แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท แต่ตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ที่แก้ไขตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2551 บัญญัติให้ศาลกำหนดค่าทนายความแต่ละชั้นศาลไม่ต่ำกว่าคดีละ 3,000 บาท ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าทนายความต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 9,000 บาท แทนจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 17205 ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โดยการครอบครอง ขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 17205 ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ห้ามจำเลยและบริวารไม่ให้เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 25,386 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดิน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 17205 ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 7,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันทำละเมิด (วันที่ 9 พฤษภาคม 2554) ไปจนกว่าจะชำระครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีโจทก์ให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลย 367 บาท
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองหรือไม่ เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่จำเลยให้การรับว่า โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลานานเกินกว่าสิบปีแล้ว จำเลยเพียงแต่ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ขอเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เนื่องจากที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่น้อยไม่พอทำกินอันเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลย ส่วนปัญหาว่าการที่โจทก์เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นการเข้าไปโดยพลการอย่างเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น หรือเป็นการเข้าไปทำประโยชน์ด้วยความยินยอมของจำเลย ข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์และจำเลยตรงกันว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาแต่เดิม หลังจากนั้นโจทก์จึงเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะนำสืบว่า โจทก์เข้าไปทำประโยชน์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย แต่เมื่อพิเคราะห์ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อน หากจำเลยไม่ยินยอมอนุญาตให้โจทก์เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จะเข้าไปในที่ดินแปลงนั้นได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ความว่า ในระหว่างที่โจทก์เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยยังนำโฉนดที่ดินแปลงพิพาทไปมอบให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อเป็นประกันหนี้ที่สามีของโจทก์กู้ยืมจากธนาคารดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังหวงกันที่ดินพิพาทเป็นของตน หาได้สละละทิ้งให้โจทก์ทำประโยชน์อย่างอิสระไม่ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์เข้าไปในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ แม้จำเลยจะเบิกความตอบคำถามติงของทนายจำเลยว่า หลังจากที่ทางราชการออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทแล้ว โจทก์เคยบอกจำเลยว่า โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นของตนเอง แต่ไม่ได้ความชัดว่าโจทก์บอกแก่จำเลยเมื่อปีใด จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวไปยังจำเลยเพื่อเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจนเกินกว่าสิบปีแล้ว โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครอง ที่โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของโจทก์กับนายทองบู่ พยานโจทก์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในการมอบโฉนดที่ดินแปลงพิพาทให้แก่โจทก์ไม่ขัดแย้งกันดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย ศาลฎีกาได้ตรวจดูคำเบิกความของโจทก์กับนายทองบู่แล้ว โจทก์เบิกความว่า หลังจากที่นายสมจิตรจดทะเบียนหย่ากับจำเลยแล้ว นายสมจิตรกับจำเลยได้พาโจทก์กับนายทองบู่ไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดมหาสารคาม เพื่อจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงพิพาทให้แก่นายสมจิตรแต่มีเหตุขัดข้องที่ทำให้ไม่สามารถโอนได้ นายสมจิตรกับจำเลยจึงฝากโฉนดที่ดินไว้กับเจ้าพนักงานที่ดิน แต่นายทองบู่กลับเบิกความว่า หลังจากนั้นอีก 2 ถึง 3 วัน นายสมจิตรได้มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ต่อหน้านายทองบู่ ซึ่งขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์อย่างสิ้นเชิง หาใช่ข้อแตกต่างกันในเรื่องแปลความหมายของถ้อยคำถามที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า เหตุที่เอกสารหลักฐานการจดทะเบียนการหย่าระหว่างจำเลยกับนายสมจิตรไม่ได้บันทึกว่าจำเลยตกลงยกที่ดินให้แก่นายสมจิตรและยอมมอบเงิน 20,000 บาท ให้แก่นายสมจิตร ก็เพราะเป็นเรื่องที่นายสมจิตรกับจำเลยตกลงกันด้วยวาจา จึงไม่จำเป็นต้องบันทึกข้อความดังกล่าวไว้ท้ายทะเบียนหย่านั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า ข้อความที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ หากมีข้อตกลงเช่นว่านั้นจริงไม่มีเหตุผลใดที่นายสมจิตรกับจำเลยจะไม่บันทึกไว้ให้ปรากฏ การที่ไม่ได้บันทึกข้อความตามที่โจทก์กล่าวอ้างไว้ท้ายทะเบียนหย่า แสดงให้เห็นว่าไม่มีข้อตกลงว่าให้ยกที่ดินพิพาทให้แก่นายสมจิตรแต่อย่างใด กล่าวโดยสรุป ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า โจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสงบ โดยเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกินกว่าสิบปีไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สมดังข้ออ้างของตน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท นั้น เห็นว่า ตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่แก้ไขตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2551 บัญญัติให้ศาลกำหนดค่าทนายความไม่ต่ำว่าคดีละ 3,000 บาท ซึ่งหมายความถึงแต่ละชั้นศาล ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าทนายความต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 9,000 บาท แทนจำเลย