คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะที่ ป. ร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ยักยอกเงินของโจทก์ไปนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด มีป. ก. ส. และจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นกรรมการ โดยจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือ ป. คนใดคนหนึ่งรวมเป็น 2 คน และประทับตราสำคัญของโจทก์ทำการแทนโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยักยอกเงินของโจทก์บรรดาผู้ถือหุ้นซึ่งมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับโจทก์นั้นย่อมได้รับความเสียหายโดยนิตินัย ย่อมถือว่า ป. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์เป็นผู้เสียหาย จึงมีสิทธิฟ้องคดีอาญาหรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1ที่ 2 ฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2),123ประกอบด้วยมาตรา 2(4) ต่อมา ป. ได้ถอนคำร้องทุกข์นั้นดังนั้นไม่ว่า ป. จะดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดในฐานะกระทำการแทนโจทก์หรือในฐานะผู้ถือหุ้น สิทธิที่โจทก์จะนำคดีอาญามาฟ้องก็ย่อมระงับไปตามมาตรา 39(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีนายประเสริฐ วงศ์วรรณโชติ นางวัชรีวงศ์วรรณโชติ และนายกิมเล้ง แซ่ลี้ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์โดยกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์โดยกรรมการ2 ใน 3 คน ลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ จึงผูกพันโจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 2 เคยมีตำแหน่งเป็นกรรมการมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ และรับเงินจากลูกค้าของโจทก์มอบให้กับโจทก์ จำเลยที่ 3 มีตำแหน่งเป็นทนายความที่ปรึกษาของโจทก์ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2528เวลากลางวัน ขณะนั้นจำเลยทั้งสามมีตำแหน่งและได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยทั้งสามกับพวกได้รับเงินค่าซื้อสิทธิการเช่าช่วงอาคารพาณิชย์ของโจทก์จากนางพิน ชัยวงศ์ลูกค้าของโจทก์เป็นเงิน 101,375 บาท โดยนายสุรเดช วันทาภิรมย์เป็นผู้จ่ายเช็คให้แก่โจทก์ในนามของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันบีบบังคับให้นายสุรเดชออกเช็คของธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาสุไหงโกลก ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2528 สั่งจ่ายเงิน101,375 บาท โดยระบุผู้รับเงินว่า “เงินสด” แทนที่จะระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน จำเลยทั้งสามได้รับเช็คและครอบครองเช็คดังกล่าวแทนโจทก์และจำเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันเบียดบังเป็นของจำเลยทั้งสามกับพวกโดยทุจริตโดยจำเลยทั้งสามกับพวกได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แล้วร่วมกันเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์เป็นของจำเลยทั้งสามกับพวก และของบุคคลที่ 3 โดยทุจริต และจำเลยทั้งสามได้รับมอบหมายจากโจทก์รับเงินค่าซื้อสิทธิการเช่าช่วงอาคารพาณิชย์จากนางพิน ชัยวงศ์ ลูกค้าของโจทก์เป็นเงิน 101,375 บาท โดยนายสุรเดช วันทาภิรมย์ จะเป็นผู้จ่ายเช็คให้โจทก์ในนามของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันบีบบังคับให้นายสุรเดชออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุไหงโกลก ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2528 สั่งจ่ายเงินจำนวน 101,375 บาทโดยระบุผู้รับว่า “เงินสด” แทนที่จะระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินจำเลยทั้งสามรับเช็คและครอบครองเช็คดังกล่าวแทนโจทก์แล้วร่วมกับพวกเบียดบังเป็นของทั้งสามกับพวกโดยทุจริตโดยนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินตามเช็คเป็นเงิน 101,375 บาท แล้วร่วมกันเบียดบังเงินดังกล่าวของโจทก์เป็นของจำเลยทั้งสามกับพวกและบุคคลที่ 3 ไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91, 352, 353 ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท โดยที่อัตราโทษของแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 เพียงมาตราเดียว ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ1 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท เนื่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้มีการบรรเทาผลร้ายในการกระทำความผิด โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ไว้แก่นายประเสริฐ วงศ์วรรณโชติ ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของโจทก์แล้ว เมื่อคำนึงถึงอาชีพและสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปของจำเลยที่ 1ที่ 2 แล้ว เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 ที่ 2 กลับตนเป็นพลเมืองดี ให้รอการลงโทษจำคุกไว้คนละ 2 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายประเสริฐ วงศ์วรรณโชตินายกิมเล้ง แซ่ลี้ และนางวัชรี วงศ์วรรณโชติ เป็นกรรมการนายประเสริฐมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นอีก 1 คนประทับตราสำคัญของโจทก์ กระทำการแทนโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการอาวุโสและเป็นเจ้าหน้าที่เก็บเงินของโจทก์ นางพิน ชัยวงศ์ เป็นลูกค้าของโจทก์ซื้ออาคารพาณิชย์ของโจทก์ 2 ห้อง โดยผ่อนชำระราคาให้โจทก์เป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้าเป็นงวด ๆ เป็นเช็คของนายสุรเดช วันทาภิรมย์ แต่เช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ 3 ฉบับโจทก์ติดตามทวงถามนายสุรเดชสั่งจ่ายเช็คใหม่เป็นเช็คเงินสดแทนรวม 3 ฉบับ โดยเช็คเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นเช็คในจำนวน 3 ฉบับนี้ซึ่งเป็นการผิดระเบียบของโจทก์ ที่ให้รับเป็นเช็คในนามของโจทก์และเป็นเช็คขีดคร่อม เมื่อเช็คเอกสาร จ.1และ จ.2 ถึงกำหนดสั่งจ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำเช็คทั้งสองฉบับนี้ไปเข้าบัญชีจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาสุไหงโกลกจากนั้นรับเช็คของธนาคารกสิกรไทย สาขา สุไหงโกลก ไปซื้อแคชเชียร์เช็คจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุไหงโกลกโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งซื้อแล้วนำแคชเชียร์เช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาสุไหงโกลก จำเลยที่ 2 โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่นำมาเข้าบัญชีของโจทก์วันที่ 13 และ 14 กรกฎาคม 2528 นายประเสริฐ วงศ์วรรณโชติกรรมการของโจทก์ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสุไหงโกลก ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2ฐานยักยอกเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ต่อมาวันที่5 กันยายน 2528 นายประเสริฐได้ถอนคำร้องทุกข์ที่ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 คงมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับไปหรือไม่และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 2 ระงับไปหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่านายประเสริฐ วงศ์วรรณโชติ ในฐานะกรรมการของโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันยักยอกเงินตามเช็คที่นางพิน ชัยวงศ์ นำมาชำระให้โจทก์ เมื่อนายประเสริฐไปถอนคำร้องทุกข์ที่ให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1และที่ 2 โดยอ้างว่าสามารถตกลงกันได้แล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) ฝ่ายโจทก์ฎีกาว่า ที่นายประเสริฐไปร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานยักยอกเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นการกระทำในฐานะผู้ถือหุ้นโจทก์จะถือว่าเป็นการกระทำของโจทก์ไม่ได้นั้น คดีได้ความจากข้อนำสืบของจำเลยว่า ขณะที่นายประเสริฐไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 13 และ 15 กรกฎาคม 2528บริษัทโจทก์มีกรรมการรวม 5 คน คือ จำเลยที่ 1 นายประเสริฐวงศ์วรรณโชติ นายกิมเล้ง แซ่ลี้ จำเลยที่ 2 และนางสาวสมจิตรไชยกุล และผู้ที่มีอำนาจลงชื่อผูกพันโจทก์ คือ จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือนายประเสริฐคนใดคนหนึ่งรวมเป็นสองคนและประทับตราสำคัญของโจทก์ เห็นว่ากรณีความผิดที่ได้กระทำต่อนิติบุคคลซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(3) บัญญัติให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลเป็นผู้ฟ้องคดีแทนนั้น ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ เหล่านั้น กลับเป็นผู้กระทำผิดต่อนิติบุคคลนั้นเสียเองก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าผู้กระทำผิดจะไม่ฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง เมื่อเป็นดังนี้ บรรดาผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นซึ่งมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหาย ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1169 ก็บัญญัติไว้ว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งฟ้องคดีได้ดังนี้โดยนิตินัยย่อมถือว่านายประเสริฐซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ เป็นผู้เสียหายจึงมีสิทธิฟ้องคดีอาญาหรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินแก่จำเลยที่ 1และที่ 2 ฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2), 123 ประกอบด้วยมาตรา 2(4) เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1680/2520 ระหว่างนางสาวสงวน คำจิ่ม โจทก์ นายประเมิน คำจิ่ม ที่ 1 กับพวกจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่านายประเสริฐ ในฐานะกรรมการของโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันยักยอกทรัพย์ของโจทก์แต่ต่อมานายประเสริฐได้ถอนคำร้องทุกข์นั้นแล้วดังนั้นไม่ว่านายประเสริฐจะดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดในฐานะกระทำการแทนโจทก์หรือในฐานะผู้ถือหุ้นตามที่โจทก์ฎีกา สิทธิที่โจทก์จะนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)”
พิพากษายืน

Share