แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในชั้นร้องขัดทรัพย์ การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาโอนทรัพย์สินให้ผู้อื่นโดยไม่สุจริตเป็นเหตุให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ นั้น เป็นการพิจารณาชั้นบังคับคดี เจตนารมย์ของการบังคับคดี ยอมให้ว่ากล่าวกัน ได้ภายหลังการยึดทรัพย์แล้ว ศาลจึงมีอำนาจชี้ขาดตามความในมาตรา 237 ได้ โดยมิพักต้องให้เจ้าหนี้ไป ฟ้องดำเนินคดี ฟ้องร้องขอให้ทำลายการโอนหรือเพิกถอนการฉ้อฉลเสียก่อน แต่ประการใด (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 18/2503)
ย่อยาว
คดี ๒ สำนวนนี้ จำเลยแพ้คดีโจทก์ นำยึดเรือนทรงปั้นหยา ๑ หลัง เรือนทรงไทย ๒ ห้องแฝดพร้อมทั้งครัวกับโรงเก็บของและเครื่องสีข้าว ๑ หลัง นางช้อง โจทก์นำยึดฉางข้าว ๑ หลัง
ร้อยโทปลื้ม ผู้ร้อง ร้องขัดทรัพย์ว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดทั้ง ๒ สำนวน เป็นของผู้ร้องโดยซื้อไว้จากจำเลยที่ ๑, ๒ โดยสุจริต ขอให้ถอนการยึด
โจทก์ทั้ง ๒ สำนวน ต่อสู้ว่า ทรัพย์ดังกล่าว เป็นของจำเลย สัญญาขายทรัพย์ระหว่างจำเลยกับผู้ร้องไม่สุจริต แต่ได้กระทำโดยการสมยอม และเป็นการทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ เสียเปรียบ การซื้อขายรายนี้ตกเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาแล้วสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องขัดทรัพย์
ผู้ร้องขัดทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้แม้ผู้ร้องขัดทรัพย์จะได้ทำนิติกรรมและจดทะเบียนการซื้อขายทรัพย์รายพิพาทนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนโจทก์ฟ้องก็ดี แต่ปรากฏชัดว่า ฝ่ายจำเลยทราบอยู่แล้วว่า การโอนเช่นนี้เป็นเหตุให้เจ้าหนี้อื่น ๆ เสียบเปรียบ อันเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้อาจ นิติกรรมการโอนรายนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๓๗ ส่วนที่ว่าโจทก์จะต้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนย้อนหลัง ไปถึงวันที่โจทก์ยึดทรัพย์รายนี้อันแสดงว่า ได้ยึดไว้โดยชอบได้หรือไม่ หรือจะต้องให้โจทก์ไปดำเนินคดีขอเพิกถอนการโอนนี้เป็นคดีขึ้นใหม่ ไม่ใช่ในเรื่องร้องขัดทรัพย์นี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องชั้นบังคับคดี เจตนารมย์ของการบังคับคดียอมให้ว่ากล่าวกันได้ภายหลัง การยึดทรัพย์แล้ว ศาลมีอำนาจชี้ขาดตามความในมาตรา ๒๓๗ ได้ โดย โดยมิพักต้องให้เจ้าหนี้ไป ฟ้องดำเนินคดี ฟ้องร้องขอให้ทำลายการโอนหรือเพิกถอนการฉ้อฉลเสียก่อน แต่ประการใด
พิพากษายืน