คำวินิจฉัยที่ 24/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๔/๒๕๕๒

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑ นางสุทธิลา วงษ์เอี่ยม ที่ ๑ นายสุรศักดิ์ วงษ์เอี่ยม โดยนางสุทธิลา วงษ์เอี่ยม ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๒ เด็กหญิงสุราณี วงษ์เอี่ยม โดยนางสุทธิลา วงษ์เอี่ยม ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๓ โจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงยุติธรรม จำเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๙๔/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชาญ วงษ์เอี่ยม ผู้ตาย โจทก์ที่ ๒ อายุ ๑๘ ปี และโจทก์ที่ ๓ อายุ ๑๓ ปี เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จำเลยเป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นกระทรวง มีกรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานในสังกัด เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นหน่วยงานสังกัดกรมราชทัณฑ์ มีนายปรีชา สุวรพงษ์ เป็นผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลย เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ผู้ตายต้องโทษกักขังแทนโทษจำคุก ๕ วัน ตามคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา คดีหมายเลขแดงที่ ๒๖๖๓/๒๕๕๐ ในวันดังกล่าวศาลออกหมายกักขังแทนโทษจำคุกระหว่างอุทธรณ์ถึงผู้ควบคุมดูแลสถานที่กักขังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายปรีชาผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยานำผู้ตายไปกักขังไว้ที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันมิใช่สถานที่กักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๔ โดยกักขังรวมกับนายนรินทร์ พวงทอง นายมานพ ยอดทอง นายสมชาย ดีเลิศ นายสมบูรณ์ คงสมบูรณ์ นายสถาพร ทองคง และนายสะฐาพรหรือสฐาพร เนยสูงเนิน ซึ่งเป็นผู้ต้องขังในคดีอื่น นายนรินทร์กับพวกดังกล่าวร่วมกันทำร้ายผู้ตายได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายนรินทร์กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๒๕๖๙/๒๕๕๐ ส่วนนายสะฐาพรหรือสฐาพรซึ่ง ให้การปฏิเสธ พนักงานอัยการแยกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่ง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา การที่นายปรีชานำผู้ตายไปกักขังไว้ในเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันไม่ใช่สถานที่กักขังตามกฎหมาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นายปรีชาและผู้คุมของเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลนักโทษในเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่ให้นักโทษทำร้ายกัน แต่นายปรีชากับผู้คุมประมาทปราศจากความระมัดระวัง ไม่ควบคุมดูแลนักโทษที่อยู่ในความดูแลของตน ไม่ให้นายนรินทร์กับพวกทำร้ายผู้ตาย การกระทำของนายปรีชากับผู้คุมจึงเป็นละเมิดต่อผู้ตายและโจทก์ทั้งสาม และเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่และอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่ได้ส่งผู้ตายไปกักขังที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามที่โจทก์ทั้งสาม กล่าวอ้าง แต่ส่งไปกักขังยังสถานกักขังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำหรับควบคุมตัวผู้ต้องโทษกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา โดยจำเลยมีคำสั่งที่ ๒๗๓/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ กำหนดสถานกักขังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนแยกต่างหากจากเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การกระทำของผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์ทั้งสามเคลือบคลุม สาเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายมิได้เกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหรือผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การกระทำของผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่และใช้ความระมัดระวังดูแลความปลอดภัยตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยชอบแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม ค่าเสียหายเลื่อนลอย ไม่สมเหตุผล สูงเกินควรและปราศจากพยานหลักฐาน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสาม กล่าวอ้างว่า ผู้ตายซึ่งเป็นสามีของโจทก์ที่ ๑ และเป็นบิดาของโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ได้ถึงแก่ความตายขณะอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ของเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งใช้อำนาจในการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กับคำสั่งจำเลยที่ ๒๗๒/๒๕๔๙ เรื่องกำหนดอาณาเขตเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคำสั่งจำเลยที่ ๒๗๓/๒๕๔๙ เรื่องกำหนดสถานกักขังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งคำสั่งจำเลยอันหลังนี้เพื่ออนุวัตรให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดอาญา และเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ อันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การกระทำละเมิดเนื่องจากการใช้อำนาจปกครอง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อพิพาทคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่า ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลย มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมผู้ถูกกักกันตามคำพิพากษาของศาลตามประมวลกฎหมายอาญาประกอบพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๖ ซึ่งการควบคุมผู้ตายดังกล่าวเป็นการควบคุมภายหลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ข้อพิพาทคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาท ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เมื่อคำฟ้องคดีนี้อ้างว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามอ้างว่า นายปรีชา สุวรพงษ์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดจำเลย นำผู้ตายซึ่งต้องโทษกักขังแทนโทษจำคุกไปกักขังในเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันไม่ใช่สถานที่กักขัง เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๔ โดยกักขังรวมกับผู้ต้องขังในคดีอื่น เป็นเหตุให้ผู้ตายถูกผู้ต้องขังในคดีอื่นทำร้ายได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา โดยนายปรีชาและผู้คุมของเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีหน้าที่ควบคุมดูแลนักโทษในเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่ให้ ทำร้ายกัน แต่นายปรีชาและผู้คุมไม่ควบคุมดูแลนักโทษที่อยู่ในความดูแลไม่ให้ทำร้ายผู้ตาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ตายและโจทก์ทั้งสาม ดังนั้น มูลความแห่งคดีจึงสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ตายถึงแก่ความตายขณะอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๙ จัดการกักขังผู้ตายตามหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการออกหมายของศาลอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๗ ถึงมาตรา ๖๐ ส่วนสถานที่กักขังและการปฏิบัติในระหว่างการกักขังผู้ต้องกักขังนั้น เจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๔ วรรคแรกและวรรคสาม และมาตรา ๒๕ ประกอบพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๖ นอกจากนี้หากในระหว่างการกักขังความปรากฏแก่ศาลว่าผู้ต้องกักขังฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ หรือวินัยของสถานที่กักขัง หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด หรือต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ศาลก็อาจมีคำสั่งเปลี่ยนโทษกักขังเป็นโทษจำคุกได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยจึงเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาอันเป็นขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ซึ่งสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสุทธิลา วงษ์เอี่ยม ที่ ๑ นายสุรศักดิ์ วงษ์เอี่ยม โดยนางสุทธิลา วงษ์เอี่ยม ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๒ เด็กหญิงสุราณี วงษ์เอี่ยม โดยนางสุทธิลา วงษ์เอี่ยม ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๓ โจทก์ กระทรวงยุติธรรม จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share