แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ แล้ว ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ย่อมอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้หากการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่เป็นการเพิ่มเติมสาระสำคัญของการประดิษฐ์ โดยขอก่อนวันประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร และหากการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้กระทำหลังจากมีการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์แล้ว ย่อมอาจขออนุญาตต่ออธิบดีในการแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้นได้ ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2522) ข้อ 22 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอที่อ้างว่าเป็นคำขอแก้ไขเพิ่มเติม และหากอธิบดีไม่อนุญาต คำสั่งของอธิบดีย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้น และผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ย่อมนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 คดีนี้โจทก์อ้างว่าได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ไว้ แต่โจทก์ไม่นำคดีมาฟ้องต่อศาลกลับเลือกดำเนินการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ฉบับใหม่ ซึ่งมีข้อถือสิทธิที่แตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากตามคำขอรับสิทธิบัตรฉบับเดิม โจทก์ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์โดยขอถือสิทธิในกรรมวิธีสำหรับเตรียมเกลือเบสซิลเลทของแอมโลไดปีน ส่วนคำขอรับสิทธิบัตรฉบับใหม่ เป็นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ที่ขอถือสิทธิในผลิตภัณฑ์เกลือเบสซิลเลทของแอมโลไดปีน กระบวนการในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรฉบับใหม่จึงต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ทั้งหมด
บทบัญญัติข้อ 70 (7) ของความตกลงทริปส์เพียงแต่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องอนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แล้วแต่ยังไม่ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์สามารถแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่มีหน้าที่อนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรเพื่อขอรับความคุ้มครองในการประดิษฐ์ใหม่ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แต่เดิม แม้การประดิษฐ์ใหม่นั้นจะได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติใดๆ ของความตกลงทริปส์ก็ตาม ดังนั้น ไม่ว่าประเทศไทยจะมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามความตกลงทริปส์นับแต่เมื่อใดก็ตาม การที่ พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 20 ไม่อนุญาตให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรในสาระสำคัญและมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ 2)ฯ ไม่ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรสามารถแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรในสาระสำคัญ พระราชบัญญัติสิทธิบัตรทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงหาได้มีข้อความใดขัดหรือแย้งกับความตกลงทริปส์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรและพิพากษาว่าคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 044077 ของโจทก์ เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมและเป็นส่วนหนึ่งของคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 005385 ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5, 6, 7 และ 8 และให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรตามคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 044077 เป็นส่วนหนึ่งของข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 8082
จำเลยทั้งสิบสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เคยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2530 เป็นคำขอเลขที่ 005386 ขณะยื่นคำขอรับสิทธิบัตร พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไม่ได้ให้ความคุ้มครองยาหรือส่วนผสมของยา ต่อมามีการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ทำให้สามารถขอรับสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ยาได้ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรใหม่เพื่อการคุ้มครองตัวผลิตภัณฑ์ยาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 เป็นคำขอเลขที่ 044077 อันเป็นการเพิ่มเติมก่อนที่จะมีการออกสิทธิบัตรเลขที่ 8082 ซึ่งออกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2541 ปรากฏว่าอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายกคำขอโดยอ้างว่าไม่ใช่การประดิษฐ์ใหม่เพราะเป็นการประดิษฐ์เหมือนกับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 8082 ที่ได้รับสิทธิบัตรแล้ว โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร แต่คณะกรรมการสิทธิบัตรมีคำวินิจฉัยให้ยืนตามคำสั่งของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 044077 เป็นการขอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมและถือเป็นส่วนหนึ่งของคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 055386 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรซึ่งมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 แล้ว ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ย่อมอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้ หากการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่เป็นการเพิ่มเติมสาระสำคัญของการประดิษฐ์ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวงที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์อ้างว่าได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2535 คือ กฎกระทรวง (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ในข้อ 22 ของกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรโดยไม่เป็นการเพิ่มเติมสาระสำคัญของการประดิษฐ์ ให้ขอก่อนวันประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี ดังนั้น หากโจทก์ในฐานะผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตามคำขอเลขที่ 005386 ประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าว โจทก์ย่อมสามารถดำเนินการตามข้อ 22 ของกฎกระทรวงดังกล่าวได้ และหากการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้กระทำหลังจากมีการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์แล้วโจทก์ย่อมอาจขออนุญาตต่ออธิบดีในการแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้นได้ แม้ว่าพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 และกฎกระทรวง (พ.ศ.2522) จะไม่ได้บัญญัติหรือกำหนดให้สิทธิแก่ผู้ขอรับสิทธิบัตรในการโต้แย้งคำสั่งของอธิบดี ในกรณีที่ปฏิเสธไม่ให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ไว้ก็ตาม แต่หากผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เห็นว่าคำสั่งไม่อนุญาตของอธิบดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งของอธิบดีย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิบัตรผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้น และผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ย่อมนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ในคดีนี้โจทก์อ้างว่าได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2535 แต่ก็ไม่ปรากฏว่าคำขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลใด กรณีหาใช่ว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องยื่นคำขอรับสิทธิบัตรฉบับใหม่เป็นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 044077 เพื่อให้กระบวนการเยียวยาของฝ่ายบริหารถึงที่สุดดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ เพราะหากโจทก์ได้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอธิบดีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นคำขอดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมต้องถือว่าโจทก์ได้ดำเนินการในกระบวนการเยียวยาของฝ่ายบริหารจนถึงที่สุดแล้ว เมื่อโจทก์ไม่นำคดีมาฟ้องต่อศาล แต่เลือกดำเนินการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ฉบับใหม่ ซึ่งมีข้อถือสิทธิที่แตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากตามคำขอรับสิทธิบัตรฉบับเดิมเลขที่ 005386 โจทก์ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ โดยขอถือสิทธิในกรรมวิธีสำหรับเตรียมเกลือเบสซิลเลทของแอมโลไดปีน ส่วนคำขอรับสิทธิบัตรฉบับใหม่เลขที่ 044077 เป็นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ขอถือสิทธิในผลิตภัณฑ์เกลือเบสซิลเลทของแอมโลไดปีน โจทก์จึงต้องทราบดีว่าเมื่อโจทก์ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ฉบับใหม่ กระบวนการในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรจึงต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ทั้งหมด ที่โจทก์อ้างว่าการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตามคำขอเลขที่ 044077 เป็นการขอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 005386 นั้น เป็นข้อกล่าวอ้างตามความเข้าใจของโจทก์ฝ่ายเดียว และปราศจากเหตุผลที่จะให้ศาลตีความการแสดงเจตนาของโจทก์ประสงค์จะยื่นคำขอรับสิทธิบัตรฉบับใหม่เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรฉบับเดิม ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า รวมทั้งการค้าปลอมแปลงหรือความตกลงทริปส์ ข้อ 70 (7) นั้น ประเทศสมาชิกมีหน้าที่ต้องอนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรแก้ไขคำขอรับสิทธิบัตรให้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองใดๆ ที่มีตามความตกลงนี้ เมื่อบทบัญญัติมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 บัญญัติให้ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้ก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับและอธิบดียังไม่มีมีคำสั่งตามที่กฎหมายกำหนดยื่นคำขอตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ด้วย การตีความบทบัญญัติมาตรา 39 จึงต้องตีความให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามความตกลงทริปส์ด้วยนั้น เห็นว่า บทบัญญัติข้อ 70 (7) ของความตกลงทริปส์กำหนดว่า “In the case of intellectual property rights for which protection is conditional upon registration, applications for protection which are pending on the date of application of this Agreement for the Member in question shall be permitted to be amended to claim any enhanced protection provided under the provisions of this Agreement. Such amendments shall not include new matter.” แม้นายวุฒิพงษ์ เวชยานนท์ พยานโจทก์จะเบิกความยืนยันว่า ตามข้อ 70 (7) ของความตกลงทริปส์ดังกล่าว ประเทศสมาชิกมีหน้าที่ต้องอนุญาตให้แก้ไขคำขอรับสิทธิบัตรให้ครอบคลุมถึงความคุ้มครองใดๆ ที่มีตามความตกลงดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติข้อ 70 (7) ของความตกลงทริปส์ตามเอกสารหมาย จ.7 ประกอบกับคำแปลกรรมสารสุดท้ายผลการเจรจาพหุภาคีในรอบอุรุกวัย เอกสารหมาย ล.7 แล้ว ย่อมเห็นได้ว่า บทบัญญัติข้อ 70 (7) ของความตกลงทริปส์เพียงแต่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องอนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองที่เพิ่มเติมเท่านั้น ประเทศสมาชิกไม่มีหน้าที่อนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตร เพื่อขอรับความคุ้มครองในการประดิษฐ์ใหม่ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แต่เดิม แม้การประดิษฐ์ใหม่นั้นจะได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติใดๆ ของความตกลงทริปส์ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ประเทศสมาชิกจึงไม่จำต้องอนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรในกรรมวิธีแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด ดังนั้น ไม่ว่าประเทศไทยจะมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามความตกลงทริปส์นับแต่เมื่อใดก็ตาม การที่พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 20 ไม่อนุญาตให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรในสาระสำคัญ และมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรในสาระสำคัญ พระราชบัญญัติสิทธิบัตรทั้งสองฉบับดังกล่าวก็หาได้มีข้อความใดขัดหรือแย้งกับความตกลงทริปส์ ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน