คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสี่ บัญญัติถึงระยะเวลายื่นขอเฉลี่ยของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไว้ว่า “ในกรณีอายัดทรัพย์สินให้ยื่นคำขอเสียก่อนที่มีการชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ และไม่ว่ากรณีใด ๆ ห้ามมิให้ยื่นคำขอช้ากว่าสามเดือนนับแต่วันอายัด” คำว่า อายัด ในมาตรานี้ หมายถึงการอายัดของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพราะเป็นการเฉลี่ยระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกัน หามีผลรวมถึงการอายัดชั่วคราวก่อนคำพิพากษาด้วยไม่

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยพร้อมกับยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยขอให้ศาลออกคำสั่งอายัดเงินค่าประกันภัย ซึ่งบริษัทไพบูลย์ประกันภัย จำกัด และบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด จะต้องจ่ายให้จำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วออกคำสั่งอายัดชั่วคราวให้ตามที่โจทก์ขอ
บริษัทไพบูลย์ประกันภัย จำกัด และบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัดชำระเงินที่ถูกอายัดต่อศาล
ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๖๘๔,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ ๓ ให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นออกประกาศปิดไว้ที่หน้าศาลเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ บังคับให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน ๑๕ วัน ต่อมาวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๓ โจทก์ขอหมายบังคับคดี
ผู้ร้องทั้งสี่ต่างยื่นคำร้องขอเฉลี่ยหนี้ตามคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลสั่งอายัดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๓ ผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยช้ากว่าสามเดือนนับแต่วันอายัด จึงให้ยกคำร้องขอเฉลี่ยของผู้ร้องทั้งสี่เสีย
ผู้ร้องทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องทั้งสี่เฉลี่ยได้ตามคำร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ วรรคสี่ บัญญัติถึงระยะเวลายื่นขอเฉลี่ยของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไว้ว่า “ในกรณีที่อายัดทรัพย์สิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนที่มีการชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้และไม่ว่าในกรณีใด ๆ ห้ามมิให้ยื่นคำขอช้ากว่าสามเดือนนับแต่วันอายัด” คำว่า อายัดในมาตรานี้ ย่อมหมายถึงการอายัดของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพราะเป็นการเฉลี่ยระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกัน ความข้อนี้จะเห็นได้ชัดแจ้งเมื่ออ่านมาตรา ๒๙๐ วรรคแรกประกอบ เพราะกฎหมายใช้คำว่า “เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว” ซึ่งแสดงว่าต้องเป็นการอายัดโดยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั่นเอง ถ้าหากตีความคำว่าอายัดในมาตรา ๒๙๐ วรรคสี่ ให้มีผลรวมถึงการอายัดชั่วคราวก่อนพิพากษาด้วยแล้ว ผลก็จะกลายเป็นว่าเจ้าหนี้ซึ่งศาลยังมิได้พิพากษา เพียงแต่อยู่ในชั้นยื่นฟ้องเท่านั้น ก็มีสิทธิในการเฉลี่ยดีกว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสียแล้วซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ คดีนี้บริษัทผู้รับอายัดทั้งสองได้ชำระเงินที่ถูกอายัดต่อศาล เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๒๓ และวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๓ แต่เป็นการชำระเงินตามหมายอายัดชั่วคราวก่อนพิพากษา จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการอายัดของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ ต่อเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๓ แล้ว การอายัดนั้นจึงเพิ่งจะเริ่มมีผลเป็นการอายัดของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๓ เป็นต้นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๐(๒) ซึ่งการอายัดตามคำพิพากษาดังกล่าวจะครบสามเดือนก็ต่อเมื่อพ้นวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๒๔ แล้ว ฉะนั้นการที่ผู้ร้องทั้งสี่นี้ได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๓,๑ ธันวาคม ๒๕๒๓, ๒ ธันวาคม ๒๕๒๓ และ ๘ ธันวาคม ๒๕๒๓ ตามลำดับ ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในช่วงระยะเวลาก่อนครบสามเดือนนับแต่วันอายัดตามคำพิพากษาทั้งสิ้น จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทั้งสี่ยื่นขอเฉลี่ยช้ากว่าสามเดือนนับแต่วันอายัดตามความหมายในมาตรา ๒๙๐ วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ

Share