แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ครอบครองทรัพย์สินแทนผู้อื่นจะแย่งการครอบครองทรัพย์สินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ได้ก็ต่อเมื่อได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 เสียก่อน
การที่ ห. ผู้ครอบครองที่ดินและบ้านซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ร.แทนทายาทของ ร. แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทแล้วต่อมาได้ขอและทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ ยังถือไม่ได้ว่า ห. ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินและบ้านพิพาทโดยบอกกล่าวไปยังทายาทของ ร. ว่าตนไม่มีเจตนาที่จะยึดถือที่ดินและบ้านพิพาทไว้แทนอีกต่อไป แต่การที่ ห. เอาที่ดินและบ้านพิพาททั้งหมดไปจำนองธนาคารในเวลาต่อมา แล้ว ส. ทายาทของ ร.ซึ่งเป็นสามีโจทก์ที่ 1 และบิดาโจทก์ที่ 2 ไปไถ่ถอนจำนองให้แล้วรับจำนองต่อเสียเองนั้น ถือได้ว่า ห. ได้บอกกล่าวโดยการกระทำต่อ ส. ตั้งแต่วันที่จำนองที่ดินและบ้านพิพาทกับ ส.แล้วว่า ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากการยึดถือครอบครองแทน ส.เป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตนเองซึ่งเข้าลักษณะแย่งการครอบครองเมื่อ ส. และโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ส. มิได้ฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์ประธานภายในกำหนด 1 ปี ตามมาตรา 1375 บ้านพิพาทซึ่งเป็นส่วนควบก็ย่อมตกเป็นของ ห. ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาคืนที่ดินและบ้านพิพาทได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า หลวงรำบาลทุกขพ่ายและนางหีตภริยามีที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ ๖๕ ไร่กับบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรส เมื่อหลวงรำบาลทุกขพ่ายถึงแก่กรรม ที่ดินและบ้านดังกล่าวจึงเป็นของนางหีต ๑ ส่วน และเป็นมรดกของหลวงรำบาลทุกขพ่าย ๒ ส่วน อันตกได้แก่บุตร ๓ คน คือนายอัมพร นายสัมพันธ์และนายสมพล ทั้งนางหีต นายอัมพร นายสัมพันธ์และนายสมพลได้ตกลงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินและบ้านร่วมกันตลอดมาโดยยังมิได้มีการแบ่งกัน นายอัมพรถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๔ โดยไม่มีบุตรภรรยา ส่วนนายสมพลไม่ติดใจเรียกร้องมรดกส่วนของตน ทรัพย์มรดกส่วนของนายอัมพรและนายสมพลจึงตกเป็นของนายสัมพันธ์แต่ผู้เดียว และเมื่อนายสัมพันธ์ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ ทรัพย์มรดกของนายสัมพันธ์ตกได้แก่โจทก์ที่ ๑ซึ่งเป็นภรรยาและโจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นบุตรโดยโจทก์ทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ร่วมกันกับนางหีต นางหีตถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๓ โดยมีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางหีตต่อไป จึงแจ้งให้จำเลยแบ่งทรัพย์สินดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้นำที่ดินและบ้านดังกล่าวมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสอง สองส่วน หากแบ่งกันไม่ได้หรือการแบ่งกันจะทำให้เกิดความเสียหายมาก ก็ให้ศาลพิพากษาให้นำที่ดินและบ้านออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งกัน โดยให้โจทก์ได้รับสองส่วน เป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ หรือให้จำเลยใช้เงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์
จำเลยให้การและแก้คำให้การว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางหีตแต่ผู้เดียว เมื่อนางหีตถึงแก่กรรมทายาทโดยธรรมของนางหีตได้แก่จำเลยกับพวกเป็นผู้รับมรดก นางหีตไม่เคยครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทแทนผู้อื่น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ นางหีตขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทในนามของตนว่าเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว นายสัมพันธ์กับบุคคลอื่นก็ไม่คัดค้านอย่างใดทางการจึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่พิพาทให้แก่นางหีต นายสัมพันธ์กับโจทก์ทั้งสองเคยรับรองสิทธิดังกล่าวของนางหีตโดยได้จดทะเบียนรับจำนองที่ดินและบ้านพิพาทจากนางหีตและจดทะเบียนให้นางหีตไถ่ถอนการจำนองไปเพื่อจำนองต่อบุคคลอื่น นางหีตครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อตนจนได้สิทธิโดยอายุความแล้วและจำเลยก็ได้เข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทต่อมาตั้งแต่นางหีตถึงแก่กรรม สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ และจำเลยไม่เคยรับแจ้งจากโจทก์ให้แบ่งที่ดินและบ้านพิพาทเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อหลวงรำบาลทุกขพ่ายถึงแก่กรรม ที่ดินพิพาทพร้อมบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสของนางหีตและหลวงรำบาลทุกขพ่ายย่อมตกได้แก่นางหีต ๑ ส่วน อีก ๒ ส่วน เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของหลวงรำบาลทุกขพ่าย การที่นางหีตครอบครองทรัพย์ดังกล่าวต่อมาย่อมถือได้ว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกส่วนของหลวงรำบาลทุกขพ่ายแทนทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก ดังนั้น แม้นางหีตจะครอบครองมานานเท่าใด ก็ยังไม่ได้สิทธิด้วยการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๗๕ แต่จะต้องได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑ เสียก่อน การที่นางหีตซึ่งเป็นผู้ยึดถือครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทส่วนที่เป็นมรดกของหลวงรำบาลทุกขพ่ายแทนทายาทผู้มีสิทธิ ได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) และต่อมาได้ขอและทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่านางหีตได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินและบ้านพิพาทโดยบอกกล่าวไปยังทายาทผู้รับมรดกของหลวงรำบาลทุกขพ่ายว่าตนไม่มีเจตนาที่จะยึดถือที่ดินและบ้านพิพาทไว้แทนอีกต่อไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๘๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนเรื่องการจำนองและไถ่ถอนจำนองนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่นางหีตเอาที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองกับธนาคาร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ แล้วนายสัมพันธ์สามีโจทก์ที่ ๑ และเป็นบิดาโจทก์ที่ ๒ ไปไถ่ถอนจำนองให้และรับจำนองเสียเอง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ นั้น เป็นการจำนองที่ดินและบ้านพิพาททั้งหมด มิใช่เฉพาะส่วนของนางหีตดังที่โจทก์ทั้งสองอ้าง จึงถือได้ว่านางหีตได้บอกกล่าวโดยการกระทำต่อนายสัมพันธ์ตั้งแต่วันที่จำนองที่ดินและบ้านพิพาทกับนายสัมพันธ์แล้วว่าการยึดถือครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทได้เปลี่ยนลักษณะจากการยึดถือครอบครองแทนนายสัมพันธ์ เป็นยึดถือครอบครองเพื่อตนเองอันเป็นปรปักษ์ต่อนายสัมพันธ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๑ ซึ่งเข้าลักษณะแย่งการครอบครอง เมื่อนายสัมพันธ์และโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนายสัมพันธ์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์ประธานภายในกำหนด ๑ ปี ตามมาตรา ๑๓๗๕ บ้านพิพาทซึ่งเป็นส่วนควบก็ย่อมตกเป็นของนางหีตด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาคืนที่ดินและบ้านพิพาทได้
พิพากษายืน.