คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11418/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการยื่นใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ที่แต่งตั้งพนักงานอัยการจังหวัดตราดเป็นทนายความของจำเลยที่ 4 ระบุความว่า (กองทัพเรือ) จำเลยที่ 4 โดยพลเรือเอก พ. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนกองทัพเรือ และต่อมาในการยื่นใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ที่แต่งตั้งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นทนายความของจำเลยที่ 4 ระบุความว่า กองทัพเรือ (จำเลยที่ 4) โดยพลเรือเอก ส. (ไม่ปรากฏในฐานะอย่างใด) เหล่านี้ หาได้มีเอกสารใดยื่นประกอบให้สื่อความไว้ เมื่อกองทัพเรือ (จำเลยที่ 4) มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ การแต่งตั้งทนายความของจำเลยที่ 4 ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือจึงต้องเป็นผู้ลงลายมือชื่อแต่งทนายความ ดังนั้น การที่พลเรือเอก พ. หรือพลเรือเอก ส. ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือลงลายมือชื่อแต่งทนายความจำเลยที่ 4 โดยมิได้แนบหนังสือมอบอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ทั้งมิได้นำสืบพยานเอกสารในเรื่องเหล่านี้ไว้แต่อย่างใดด้วย จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 61 อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถือว่าเป็นการกระทำของบุคคลภายนอกที่ไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 4 ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 4 กรณีดังกล่าวเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกขึ้นวินิจฉัยได้ อย่างไรก็ดี ความบกพร่องในการแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และแก้ไขได้โดยง่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาไปถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งสี่เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ ตร.431 หมู่ที่ 2, 3 และ 4 ตำบลเกาะช้าง กิ่งอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด บางส่วน 30 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่หาดทรายขาวหมู่ที่ 4 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ให้จำเลยทั้งสี่ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ 60,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ทั้งสามและบริวารออกจากที่ดินและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินแปลงดังกล่าวของจำเลยที่ 1
โจทก์ทั้งสามให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของโจทก์ทั้งสามให้ยก ให้โจทก์ทั้งสามและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 4 กับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าว ให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2548 ที่รับใบแต่งทนายความและคำให้การของจำเลยที่ 4 โดยให้จำเลยที่ 4 ยื่นใบแต่งทนายความให้ถูกต้องตามกฎหมายกับยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2548 เหตุเพราะการยื่นใบแต่งทนายและคำคู่ความของจำเลยที่ 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้จำเลยที่ 4 ดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามรูปคดีนั้น ชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า เกี่ยวกับการยื่นใบแต่งทนายความและคำคู่ความของจำเลยที่ 4 ปรากฏแจ้งชัดว่า ในการยื่นใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ฉบับลงวันที่ 21 เมษายน 2548 ที่แต่งตั้งนายกิตติ พนักงานอัยการจังหวัดตราด เป็นทนายความของจำเลยที่ 4 ระบุความว่า กองทัพเรือ (จำเลยที่ 4) โดยพลเรือเอกพีรศักดิ์ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนกองทัพเรือ และในการยื่นใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2549 ที่แต่งตั้ง นายอิศระ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นทนายความของจำเลยที่ 4 ระบุความว่า กองทัพเรือ (จำเลยที่ 4) โดยพลเรือเอกสุชาต (ไม่ปรากฏในฐานะอย่างใด) เหล่านี้ หาได้มีเอกสารใดยื่นประกอบให้สื่อความไว้ ไม่ว่าหนังสือมอบอำนาจหรือสำเนาข้อบังคับหรือสำเนาคำสั่งใด ดังนี้ เมื่อตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2503 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 ซึ่งใช้บังคับขณะเวลานั้น กองทัพเรือ (จำเลยที่ 4) มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบการแต่งตั้งทนายความของจำเลยที่ 4 นี้ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือจึงต้องเป็นผู้ลงลายมือชื่อแต่งทนายความ ดังนั้น การที่พลเรือเอกพีรศักดิ์ก็ดี พลเรือเอกสุชาตก็ดี ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้ลงลายมือชื่อแต่งทนายความจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 มิได้แนบหนังสือมอบอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ หรือคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาการแทนผู้บัญชาการทหารเรือ หรือคำสั่งของจำเลยที่ 4 เรื่อง การมอบอำนาจสั่งการและทำการแทนในนามผู้บัญชาการทหารเรือมาแสดงประกอบใบแต่งทนายความเหล่านั้น ทั้งมิได้นำสืบพยานเอกสารในเรื่องเหล่านี้ไว้แต่อย่างใดด้วย จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61 ซึ่งบัญญัติว่า “การตั้งทนายความนั้น ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อตัวความและทนายความ แล้วยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน…ฯลฯ” อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีต่อมาโดยนายกิตติหรือนายอิศระ ย่อมถือว่าเป็นการกระทำของบุคคลภายนอกที่ไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 4 ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นคู่ความในคดี แม้โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์เถียงในปัญหานี้โดยไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่กรณีดังกล่าวเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกขึ้นวินิจฉัยได้ และแม้นายกิตติก็ดี นายอิศระก็ดี จะเป็นพนักงานอัยการซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 (2) (3) แห่งพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 ซึ่งใช้บังคับขณะเวลานั้น แต่การดำเนินคดีแทน หรือการรับแก้ต่างตามบทบัญญัติของ 2 อนุมาตรานี้ พนักงานอัยการมีฐานะอย่างเดียวกับทนายความ ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 พนักงานอัยการที่จะมีอำนาจดำเนินคดีแพ่งในศาลได้เยี่ยงคดีนี้ก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61 ดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น เนื่องเพราะมิใช่คดีอาญาที่พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ฟ้องร้องดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 (1) แห่งพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 ที่ว่า “ในคดีอาญา มีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่น ซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของกรมอัยการหรือพนักงานอัยการ” อย่างไรก็ดี ความบกพร่องในการแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และแก้ไขได้โดยง่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เฉพาะส่วนเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ที่ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share