แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 ประกาศออกใช้เป็นกฎหมายแล้ว โดยยกเลิก พระราชบัญญัติภาษีชั้นใน จ.ศ.1248 และ พระราชบัญญัติภาษีชั้นในแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2476 ที่โจทก์ฟ้องอ้างเป็นบทลงโทษจำเลยแล้ว มีบัญญัติความผิดและกำหนดโทษไว้ใหม่ตามมาตรา 32 ซึ่งมีโทษเบากว่ามาตรา 8 พระราชบัญญัติภาษีชั้นในแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2476 จึงต้องใช้กฎหมายใหม่เป็นบทลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 8
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานสมคบกันมีและขายหรือแสดงเพื่อขายสุราที่ทำขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติภาษีชั้นในแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2476 มาตรา 8
ศาลชั้นต้นลงโทษเฉพาะจำเลยที่ 2 ยกฟ้องจำเลยที่ 1, 3
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ด้วยโดยปรับ 1,200 บาท เพิ่มโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 72 อีก 1 ใน 3 รวมเป็นปรับ 1,600 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดด้วยแต่ความปรากฏว่า ในระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ประกาศออกใช้เป็นกฎหมายแล้วโดยยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีชั้นใน จ.ศ. 1248 และพระราชบัญญัติภาษีชั้นในแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2476 ที่โจทก์ฟ้องอ้างเป็นบทลงโทษจำเลยแล้ว มีบัญญัติความผิดและกำหนดโทษไว้ใหม่ตามมาตรา 32 ซึ่งมีโทษเบากว่ามาตรา 8 พระราชบัญญัติภาษีชั้นในแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2476 จึงต้องใช้กฎหมายใหม่เป็นบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 8จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ปรับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติสุรา 2493 เป็นเงิน 500 บาท เพิ่มโทษตามมาตรา 72กฎหมายลักษณะอาญาอีก 1 ใน 3 รวมเป็นเงินค่าปรับ 666 บาท 66 สตางค์นอกจากที่แก้คงยืน