและหน้าที่ของจำเลย กับรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์ถือว่าจำเลยไม่ได้ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามสัญญาของผู้เข้าทำงานธนาคารออมสินฉบับดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเฉพาะ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 6 มิได้กำหนดอายุความไว้ คดีของโจทก์จึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 กรณีหาใช่เป็นเรื่องละเมิดอันมีอายุความหนึ่งปีดังข้ออุทธรณ์ของจำเลยไม่
จำเลยอุทธรณ์ต่อไปตามข้อ 2.2.1 ว่า ตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 4 ว่าด้วยการตรวจสอบและการรักษาเงินประจำวันมีวัตถุประสงค์ใช้บังคับกับสำนักงานสาขา มิได้ใช้บังคับกับสำนักงานส่วนกลาง ส่วนกองรักษาเงินปรากฎตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 27 ที่ 45 ที่ 62 ที่ 69 และที่ 72 ดังนั้นหัวหน้ากองรักษาเงินจึงมิใช่ผู้รักษาเงินตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 4 การตีความของศาลแรงงานกลางจึงคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาพิเคราะห์ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 69ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและกำหนดหน้าที่ของธนาคารออมสินเอกสารหมาย จ.7 แล้วปรากฎว่าได้กำหนดให้มีการตั้งกองรักษาเงินโดยให้ขึ้นกับฝ่ายการบัญชีตามข้อ 9 และกำหนดหน้าที่ไว้ตามข้อ 12 ว่า กองรักษาเงินมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับ การจ่าย การเก็บรักษาเงินสดและหลักทรัพย์ตราสารของธนาคารออมสิน และโจทก์บรรยายฟ้องถึงหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากองรักษาเงินว่า มีหน้าที่รับและส่งเงินจากหน่วยงานภายในสำนักงานใหญ่และจากธนาคารออมสินต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร ช่วยนำส่งเงินแก่ผู้ฝากตามที่ธนาคารออมสินสาขาต่างๆ ขอความร่วมมือ ดังนี้ จำเลยจึงต้องมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินโดยตรง อันเป็นข้ออ้างถึงหน้าที่ของจำเลยโดยแจ้งชัดอยู่แล้ว ส่วนข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ตามระเบียบฯ ฉบับที่ 72 กำหนดส่วนงานของกองรักษาเงินไว้ และตามระเบียบฯ ฉบับที่ 4 เป็นเรื่องกำหนดหน้าที่ของผู้รักษาเงินซึ่งเป็นส่วนงานคนละส่วนกัน จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากองรักษาเงินจึงไม่ใช่ผู้รักษาเงินตามระเบียบฯ ฉบับที่ 4 ตามที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในปัญหาข้อนี้ว่า กองรักษาเงินมีหน้าที่รับและส่งเงินจากหน่วยงานภายในสำนักงานใหญ่และจากธนาคารออมสินสาขาต่างๆในเขตกรุงเทพมหานคร และช่วยนำเงินส่งให้แก่ผู้ฝากตามที่ธนาคารออมสินสาขาต่างๆ จะขอความร่วมมือมาเป็นครั้งคราว จำเลยจึงมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินโดยตรง ฉะนั้น ตำแหน่งหัวหน้ากองรักษาเงินที่จำเลยดำรงอยู่จึงเป็นผู้รักษาเงินตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการตรวจสอบและรักษาเงินประจำวันข้อ 1 ซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธโดยแจ้งชัดถึงข้ออ้างของโจทก์ไว้ว่า ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยเหตุใดอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยอุทธรณ์ตามข้อ 2.2.2 ว่า จำเลยไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้าง ไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหายเพราะจำเลยมิได้ทุจริต มิได้กระทำโดยประมาทหรือบกพร่องต่อหน้าที่โจทก์ไม่เคยมีข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งให้จำเลยจดแจ้งจำนวนเงินที่นำเข้าและออกจำเลยได้มอบหมายงานในหน้าที่ให้แก่ผู้ช่วยของจำเลยแล้ว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงได้ความว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ทำให้โจทก์เสียหายและไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างนั้น เป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าจำเลยไม่อาจหยิบยกประเพณี หรือทางปฏิบัติมาเป็นข้อแก้ตัว จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง มีความหละหลวมและมิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่ควร อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ตามข้อ 2.2.3 ว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจย่อมมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไว้และในการปฏิบัติงานนั้น จำเลยไม่มีอำนาจที่จะวางระเบียบข้อบังคับหรือออกคำสั่งเองได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า หากมีข้อบกพร่องในการทำงานจำเลยชอบที่จะวางระเบียบ กฎและข้อบังคับขึ้นได้จึงไม่ถูกต้อง พิเคราะห์แล้ว ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 69ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและกำหนดหน้าที่ของธนาคารออมสิน เอกสารหมาย จ.7 ได้กำหนดหน้าที่ของกองรักษาเงินซึ่งจำเลยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองไว้ว่า มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับการจ่ายการเก็บรักษาเงินสดและหลักทรัพย์ ตราสารของธนาคารออมสิน ฯลฯดังนี้ ย่อมเป็นที่เห็นได้แจ้งชัดว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะและสภาพงานเช่นนี้ จำเลยย่อมอยู่ในฐานะที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบ เอาใจใส่และมีความระมัดระวังเป็นพิเศษกว่างานในหน้าที่อื่น จำเลยจึงควรที่จะใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เมื่อจำเลยปล่อยปละละเลยประกอบด้วยความประมาทเลินเล่อตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาของผู้เข้าทำงานธนาคารออมสิน เอกสารหมาย จ.4, จ.5 และหมาย จ.6
จำเลยอุทธรณ์ตามข้อ 2.2.4 ว่า ตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 92 ว่าด้วยความรับผิดชอบของพนักงานธนาคารออมสินในทางแพ่ง กำหนดว่า เมื่อผู้อำนวยการธนาคารออมสินได้รับรายงานจากคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ให้รีบพิจารณาสั่งการให้เสร็จสิ้นภายใน45 วัน ถ้าเห็นว่าผู้ใดต้องรับผิดก็ให้ดำเนินคดีเรียกร้องให้ชดใช้ภายใน 90 วัน แต่โจทก์ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยเกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าว การฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ระเบียบการธนาคารออมสินที่จำเลยอ้างนั้นเป็นข้อกำหนดที่วางวิธีปฏิบัติงาน และกำหนดระยะเวลาเพื่อให้ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติโดยมีจุดประสงค์ให้งานต่างๆ ได้เป็นไปโดยถูกต้องและรวดเร็ว แม้โจทก์จะได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็หาเป็นการตัดสิทธิของโจทก์ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยตามบทบัญญัติของกฎหมายไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยได้โดยชอบ
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายตามข้อ 2.3 ว่า หากจะให้จำเลยต้องชดใช้เงินให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยจะต้องรับผิดเพียง 250,000บาท ซึ่งเป็นไปตามสภาพการทำงานระหว่างจำเลยกับผู้ช่วยของจำเลยตามที่จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ พิเคราะห์แล้วศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดโดยจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้ช่วยของจำเลยกระทำการโดยทุจริต ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่ขอให้ศาลฎีการับฟังว่า ผู้ช่วยของจำเลยได้กระทำการอันหนึ่งอันใดซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงอันต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.