คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1150/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความหมายแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 307 ให้ใช้รายได้ 1 ปี มาชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามคำพิพากษามิใช่ให้ผ่อนชำระเป็นรายปีแล้วแต่ลูกหนี้จะผ่อนชำระได้ จำเลยที่ 2 มิได้มีรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกยึดจึงไม่อาจตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทรัพย์แทนการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้นำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด จำเลยทั้งสองไม่ชำระ จึงถูกบังคับยึดทรัพย์จำนองคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)และห้องแถวไม้ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินออกขายทอดตลาด
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมพาณิชยกรรม มีรายได้ประจำปีจากอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบกิจการดังกล่าวเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาขอให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทรัพย์แทนการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆในทรัพย์ถูกยึดและไม่มีความสามารถที่จะจัดการทรัพย์สินขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยว่า ความหมายแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 307 ให้ใช้รายได้ 1 ปีมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้ครบถ้วนหาใช่ให้ผ่อนชำระเป็นรายปีแล้วแต่ลูกหนี้จะสามารถผ่อนชำระได้นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะกรณีตามมาตรานี้ไม่บังคับให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ทั้งหมดแก่เจ้าหนี้ภายในกำหนด 1 ปีนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 บัญญัติว่า”ถ้ารายได้ประจำปีจากอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบอุตสาหกรรมพาณิชยกรรมหรือกสิกรรมของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอ ศาลอาจมีคำสั่งตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบกิจการเหล่านั้นได้ และบังคับให้มอบเงินรายได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาและกำหนดตามที่ศาลเห็นสมควรแทนการสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา” เห็นว่า มาตรานี้ว่าด้วยวิธีการอย่างอื่นแทนการขายทอดตลาด เป็นบทบัญญัติคุ้มครองผลประโยชน์และส่วนได้เสียของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี ซึ่งทำให้อาจปลดเปลื้องหนี้สินตามคำพิพากษาได้ โดยไม่ต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้และจะไม่เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหากรายได้จากอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบกิจการของลูกหนี้เมื่อคำนวณประจำปีแล้วอาจเพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ซึ่งเมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอศาลอาจมีคำสั่งตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบกิจการเหล่านั้น และบังคับให้มอบรายได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาและกำหนดตามที่ศาลเห็นสมควรแทนการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่วนบทบัญญัติที่ว่า ให้มอบรายได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาและกำหนดตามที่ศาลเห็นสมควรนั้นมีความหมายว่า เมื่อคำนวณรายได้ประจำปีของลูกหนี้ใน 1 ปีแล้วมีจำนวนเพียงพอชำระหนี้ได้ ศาลก็อาจสั่งให้มอบเงินรายได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนใน 1 ปีนั้นให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตามเวลาและวิธีการที่ศาลกำหนดเท่านั้นหาใช่ให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นรายปีตามความพอใจของตนเองได้ไม่ เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มิใช่เรื่องลูกหนี้ขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบกิจการเพื่อยอมความกับเจ้าหนี้ แต่เป็นเรื่องที่ศาลจะใช้ดุลพินิจคุ้มครองผลประโยชน์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้มิให้เกิดความเสียหายในชั้นบังคับคดีในกรณีที่ลูกหนี้ยังสามารถชำระหนี้ได้โดยมีรายได้ประจำปีจากอสังหาริมทรัพย์ หรือการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกสิกรรม และวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ามีรายได้ประจำปีจำนวนเพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้คงเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2มีรายได้ประจำปีจากอสังหาริมทรัพย์ หรือการประกอบอุตสาหกรรมพาณิชยกรรม เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share