คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1152/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ซึ่งรับเป็นฝ่ายสืบก่อนได้ขอเลื่อนวันสืบพยานโจทก์มาถึง 2 นัดแล้ว นัดที่ 3 โจทก์ขอเลื่อนอีก โดยอ้างว่ากำลังทำความปรองดองกับจำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง และพยานโจทก์ไม่มีมาศาลทั้งโจทก์กลับสั่งห้ามไม่ให้พยานโจทก์ที่รับหมายแล้วมาศาล ดังนี้ได้ชื่อว่า โจทก์ประวิงคดีให้ชักช้าตาม มาตรา 86ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
และเมื่อศาลอนุญาตให้ตัวโจทก์เข้าเบิกความเป็นพยานตนเองได้และให้สืบในวันเดียวกับพยานจำเลย ถึงวันนัดตัวโจทก์และทนายไม่มา ดังนี้ถือว่า โจทก์ขาดนัดชั้นพิจารณาตามมาตรา 197 เมื่อจำเลยร้องขอให้ดำเนินการพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไป จึงต้องดำเนินการพิจารณาไปตาม มาตรา205
กรณีดังกล่าวไม่ต้องด้วย มาตรา 132 ศาลจึงไม่สั่งให้จำหน่ายคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง จำเลยต่อสู้ว่าที่พิพาทสามีโจทก์ได้ทำสัญญาขายฝากที่อำเภอแก่จำเลย ไถ่คืนใน 3 ปี พ้นกำหนดแล้วไม่ไถ่ถอนที่พิพาทจึงตกเป็นสิทธิแก่จำเลย ศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีตามที่โจทก์รับเป็นฝ่ายสืบก่อนถึง 2 คราว นัดที่ 3 โจทก์ขอเลื่อนอีกอ้างว่ากำลังทำความปรองดองกับจำเลยซึ่งไม่เป็นความจริง และพยานโจทก์ไม่มีมาศาลและโจทก์ห้ามไม่ให้พยานที่รับหมายแล้วมาศาล ศาลจึงไม่อนุญาตและให้นัดสืบพยานจำเลย ต่อมาศาลสั่งให้ตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานได้คนเดียวกับพยานจำเลยถึงวันนัดตัวโจทก์และทนายไม่ไปศาล จำเลยขอให้ศาลดำเนินการพิจารณาไป ศาลสั่งว่าโจทก์ขาดนัดชั้นพิจารณาและสืบพยานจำเลยได้ความสมข้อต่อสู้จำเลยพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา ขอให้สั่งจำหน่ายคดีหรือให้ศาลชั้นต้นสืบพยานใหม่

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามหลักฐานในสำนวนดังกล่าวได้ชื่อว่า โจทก์ประวิงคดีให้ชักช้าตามความในมาตรา 86 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลมีอำนาจงดสืบพยานโจทก์เสียด้วยซ้ำ แต่นัดต่อมาก็ยังให้โอกาสสืบตัวโจทก์เป็นพยานได้พร้อมกับสืบพยานจำเลย โจทก์กลับขาดนัดพิจารณาตามวันนัดสืบอีกดังนี้ คดีของโจทก์ต้องด้วยมาตรา 197 และจำเลยต้องการให้ดำเนินการพิจารณาสืบพยานของจำเลยต่อไป คดีจึงจำต้องดำเนินการพิจารณาต่อไปตามมาตรา 205 รูป คดีของโจทก์ไม่ต้องด้วยมาตรา 132 ตามที่โจทก์ฎีกา เห็นพ้องด้วยศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

Share