คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1142/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องหาว่าจำเลยลักพระเครื่องยอดธงที่เป็นพระพุทธรูปอันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนและเจ้าทรัพย์ โดยล้วงเอาไปจากกระเป๋าเสื้อของเจ้าทรัพย์ เหตุเกิดในบริเวณวัดนิกรชนารา ม.จำเลยให้การรับสารภาพ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเห็นได้ว่าพระเครื่องของกลางไม่อยู่ในฐานะอันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนไปได้ และจำเลยได้ลักล้วงเอาไปจากกระเป๋าเสื้อของเจ้าทรัพย์เช่นนี้ แม้เหตุลักทรัพย์จะเกิดในบริเวณวัด จำเลยยังไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักเอาธนบัตรชนิดต่าง ๆ รวม 100 บาท กับพระเครื่องยอดธงที่เป็นพระพุทธรูปอันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนและเจ้าทรัพย์ 1 องค์ พร้อมสร้อยคอเงิน 1 เส้น ราคา 500 บาท ของนายเมี้ยน คงดี ไปโดยทุจริต โดยจำเลยล้วงเอาไปจากกระเป๋าเสื้อของนายเมี้ยน เหตุเกิดในบริเวณวัดนิกรชนาราม ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 ทวิ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2512 มาตรา 3 และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 600 บาทแก่เจ้าทรัพย์

จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกประการ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 จำคุก 3 ปี รับสารภาพลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78คงจำคุก 2 ปี ที่โจทก์ขอให้ลงโทษตามมาตรา 335 ทวิ ด้วยนั้น เห็นว่า พระพุทธรูปที่จำเลยลักไปนั้น มิใช่เป็นพระพุทธรูปที่สักการะบูชาของประชาชนทั่วไป หรือเป็นพระพุทธรูปที่เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ จึงให้ยกคำขอข้อนี้ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 600 บาทแก่เจ้าทรัพย์

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 ทวิ วรรค 2 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2512 มาตรา 3 อีกด้วย ให้ลงโทษจำเลยตามบทนี้ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ลดโทษเพราะมีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงให้จำคุกจำเลย 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

มีความเห็นแย้งว่า ความผิดของจำเลยต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 เท่านั้น ควรพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาขอให้แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ จะต้องเป็นพระพุทธรูปที่เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนหรือเป็นพระพุทธรูปที่เป็นสมบัติของชาติ มิใช่เป็นพระพุทธรูปที่เป็นทรัพย์ส่วนบุคคล พระพุทธรูปของกลางในคดีนี้เป็นแต่เพียงพระเครื่องรางชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่าพระยอดธง เป็นทรัพย์ส่วนตัวของนายเมี้ยนซึ่งได้เกี่ยวไว้กับสร้อยคอเงินเพื่อใช้ห้อยคอ แต่นายเมี้ยนได้ใส่กระเป๋าเสื้อติดตัวไปเพราะนับถือว่าเป็นพระเครื่องที่คุ้มครองป้องกันอันตรายเพื่อตัวนายเมี้ยนโดยเฉพาะ แม้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องว่าพระเครื่องของกลางองค์นี้เป็นพระพุทธรูปอันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน แต่ก็เห็นได้ว่าพระเครื่องของกลางไม่อยู่ในฐานะอันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนไปได้ จึงไม่อาจถือได้ว่า พระเครื่องของกลางเป็นพระพุทธรูปที่เป็นที่สักการะบูชาของประชาชน และแม้เหตุลักทรัพย์จะเกิดในบริเวณวัดนิกรชนาราม ก็เป็นเรื่องลักทรัพย์โดยการล้วงกระเป๋าเสื้อของบุคคลตามปกติธรรมดา ไม่เป็นการลักพระพุทธรูปที่สักการะบูชาของประชาชนในวัดเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์พระพุทธรูปที่เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ วรรค 2 ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2512 มาตรา 3 อีกด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share