แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์ ในการทำแผนที่พิพาทเมื่อโจทก์นำชี้เขตที่ดินที่อ้างว่าเป็นของโจทก์นั้น ย. โต้แย้งว่าโจทก์ชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ของ ย. ซึ่งที่ดินส่วนนั้นจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย ดังนี้โจทก์จะขอให้เรียก ย. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้หาได้ไม่
โจทก์หาว่าจำเลยบุกรุกที่ดินมือเปล่าของโจทก์ แล้วโจทก์ไม่กล้าเข้าทำประโยชน์ในที่ส่วนนั้นอีก เพียงแต่ไปร้องเรียนต่อพนักงานสอบสวนและตำรวจเท่านั้น ดังนี้เมื่อเป็นเวลาเกิน 1 ปีแล้วนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ย่อมหมดสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองแล้ว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์ จำเลยต่อสู้ว่าเป็นของจำเลยและฟ้องแย้งขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย คำฟ้องแย้งเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า โจทก์บุกรุกที่ของจำเลยเมื่อใด ตรงไหนโจทก์ก็เข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว และคำฟ้องแย้งของจำเลยเช่นนี้ไม่ใช่การฟ้องเรียกคืนการครอบครอง จึงไม่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375
คู่ความได้ว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้นแต่เพียงว่าจำเลยได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์เกิน 1 ปี อันเป็นเหตุให้โจทก์หมดสิทธิเรียกคืนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375แล้วหรือไม่เท่านั้น ถ้าโจทก์เพิ่งกล่าวอ้างในชั้นฎีกาว่า ต้องใช้อายุความทางอาญาแทนอายุความทางแพ่ง ดังนี้ ย่อมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินตามแผนที่ท้ายฟ้อง เนื้อที่ประมาณ ๑๕๐ ไร่เศษเดิมเป็นของนายเช็งซุยกับพวก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ นายเช็งซุย ขายที่หมายเลข ๑และ ๓ ให้โจทก์และ พ.ศ. ๒๕๐๕ นายจันทร์ขายที่หมายเลข ๒ ให้โจทก์เมื่อระหว่างเมษายนถึงกรกฎาคม ๒๕๐๘ จำเลยทุกคนกับพวกที่โจทก์ยังไม่ได้ฟ้อง ได้บังอาจบุกรุกเข้าไถและขุดดินในที่ดินแปลงหมายเลข ๓ทั้งหมด และในที่ดินแปลงหมายเลข ๑ และ ๒ บางส่วน แล้วปลูกมันและถั่วรวม ๙๐ ไร่ ทำให้โจทก์เสียหายไม่น้อยกว่าปีละ ๒๗,๗๑๐ บาทขอให้พิพากษาบังคับจำเลยและบริวารให้ออกจากที่ดินประมาณ ๙๐ ไร่ของโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้องต่อไป และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์อยู่มีเนื้อที่ประมาณ ๕๓ ไร่ จำเลยหักร้างถางพงครอบครองมา ค่าเสียหายที่ฟ้องนั้นสูงเกินจริงและตัดฟ้องว่า โจทก์หมดสิทธิฟ้องร้องแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ขอให้ยกฟ้อง และสั่งแสดงว่าจำเลยที่ ๑ มีสิทธิครอบครองส่วนที่ครอบครองอยู่ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๙ ให้การว่า ที่ดินที่จำเลยที่ ๒ ครอบครองมีเนื้อที่ ๕๐ ไร่ จำเลยที่ ๒ ได้รับโอนมาจากจำเลยที่ ๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗โดยจำเลยที่ ๙ ได้หักร้างถางพงครอบครองที่นี้มา ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมค่าเสียหายก็สูงเกินความจริง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ ขอให้ยกฟ้องและจำเลยที่ ๒ ฟ้องแย้งขอให้ศาลสั่งแสดงว่าจำเลยที่ ๒ มีสิทธิครอบครองที่ดินส่วนที่ได้ครอบครองมาห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้อง
จำเลยที่ ๗ ที่ ๘ และที่ ๑๐ ให้การว่า จำเลยที่ ๗ ครอบครองที่ดิน๑๗ ไร่ จำเลยที่ ๘ ครอบครอง ๓๖ ไร่ จำเลยที่ ๑๐ ครอบครอง ๓๐ ไร่จำเลยทั้งสามหักร้างถางพงครอบครองมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ โจทก์หมดสิทธิฟ้องแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีสิทธิครอบครองในที่ที่จำเลยได้ครอบครองอยู่ ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้อง
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ให้การว่า จำเลยทั้งสี่เข้าไปปลูกถั่วในที่ดินของโจทก์จริง โดยได้ขออนุญาตจากสามีโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุม เพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เข้าไปทำละเมิดที่ดินของจำเลยตรงไหนเมื่อใด และฟ้องแย้งไม่เกี่ยวพันถึงที่ดินที่โจทก์ฟ้อง
ศาลสั่งให้พนักงานที่ดินอำเภอทำแผนที่พิพาทตามที่คู่ความขอตามแผนที่พิพาทนั้น ที่จำเลยที่ ๑ นำชี้ว่าเป็นของจำเลยที่ ๑ นั้น มีเนื้อที่๖๒ ไร่เศษ อยู่ในเขตที่โจทก์นำชี้ว่าเป็นของโจทก์ทั้งหมด ที่จำเลยที่ ๒และที่ ๙ นำชี้ว่าเป็นของจำเลยมีเนื้อที่ ๕๘ ไร่เศษ อยู่ในเขตที่โจทก์นำชี้ว่าเป็นของโจทก์ทั้งหมด ที่จำเลยที่ ๗ นำชี้ว่าเป็นของจำเลยนั้น กินเข้ามาในที่ที่โจทก์ชี้ว่าเป็นของโจทก์ ๓ งานเศษ ที่จำเลยที่ ๑๐ นำชี้ว่าเป็นของจำเลยนั้นกินเข้ามาในที่ที่โจทก์ชี้ว่าเป็นของโจทก์ ๔ ไร่เศษ และเขตที่โจทก์นำชี้ว่าเป็นของโจทก์นั้น นางยุพาว่าโจทก์ชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ของนางยุพา ๑๐ ไร่เศษ
เมื่อคู่ความรับรองแผนที่แล้ว จำเลยที่ ๗ และที่ ๑๐ แถลงว่าที่ที่จำเลยนำชี้กินเข้าไปในที่ที่โจทก์นำชี้ว่าเป็นของโจทก์นั้น จำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นของโจทก์ ขอสละฟ้องแย้ง โจทก์จึงถอนฟ้องจำเลยที่ ๗และที่ ๑๐ และต่อมาโจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ ๓, ๔, ๕ และ ๖ อีก
ตามที่นางยุพาได้คัดค้านว่าโจทก์นำชี้เขตรุกล้ำเข้าไปในที่ของนางยุพา ๑๐ ไร่เศษนั้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกนางยุพาเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ด้วย ศาลสั่งให้หมายเรียกนางยุพาเข้ามา
นางยุพายื่นคำแถลงคัดค้านว่า ที่ศาลหมายเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้น ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา เพราะนางยุพาไม่มีส่วนได้เสียร่วมกับจำเลย โจทก์ควรฟ้องนางยุพาเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก
ในวันชี้สองสถาน ศาลสั่งว่า เมื่อทำแผนที่พิพาทมาแล้ว ปรากฏว่าที่พิพาทเนื้อที่เพิ่มขึ้น จึงให้โจทก์กับจำเลยที่ ๑ เสียค่าขึ้นศาลเพิ่ม
จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้าน อ้างว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกที่ของโจทก์เพียง ๙๐ ไร่ เมื่อทำแผนที่แล้วปรากฏว่าเนื้อที่ ๑๕๐ ไร่เช่นนี้ โจทก์ไม่ได้ขอแก้ฟ้องขึ้นมา การที่ศาลสั่งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม เป็นการเพิ่มเติมฟ้องแก่โจทก์โดยปริยาย
โจทก์จำเลยชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มแล้ว ต่อมาวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๐๙โจทก์ยื่นคำร้องว่า ตามแผนที่พิพาท ที่จำเลยและนางยุพาจำเลยร่วมชี้นั้นมีเนื้อที่รวม ๑๒๕ ไร่ ๒ งาน ๔๖ วา จึงขอแก้จำนวนเนื้อที่จากเดิม ๙๐ ไร่ เป็น๑๒๕ ไร่ ๒ งาน ๔๖ วา เพื่อให้ตรงกับเนื้อที่อันแท้จริง ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๘ และนางยุพาจำเลยร่วมใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑, ๒, ๘, ๙ และนางยุพาจำเลยร่วมอุทธรณ์ว่า ๑. ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้นไม่ชอบ ๒. ที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกนางยุพาเข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ ๓. โจทก์สืบนอกฟ้องนอกประเด็น ๔. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ๕. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๗๕ ๖. ศาลชั้นต้นคิดค่าเสียหายให้โจทก์โดยไม่ชอบ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อกฎหมายข้อ ๕ โดยฟังว่า โจทก์ถูกจำเลยแย่งการครอบครองตั้งแต่วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๐๗ ถึงวันฟ้องคือ ๒๖ ตุลาคม๒๕๐๘ เกินกว่า ๑ ปีแล้วการที่โจทก์ร้องเรียนต่อนายอำเภอหรือตำรวจ ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจนำคดีมาฟ้องเกิน ๑ ปีได้ จึงไม่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยต่อไป ส่วนอุทธรณ์จำเลยในข้อเท็จจริงนั้นแม้จะฟังว่าที่พิพาทเดิมเป็นของโจทก์ โจทก์ก็ขาดสิทธิครอบครองแล้ว พวกจำเลยต่างมีสิทธิครอบครองในที่พิพาท แม้ตามฟ้องแย้งจะไม่ได้บรรยายว่าที่ดินของจำเลยได้ถูกรบกวนการครอบครองอย่างไร แต่การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย ถือได้ว่าสิทธิของจำเลยได้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๕ ศาลชอบที่จะสั่งแสดงว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่พิพาทได้ตามคำขอท้ายฟ้องแย้ง พิพากษากลับ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ และพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามแผนที่วิวาทหมายเลข ๑ และหมายสีดำ เป็นของจำเลยที่ ๑หมายเลข ๒ เป็นของจำเลยที่ ๒ หมายเลข ๓ เป็นของจำเลยที่ ๘ ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
โจทก์ฎีกาโดยตั้งประเด็นว่า
๑. โจทก์ฟ้องคดีนี้ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๗๕ หรือไม่
๒. ที่พิพาทตามแผนที่วิวาทหมายเลข ๑, ๒, ๓ เป็นของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒และที่ ๘ หรือไม่
๓. คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๙และนางยุพาจำเลยร่วมว่าให้แพ้คดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ชนะคดีโจทก์ ต้องถือว่าพิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
๑. ตามที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกบุกรุกที่ดินของโจทก์นั้น ในการนำชี้เวลาทำแผนที่พิพาทนั้น โจทก์นำชี้เขตที่ดินที่อ้างว่าเป็นของโจทก์ทั้งหมดฝ่ายจำเลยแต่ละคนก็ชี้เขตที่ดินที่อ้างว่าเป็นของจำเลยซึ่งอยู่ในเขตที่ที่โจทก์ชี้ว่าเป็นของโจทก์ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยจึงมีว่า เขตที่ดินที่จำเลยแต่ละคนชี้นั้น ฝ่ายใดจะเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง แต่เขตที่ดินที่โจทก์ชี้นั้น นางยุพาได้โต้แย้งว่าโจทก์ชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ของนางยุพา ซึ่งตอนนี้จำเลยในคดีนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ที่ดินที่นางยุพาอ้างว่าเป็นของตนนั้นไม่เกี่ยวกับที่ดินที่โจทก์จำเลยพิพาทกันแต่ประการใด โจทก์ชอบที่จะฟ้องนางยุพาขึ้นมาเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก การเรียกนางยุพาเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาเห็นควรสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกนางยุพาเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเสีย เมื่อสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์แล้ว ก็ถือว่านางยุพาไม่ได้เป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ คำพิพากษาคดีนี้ จึงไม่มีผลบังคับนางยุพา
๒. ได้ความว่าเมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๐๗ โจทก์ได้กล่าวหาจำเลยที่ ๑กับพวกว่าบุกรุก โจทก์ได้ร้องต่อพนักงานสอบสวนพนักงานสอบสวนเรียกจำเลยที่ ๑ กับพวกมาสอบถาม จำเลยกับพวกโต้เถียงว่าเป็นที่ของจำเลยเมื่อจำเลยโต้เถียงเช่นนั้น โจทก์ก็กลัวไม่กล้าเข้าไปทำในที่ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในที่พิพาทตลอดมา นอกจากไปร้องเรียนต่อกองปราบปรามเท่านั้นจึงฟังได้ว่านับแต่วันที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกินกว่า ๑ ปีแล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะฟ้องเรียกคืนการครอบครองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕
๓. ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกนั้น เป็นคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๕ วรรค ๒ มีอายุความฟ้องร้องภายใน ๑๐ ปีและ ๕ ปี ฉะนั้น อายุความฟ้องร้องฐานละเมิดทางแพ่งจึงต้องถืออายุความทางอาญา คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในประเด็นข้อนี้ คู่ความได้ว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้นแต่เพียงว่าจำเลยได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์เกิน ๑ ปี อันเป็นเหตุให้โจทก์หมดสิทธิเรียกคืนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๗๕ หรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นเรื่องต้องใช้อายุความทางอาญาแทนอายุความทางแพ่งนั้น โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาจึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
๔. คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท จำเลยต่อสู้ว่าเป็นของจำเลยและฟ้องแย้งขอให้แสดงว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องนั้น ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าโจทก์บุกรุกที่ของจำเลยเมื่อใดตรงไหน ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ส่วนที่โจทก์ว่าฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความนั้น แม้จะพิพาทกันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ แล้ว แต่จำเลยก็เป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทตลอดมา หาได้ถูกแย่งการครอบครองไปแต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลย จำเลยก็ฟ้องแย้งขอให้ศาลแสดงสิทธิ หาใช่ฟ้องเรียกคืนการครอบครองไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕
๕. ในปัญหาข้อเท็จจริง ฟังว่า ที่พิพาทหมายเลข ๑ และหมายเลข ๓เป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ครอบครองตลอดมาตามลำดับ ส่วนที่พิพาทหมายเลข ๒ นั้น นายสมบุญบุตรของจำเลยที่ ๒ ซื้อมาจากสามีของจำเลยที่ ๙แต่นายสมบุญไม่ได้เข้ามาเป็นจำเลยและให้บิดามารดาดำเนินการแทนดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๒ ฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินหมายเลข ๒เป็นของจำเลยที่ ๒ เองนั้น ศาลจึงพิพากษาให้ตามคำขอไม่ได้
๖. ฎีกาในประเด็นข้อ ๓ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ ๙ แล้วว่า โจทก์หมดสิทธิที่จะฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ แล้วเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกนางยุพาเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเสีย คืนค่าธรรมเนียมที่นางยุพาเสียมาทั้งหมด ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับนอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์