แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์สามีแต่งงานอยู่กินกันกับจำเลยหลังจากประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 โดยมิได้จดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระหว่างอยู่ด้วยกันเกิดบุตร 1 คน จำเลยได้แจ้งความต่อนายทะเบียนท้องถิ่นว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของจำเลยและใช้ชื่อบุคคลอื่นว่าเป็นบิดาของเด็ก ดังนี้ โจทก์ผู้เป็นสามีจะฟ้องจำเลยภริยานั้น ว่าบังอาจแจ้งความเท็จเพื่อให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 หาได้ไม่ เพราะโจทก์มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องคดีได้
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบังอาจแจ้งความต่อนายทะเบียนแขวงบางกอกน้อยว่า นายวิฑูรเป็นบิดาของเด็กชาย(ยังไม่มีชื่อ)กำพลพราวาซึ่งจำเลยได้ให้นายแพทย์ศิริราชทำคลอดให้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงโจทก์เป็นบิดาของเด็กชายคนนั้นโดยโจทก์กับจำเลยได้แต่งงานอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยประมาณ ๒-๓ ปี แต่มิได้จดทะเบียนสมรถกันตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗
ศาลชั้นต้นฟังว่า คดีพอพิพากษาได้แล้วไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องต่อไป แล้ววินิจฉัยว่า
๑.ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายความเสียหาย ความเสียหายหากมีก็มิอาจเห็นได้ง่าย ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม
๒.โจทก์ยังไม่มีทางที่จะอ้างอิงกฎหมายได้เลยว่าเป็นบิดาของเด็ก จึงไม่มีมูลอ้างว่าได้รับความเสียหาย และโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องกล่าวว่าโจทก์จำเลยแต่งงานอยู่กันกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส การแต่งงานของโจทก์จำเลยเป็นเวลาหลังจากประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ แล้ว เมื่อมิได้จดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยก็มิใช่ภรรยาโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรที่เกิดจากจำเลยจึงมิใช่บุตรของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายดุจกัน การที่จำเลยไปแจ้งความต่อนายทะเบียนว่า บุตรของจำเลยนายวิฑูรเป็นบิดานั้น โจทก์มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องคดีได้ พิพากษายืน