แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความ กับลงลายมือชื่อรับรองสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน มอบให้แก่ ท. ไปพร้อมกับโฉนดที่ดิน เมื่อ ท. นำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความว่าจำเลยมอบอำนาจให้ ท. จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนยกให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ ท. จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยต้องยอมรับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง จำเลยจะยกความประมาทเลินเล่อของตนเองดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่กระทำการโดยสุจริตหาได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821
จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 เมื่อจำเลยนำสืบไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริต การขายฝากที่ดินพิพาทระหว่าง ท. กับโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์ เมื่อ ท. ไม่ไถ่ที่ดินคืนภายในกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 21225 ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาท แก่โจทก์ กับค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และเพิกถอนนิติกรรมในที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับนางทองน้อม
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะฟ้องเข้ามาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การยื่นเรื่องราวขอทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน ได้ความจากคำเบิกความของเจ้าพนักงานที่ดินว่า หากเจ้าของที่ดินไม่ได้มาด้วยตนเอง เอกสารที่จะต้องนำมายื่นประกอบเรื่องราวได้แก่หนังสือมอบอำนาจ โฉนดที่ดินฉบับผู้ถือ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนสมรสถ้ามีคู่สมรส โดยเอกสารสำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เจ้าของบัตรต้องลงลายมือชื่อรับรองสำเนาด้วย ซึ่งนางสาวปริศนา หลานสาวจำเลยเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า นอกจากโฉนดที่ดิน จำเลยได้มอบสำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยให้แก่นางทองน้อมไปพร้อมกับโฉนดที่ดินด้วย จึงน่าเชื่อว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารดังกล่าวให้แก่นางทองน้อมไปพร้อมกันด้วย การที่จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ โดยมิได้กรอกข้อความ มอบโฉนดที่ดิน กับสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่มีการรับรองสำเนาให้แก่นางทองน้อม เมื่อนางทองน้อมนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความว่าจำเลยมอบอำนาจให้นางทองน้อมจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนยกให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่นางทองน้อม จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยจึงต้องยอมรับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง จำเลยจะยกความประมาทเลินเล่อของตนเองดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่กระทำการโดยสุจริตหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 ซึ่งจำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ดังกล่าว เพราะโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต แต่จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร นางทองน้อมพยานจำเลยที่เบิกความในทำนองว่าถูกนางบัวริม หลอกลวงนั้น ก็ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าโจทก์ร่วมกับนางบัวริมหลอกลวงนางทองน้อมด้วย ข้อความตามจดหมายที่นางทองน้อมเขียนถึงจำเลย ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่านางทองน้อมถูกโจทก์หลอกลวงแต่อย่างใด นางทองน้อมเบิกความด้วยว่าในวันจดทะเบียนเห็นโจทก์ส่งมอบเงินสดให้แก่นางบัวริม โดยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ความจริงโจทก์มอบเงินค่าขายฝากให้แก่ตนเอง แต่นางบัวริมขอเอาเงินไปก่อนเพื่อใช้หนี้รายอื่น ซึ่งเจือสมกับที่โจทก์เบิกความว่า โจทก์ได้มอบเงินค่าขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่นางทองน้อมเป็นเงิน 550,000 บาท และการที่นางทองน้อม เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในครั้งแรกที่ไม่สามารถทำสัญญาขายฝากได้ โจทก์บอกให้นางบัวริมไปนำตัวจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมาทำสัญญาขายฝาก มิฉะนั้นจะไม่ทำสัญญา แต่นางบัวริมบอกว่าพี่สาวป่วยอยู่กรุงเทพมหานคร มาไม่ได้ คำเบิกความของนางทองน้อมดังกล่าวเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์ที่ว่า เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินบอกว่าทำสัญญาขายฝากเจ้าของที่ดินจะต้องมาด้วยตนเอง โจทก์จึงบอกให้นางทองน้อมไปตามเจ้าของที่ดินมา เป็นการแสดงให้เห็นว่าเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไม่ทำนิติกรรมตามหนังสือมอบอำนาจให้ โจทก์ได้แสดงความสุจริตโดยการแสดงเจตนาให้พาจำเลยมาทำนิติกรรมด้วยตนเอง โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการปลอมหนังสือมอบอำนาจ และการที่จำเลยไม่ได้มาทำนิติกรรมด้วยตนเองแต่โจทก์ยังยินยอมทำนิติกรรมขายฝากนั้นก็เป็นเพราะหลงเชื่อว่าจำเลยป่วยจริง ตามข้อความที่เขียนรับรองด้านหลังในหนังสือมอบอำนาจที่ระบุว่านายแพทย์ศักดิ์ชัย ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ขอรับรองว่าจำเลยป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริต การขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างนางทองน้อมกับโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์ เมื่อนางทองน้อมไม่ไถ่ที่ดินคืนภายในกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท
พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 21225 ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาท กับต่อไปอีกเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันที่ 8 มกราคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ