คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วไม่ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษตามที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว เพราะยังไม่ได้รับประกาศภัยพิบัติจากจังหวัดนครสวรรค์ อันไม่เข้าเงื่อนไขการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 17 (2) ต้องการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีสอบราคาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 14 ตามที่จำเลยที่ 2 เสนอต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งจะมีผลให้ใช้เวลาในการซื้อหรือการจ้างนานขึ้น จำเลยที่ 1 จึงไม่เห็นชอบให้ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีสอบราคาตามที่จำเลยที่ 2 โต้แย้ง กลับสั่งการให้ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 13 เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้มีอำนาจอนุมัติการซื้อการจ้างนั้นได้ทันที ทำให้ต้องแบ่งการซื้อผ้าห่มนวมออกเป็นสองครั้ง ครั้งละ 500 ผืน เป็นเงินครั้งละ 100,000 บาท เท่ากับจำเลยที่ 1 จงใจกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 16 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว แต่พยานหลักฐานของโจทก์กลับไม่ปรากฏว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอย่างใด จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อย่างไรก็ดี การกระทำของจำเลยที่ 1 จงใจฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ดังกล่าวย่อมมีผลกระทบกระเทือนและก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 อยู่ดี ส่วนการทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายและเอกสารประกอบครั้งที่ 2 เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์อ้างก็ตาม การทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายครั้งที่ 2 ก็เป็นเพียงการทำไว้ล่วงหน้าอันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการจัดทำฎีกาเบิกเงินโดยทั่วไปเท่านั้น เมื่อมีการเบิกจ่ายเงินกันจริงหาได้ไม่มีการเบิกจ่ายเงินกันตามนั้นอันเป็นความเท็จไม่ ดังนั้น แม้อาจเป็นไปเพื่อให้เป็นหลักฐานอ้างอิงว่ามีการจัดซื้อผ้าห่มนวมตามวันเวลาเกิดเหตุซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงไปบ้างก็หาได้เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) ไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 เท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นั้นเป็นเจ้าพนักงานและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา แม้มีการแบ่งการซื้อหรือการจ้างออกเป็นสองครั้ง แต่การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาในแต่ละครั้งก็เป็นไปโดยชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 13 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องถือปฏิบัติตาม ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าการแบ่งการซื้อหรือการจ้างออกเป็นสองครั้งดังกล่าวเกิดจากจำเลยอื่นเป็นผู้เสนอต่อจำเลยที่ 1 แต่กลับปรากฏตามเอกสารหมาย จ.41 ว่าเป็นการสั่งการของจำเลยที่ 1 เอง โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นการขาดเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและไม่เป็นความผิดตามฟ้อง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์เองรับฟังได้ว่าทางจังหวัดนครสวรรค์ประกาศให้พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติหนาวในวันที่ 14 มกราคม 2552 อันเข้าเงื่อนไขที่จะดำเนินการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วได้ แต่ก็เป็นวันเดียวกับที่ได้ดำเนินการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาไปแล้ว อันแสดงว่ามีภัยพิบัติภัยหนาวเกิดขึ้นที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจริงการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วนเป็นสำคัญ แม้เป็นการผิดกฎหมาย แต่ก็มีเหตุสมควรที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 แต่เพียงสถานเบา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 และ 162
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบและไม่ได้โต้แย้งกันว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วมีการประชุมสมัยวิสามัญ สมัยที่ 1/2552 ครั้งที่ 3 จำเลยที่ 1 ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว เสนอขอใช้เงินสะสมเพื่อจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวแจกจ่ายตามจำนวนประชากรแต่ละหมู่บ้าน จำนวน 1,000 ผืน ราคาผืนละ 200 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท ดำเนินการจัดหาโดยวิธีพิเศษ ที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วให้ความเห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสม จำนวน 200,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 1 เสนอ ตามรายงานการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วสมัยวิสามัญ สมัยที่ 1/2552 ครั้งที่ 3 ในวันนั้นเอง จำเลยที่ 2 ในฐานะปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว ทำบันทึกข้อความถึงจำเลยที่ 1 เรื่องการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวโดยใช้เงินจ่ายขาดเงินสะสมประจำปี 2552 ได้ให้ความเห็นว่า การจัดซื้อโดยวิธีพิเศษไม่น่าจะดำเนินการจัดซื้อได้ เนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วยังไม่ได้รับประกาศภัยพิบัติจากจังหวัดนครสวรรค์ ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0406.3/ว 130 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน 5.1.18 และเสนอว่าเห็นควรใช้วิธีสอบราคาเหมาะสมกว่าวิธีพิเศษตามที่จำเลยที่ 1 สั่งการมาด้วยวาจา หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันทำรายงานขอซื้อผ้าห่มนวม ขนาด 70 นิ้ว x 80 นิ้ว จำนวน 500 ผืน ผืนละ 200 บาท เป็นเงิน 100,000 บาท โดยวิธีตกลงราคา เสนอให้จำเลยที่ 1 พิจารณาสั่งการ จำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นชอบ ตามรายงานขอซื้อโดยวิธีตกลงราคาขององค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว ลงวันที่ 13 มกราคม 2552 และจำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุตามโครงการจัดซื้อผ้าห่มนวม ขนาด 70 นิ้ว x 80 นิ้ว จำนวน 500 ผืน ผืนละ 200 บาท เป็นเงิน 100,000 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการ กับผู้มีชื่ออีกสองคนเป็นกรรมการ ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วที่ 10/2552 ลงวันที่ 13 มกราคม 2552 ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2552 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วมีการประชุมสมัยวิสามัญ สมัยที่ 1/2552 ครั้งที่ 4 จำเลยที่ 1 เสนอเปลี่ยนแปลงเป็นว่า ฝ่ายบริหารจะดำเนินการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวเองช่วงแรกก่อน จำนวน 500 ผืน ผืนละ 200 บาท เป็นเงิน 100,000 บาท โดยวิธีตกลงราคาและจัดสรรให้ตามจำนวนประชากรในแต่ละหมู่บ้าน หากไม่เพียงพอก็จะดำเนินการจัดซื้ออีกครั้งหนึ่งต่อไป และที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วรับทราบ ตามรายงานการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วสมัยวิสามัญ สมัยที่ 1/2552 ครั้งที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อความ ลงวันที่ 14 มกราคม 2552 ถึงจำเลยที่ 1 เรื่องการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวโดยใช้เงินจ่ายขาดเงินสะสมประจำปี 2552 ขอให้พิจารณาสั่งการ จำเลยที่ 1 สั่งการว่าเห็นควรใช้วิธีตกลงราคาในวงเงิน 100,000 บาท วันที่ 16 มกราคม 2552 มีการดำเนินการตรวจรับพัสดุและเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายผ้าห่มนวม จำนวน 500 ผืน เป็นเงิน 100,000 บาท แก่นายสมหมาย ผู้ขาย โดยมีจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน จำเลยที่ 3 ในฐานะหัวหน้าส่วนการคลัง จำเลยที่ 5 ในฐานะเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ร่วมกันจัดทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายและเอกสารประกอบเสนอให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติเบิกจ่าย มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 1,000 บาท แล้วออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 0070798 ลงวันที่ 16 มกราคม 2552 จ่ายเงินจำนวน 99,000 บาท แก่นายสมหมาย และมีการนำเช็คฉบับที่ 1 นี้ไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแล้วในวันที่ 21 มกราคม 2552 ส่วนการจัดซื้อครั้งที่ 2 ที่มีการกล่าวหาคดีนี้นั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันทำรายงานขอซื้อผ้าห่มนวม ขนาด 70 นิ้ว x 80 นิ้ว จำนวน 500 ผืน ผืนละ 200 บาท เป็นเงิน 100,000 บาท โดยวิธีตกลงราคา เสนอให้จำเลยที่ 1 พิจารณาสั่งการ และจำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นชอบ ตามรายงานขอซื้อโดยวิธีตกลงราคาขององค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว ลงวันที่ 19 มกราคม 2552 มีการทำใบสั่งซื้อโดยจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งซื้อ ถึงนายสมหมาย ระบุให้ส่งมอบแก่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วภายในวันที่ 23 มกราคม 2552 ตามใบสั่งซื้อ ลงวันที่ 20 มกราคม 2552 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุตามโครงการจัดซื้อผ้าห่มนวม ขนาด 70 นิ้ว x 80 นิ้ว จำนวน 500 ผืน ผืนละ 200 บาท เป็นเงิน 100,000 บาท มีจำเลยที่ 3 เป็นประธานกรรมการ กับผู้มีชื่ออีกสองคนเป็นกรรมการ ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วที่ 16/2552 ลงวันที่ 20 มกราคม 2552 วันที่ 23 มกราคม 2552 คณะกรรมการตรวจรับพัสดุทำใบตรวจรับพัสดุ มีจำเลยที่ 4 ทำเรื่องเสนอจำเลยที่ 1 พิจารณาอนุมัติ วันที่ 26 มกราคม 2552 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันจัดทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายและเอกสารประกอบเสนอให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติเบิกจ่าย มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 1,000 บาท แล้วออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 0075569 ลงวันที่ 26 มกราคม 2552 จ่ายเงินจำนวน 99,000 บาท แก่นายสมหมาย และมีการนำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแล้วในวันที่ 29 มกราคม 2552 สำหรับราคาผ้าห่มนวมคดีนี้มีราคาต่ำกว่าราคากลางของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่กำหนดคุณลักษณะเฉพาะและราคากลางผืนละไม่เกิน 240 บาท ตามประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรื่องรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะและกำหนดราคากลางสิ่งของสำรองจ่าย พ.ศ.2551 อันเป็นผลมาจากการสั่งซื้อจากนายสมหมายซึ่งเป็นผู้ผลิตโดยตรงและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการไปรับผ้าห่มนวมจากนายสมหมายเอง โดยจำเลยที่ 1 กับพวกของตนใช้รถยนต์ไปบรรทุกผ้าห่มนวม จำนวน 6 คัน เดินทางไปรับผ้าห่มนวมที่บ้านของนายสมหมาย และนำเอกสารที่จัดเตรียมไว้ข้างต้นไปให้นายสมหมายลงลายมือชื่อพร้อมรับค่าผ้าห่มนวมดังกล่าว และจำเลยที่ 1 กับพวกของตนดำเนินการแจกจ่ายผ้าห่มนวมแก่ประชาชนตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2552 เป็นต้นมาจนครบถ้วนแล้ว ตามรายชื่อผู้สมควรได้รับเครื่องกันหนาว ทั้งนี้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 กำหนดว่า “…ข้อ 13 การซื้อหรือการจ้าง โดยวิธีตกลงราคา ได้แก่ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีราคาไม่เกิน 100,000 บาท
ข้อ 14 การซื้อหรือการจ้าง โดยวิธีสอบราคา ได้แก่ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท
……………………………………………………………………………………………………………………
ข้อ 16 การซื้อหรือการจ้างตามข้อ 13 และข้อ 14 ถ้าผู้ซื้อหรือผู้สั่งจ้างเห็นสมควรจะสั่งให้กระทำโดยวิธีที่กำหนดไว้สำหรับวงเงินที่สูงกว่าก็ได้
การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยวิธีลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกันเพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เพื่อให้อำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนไปจะกระทำมิได้
……………………………………………………………………………………………………………………
ข้อ 17 การซื้อโดยวิธีพิเศษ ได้แก่ การซื้อครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท ให้กระทำได้เฉพาะกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
……………………………………………………………………………………………………………………
(2) เป็นพัสดุที่ต้องซื้อเร่งด่วน หากล่าช้าจะเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบล
……………………………………………………………………………………………………………………”
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายยุทธพงษ์ ผู้ทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหาจำเลยที่ 1 คดีนี้ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และเคยสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วแข่งกับจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถามค้านยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ดำเนินการแจกผ้าห่มนวมที่จัดซื้อแก่ประชาชนในพื้นที่จริง พยานไม่ได้ร้องเรียนจำเลยที่ 1 กับพวกว่ามีการทุจริตในการซื้อหรือการจ้างดังกล่าว เพียงแต่ขอให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตรวจสอบขั้นตอนการซื้อหรือการจ้างเท่านั้น พยานโจทก์อีกปากหนึ่งคือนายสุกฤษฎิ์ เจ้าพนักงานปราบปรามการทุจริตชำนาญการของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานไต่สวนคดีนี้ ตามคำสั่งคณะกรรมการ ปปช. ที่ 417/2553 เบิกความตอบโจทก์ถามได้ความแต่เพียงว่า ทางสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วมีมติให้จัดซื้อผ้าห่มนวม จำนวน 1,000 ผืน เป็นเงิน 200,000 บาท ต้องมีการซื้อหรือการจ้างครั้งเดียวและใช้วิธีสอบราคาเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 กับพวกจัดซื้อผ้าห่มนวมคดีนี้ด้วยวิธีการตกลงราคา โดยแบ่งการซื้อหรือการจ้างเป็นสองครั้ง เป็นเงินครั้งละ 100,000 บาท เพื่อให้วงเงินอยู่ภายในอำนาจของจำเลยที่ 1 ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 13 อันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อ 16 วรรคสอง ที่กำหนดว่า “การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยวิธีลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกันเพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เพื่อให้อำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างปลี่ยนไปจะกระทำมิได้” จำเลยที่ 1 จัดซื้อผ้าห่มนวมคดีนี้ด้วยวิธีการตกลงราคากับนายสมหมายซึ่งมีบ้านอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยจัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับการซื้อที่จัดทำเป็นสองชุด ไปให้นายสมหมายลงลายมือชื่อพร้อมรับเช็คชำระค่าผ้าห่มนวมที่บ้านของนายสมหมายในวันที่ 16 มกราคม 2552 และจำเลยที่ 1 กับพวกรับมอบผ้าห่มนวม จำนวน 1,000 ผืน ในวันเดียวกัน แล้วมีการนำไปแจกจ่ายประชาชนในวันที่ 17 มกราคม 2552 ตามที่ได้ประกาศไปแล้ว และการซื้อหรือการจ้างครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 มกราคม 2552 ไม่ตรงกับความเป็นจริงเพราะไม่มีการซื้อหรือการจ้างในวันนั้นแต่อย่างใด แต่รวมอยู่ในการซื้อหรือการจ้างผ้าห่มนวมครั้งแรก จำนวน 1,000 ผืน เป็นเงิน 200,000 บาท ไปแล้ว ฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณพร้อมเอกสารประกอบครั้งที่ 2 เป็นการทำขึ้นเพื่อแบ่งการซื้อหรือการจ้างให้อยู่ในอำนาจของจำเลยที่ 1 ในการอนุมัติเท่านั้น เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วไม่ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษตามที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วเพราะยังไม่ได้รับประกาศภัยพิบัติจากจังหวัดนครสวรรค์ อันไม่เข้าเงื่อนไขการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 17 (2) ต้องใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีสอบราคาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 14 ตามที่จำเลยที่ 2 เสนอต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งจะมีผลให้ใช้เวลาในการซื้อหรือการจ้างนานขึ้น จำเลยที่ 1 จึงไม่เห็นชอบให้ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีสอบราคาตามที่จำเลยที่ 2 โต้แย้ง กลับสั่งการให้ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 13 เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้มีอำนาจอนุมัติการซื้อหรือการจ้างนั้นได้ทันที ทำให้ต้องแบ่งการซื้อผ้าห่มนวมออกเป็นสองครั้ง ครั้งละ 500 ผืน เป็นเงินครั้งละ 100,000 บาท เท่ากับจำเลยที่ 1 จงใจกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 16 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว แต่พยานหลักฐานของโจทก์กลับไม่ปรากฏว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอย่างใด จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อย่างไรก็ดี การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่จงใจฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ดังกล่าวย่อมมีผลกระทบกระเทือนและก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อยู่ดี ส่วนการทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายและเอกสารประกอบครั้งที่ 2 เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์อ้างก็ตาม การทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายครั้งที่ 2 ก็เป็นเพียงการทำไว้ล่วงหน้าอันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการจัดทำฎีกาเบิกเงินโดยทั่วไปเท่านั้น เมื่อมีการเบิกจ่ายเงินกันจริงหาได้ไม่มีการเบิกจ่ายเงินกันตามนั้นอันเป็นความเท็จไม่ ดังนั้น แม้อาจเป็นไปเพื่อให้เป็นหลักฐานอ้างอิงว่ามีการจัดซื้อผ้าห่มนวมตามวันเวลาเกิดเหตุ ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงไปบ้างก็หาได้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) ไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นั้นเป็นเจ้าพนักงานและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา แม้มีการแบ่งการซื้อหรือการจ้างออกเป็นสองครั้ง แต่การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาในแต่ละครั้ง ก็เป็นไปโดยชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 13 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องถือปฏิบัติตาม ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าการแบ่งการซื้อหรือการจ้างออกเป็นสองครั้งดังกล่าวเกิดจากจำเลยอื่นเป็นผู้เสนอต่อจำเลยที่ 1 แต่กลับปรากฏว่าเป็นการสั่งการของจำเลยที่ 1 เอง โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นการขาดเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในส่วนที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์เองรับฟังได้ว่า ทางจังหวัดนครสวรรค์ประกาศให้พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยหนาวในวันที่ 14 มกราคม 2552 อันเข้าเงื่อนไขที่จะดำเนินการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วได้ แต่ก็เป็นวันเดียวกับที่ได้ดำเนินการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาไปแล้ว อันแสดงว่ามีภัยพิบัติภัยหนาวเกิดขึ้นที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจริง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วนเป็นสำคัญ แม้เป็นการผิดกฎหมาย แต่ก็มีเหตุสมควรที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 แต่เพียงสถานเบา
อนึ่ง ระหว่างพิจารณา มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 157 เดิมที่มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 20,000 บาท แก้ไขใหม่เป็นตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท กฎหมายที่แก้ไขใหม่ส่วนนี้ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด จึงต้องใช้ตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด อันเป็นส่วนที่เป็นคุณ และมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 มาตรา 3 และ 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 และมาตรา 30 ซึ่งมีส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด จึงต้องใช้ตามกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด อันเป็นส่วนที่เป็นคุณ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ลงโทษปรับ 10,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ที่แก้ไขใหม่), 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share