คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9089/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และวรรคสอง บัญญัติให้พนักงานอัยการแจ้งให้เลขาธิการทราบว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์พอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนตกเป็นของแผ่นดินได้ ส่วนมาตรา 49 วรรคสาม บัญญัติว่าเมื่อเลขาธิการดำเนินการตามวรรคสองแล้ว ให้ส่งเรื่องเพิ่มเติมให้พนักงานอัยการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง หากพนักงานอัยการยังเห็นว่าไม่มีเหตุผลพอที่จะยื่นคำร้องต่อศาล ให้พนักงานอัยการรีบแจ้งให้เลขาธิการทราบเพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเป็นประการใด ให้พนักงานอัยการและเลขาธิการปฏิบัติตาม ประกอบกับเหตุผลในการประกาศใช้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 คือ “เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบอาชญากรรมซึ่งกระทำความผิดกฎหมายบางประเภทได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมากระทำการในรูปแบบต่างๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปอีก ทำให้ยากแก่การปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเหล่านั้นและโดยที่กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถปราบปรามการฟอกเงินหรือดำเนินการกับเงินหรือทรัพย์สินนั้นได้เท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมดังกล่าว สมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” แสดงให้เห็นว่าเพียงแต่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินก็มีอำนาจส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินแล้ว และหากพนักงานอัยการเห็นว่าเรื่องดังกล่าวสมบูรณ์พอ พนักงานอัยการก็มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติว่า ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจะต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่มีคำพิพากษาว่ามีผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษเท่านั้น เพียงแต่หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่หากมีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาล และพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินทั้ง 23 รายการ มูลค่ารวม 1,123,356.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยเงินฝากของทรัพย์สินรายการที่ 20 และ 21 ที่เกิดมีขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสองคัดค้านขอให้คืนทรัพย์สินทั้งหมดแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง
ระหว่างไต่สวน ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่ความตาย เด็กหญิงณัฐกานต์ทายาทโดยผู้คัดค้านที่ 2 ผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 23 รายการ พร้อมดอกเบี้ยเงินฝากของทรัพย์สินรายการที่ 20 และ 21 เว้นแต่บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เลขที่ 186 – 1 – 06639 – 3 ซึ่งไม่มีเงินในบัญชี ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้คัดค้านทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 23 รายการ ตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า การดำเนินการของคณะกรรมการธุรกรรมเป็นไปตามขั้นตอนและตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่มุ่งเน้นถึงตัวทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ไม่ได้มุ่งเน้นถึงผู้กระทำความผิด ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และวรรคสอง บัญญัติให้พนักงานอัยการแจ้งให้เลขาธิการทราบว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์พอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนตกเป็นของแผ่นดินได้ ส่วนมาตรา 49 วรรคสาม บัญญัติว่าเมื่อเลขาธิการดำเนินการตามวรรคสองแล้ว ให้ส่งเรื่องเพิ่มเติมให้พนักงานอัยการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง หากพนักงานอัยการยังเห็นว่าไม่มีเหตุผลพอที่จะยื่นคำร้องต่อศาล ให้พนักงานอัยการรีบแจ้งให้เลขาธิการทราบเพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเป็นประการใด ให้พนักงานอัยการและเลขาธิการปฏิบัติตาม ประกอบกับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 คือ “เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบอาชญากรรมซึ่งกระทำความผิดกฎหมายบางประเภทได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมากระทำการในรูปแบบต่างๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปอีก ทำให้ยากแก่การปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเหล่านั้นและโดยที่กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถปราบปรามการฟอกเงินหรือดำเนินการกับเงินหรือทรัพย์สินนั้นได้เท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมดังกล่าว สมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” แสดงให้เห็นว่าเพียงแต่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินก็มีอำนาจส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินั้นตกเป็นของแผ่นดินแล้ว และหากพนักงานอัยการเห็นว่าเรื่องดังกล่าวสมบูรณ์พอ พนักงานอัยการก็มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติว่า ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจะต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่มีคำพิพากษาว่ามีผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษเท่านั้น เพียงแต่หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่หากมีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาล และพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ เมื่อปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจภูธรภาค 7 และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไปค้นบ้านของผู้คัดค้านที่ 1 ตามหมายค้นของศาล เนื่องจากสืบทราบว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ร่วมขบวนการผลิตและจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) และยึดทรัพย์สินได้ 23 รายการ ซึ่งเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบแล้ว เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีอาชีพประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันและซื้อขายรถยนต์มือสองมีรายได้สูงกว่าปกติ ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นภริยาของผู้คัดค้านที่ 1 แต่ไม่ได้ประกอบอาชีพใด ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรของนายสมศักดิ์ ซึ่งมีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) อันเป็นความผิดมูลฐาน อีกทั้งนายอุดม และนางสำลี ลุงและป้าของผู้คัดค้านที่ 1 ก็ถูกจับกุมดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติดหลายหน และนางสาวอัญชลี น้องสาวของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ประกันตัวนายอุดม คณะกรรมการธุรกรรมตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เห็นว่า ทรัพย์สินทั้ง 23 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือรับโอนมาโดยไม่สุจริต และผู้ร้องเห็นว่า มีเหตุเพียงพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน จึงยื่นคำร้องเป็นคดีนี้การดำเนินการของคณะกรรมการธุรกรรมจึงชอบตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้ว ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 23 รายการ ตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาคณะคดีปกครอง ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้ฟังขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ คืนค่าธรรมเนียมใช้แทนแก่ผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share