แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ช.ขับรถยนต์ของโจทก์แซงรถผู้อื่นใกล้กับสี่แยกแล้วขับเข้าไปในบริเวณสี่แยกด้วยความเร็ว นับว่าเป็น การกระทำโดยประมาท สำหรับจำเลยที่ 1เมื่อขับรถมาถึงสี่แยกก็ชอบที่จะลดความเร็วของรถลงและตรวจดูให้ปลอดภัยเสียก่อนที่จะขับรถเข้าไปบริเวณสี่แยกแต่จำเลยที่ 1 กลับขับรถด้วยความเร็วโดยประมาทเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุ จึงเกิดชนกับรถยนต์ของโจทก์นับได้ว่าทั้งช.และจำเลยที่ 1 ต่างขับรถด้วยความประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของโจทก์และรถยนต์ของจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายจึงตกเป็นพับทั้งสองฝ่าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน 8 ย-9535 กรุงเทพมหานครมีนายชีพ วงศ์ราช เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์รับจ้างยี่ห้อซูซูกิ หมายเลขทะเบียน 3 ท-4540 กรุงเทพมหานคร วันที่ 28 เมษายน 2529 เวลา8 นาฬิกาเศษ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 คันดังกล่าวรับส่งคนโดยสารตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ไปตามซอยเสนานิเวศน์เมื่อถึงซอยเสนานิเวศน์ 115 ตอนซอย 117/1 กับซอย 117/2โฉมหน้าจะออกไปทางซอยเสนานิเวศน์ 1 จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดตัดหน้ารถยนต์ของโจทก์ซึ่งนายชีพเป็นผู้ขับรถออกจากซอยกรรณิการ์ 1 ผ่านสี่แยกซอยเสนานิเวศน์ 115ตัดกับซอยเสนานิเวศน์ 117/1 เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่ 1ชนรถยนต์ของโจทก์อย่างแรงจนกระเด็นขึ้นไปบนทางเท้าแล้วชนกำแพง โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 50,000 บาทขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 2 ด้วยความระมัดระวังโดยใช้ความเร็วตามปกติแต่ปรากฏว่านายชีพขับรถของโจทก์โดยประมาทด้วยความเร็วจนเกิดชนกันนั้น เช่นนี้ โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ขอคิดค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 15,000 บาทค่าเช่าระหว่างที่รถถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึด 168 วันคิดเป็นเงิน 25,200 บาท รวมกับค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน40,200 บาท อนึ่ง รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายแท้จริงไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 พร้อมค่าเสียหายอีกวันละ 150 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงิน19,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 28 เมษายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า เหตุละเมิดเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ และโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เพียงใด โจทก์มีนายพรชัย วุฒฑะกุล มาเบิกความเป็นพยานว่าในวันเกิดเหตุขณะนายพรชัยขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนโฉมหน้าไปทางสี่แยกที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์สี่ล้อเล็กยี่ห้อซูซูกิหมายเลขทะเบียน 3 ท-4540 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2แซง รถนายพรชัยด้วยความเร็วไปทางสี่แยกดังกล่าว นายพรชัยเห็นนายชีพขับรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน 8 ย-9535กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ ออกมาบริเวณสี่แยกก่อน เมื่อรถที่จำเลยที่ 1 ขับแล่นไปถึงสี่แยก จำเลยที่ 1 ได้หักรถหลบมาทางขวามือ แต่ไม่พ้น รถยนต์ทั้งสองคนจึงเกิดชนกันขึ้น ส่วนจำเลยที่ 2มีนายมนัส มูฮัมหมัด มีอาชีพขับรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้างมาเบิกความว่า ขณะนายมนัสขับรถมาตามทางเดินรถด้านซ้ายของถนนซอย 117 อีกประมาณ 20 เมตร จะถึงทางแยกที่เกิดเหตุเห็นนายชีพขับรถยนต์ของโจทก์ หมายเลขทะเบียน 8 ย-9535กรุงเทพมหานคร แล่นตามรถนายมนัสมาโดยใช้ความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วแซงรถนายมนัสเข้าไปบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุชนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งขับโดยจำเลยที่ 1 ที่แล่นมาจากถนนที่ตัดกับถนนซอยที่นายมนัสขับรถมาโดยชนกันตรงกลางสี่แยก เห็นว่า พยานทั้งสองปากนี้เป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียในคดี จึงมีน้ำหนักในการรับฟังการที่นายชีพขับรถยนต์ของโจทก์แซงรถผู้อื่นใกล้กับสี่แยกแล้วเข้าไปในบริเวณสี่แยกด้วยความเร็ว นับว่าเป็นการกระทำโดยประมาท สำหรับจำเลยที่ 1 เมื่อขับรถมาถึงสี่แยกก็ชอบที่จะลดความเร็วของรถลงและตรวจดูให้ปลอดภัยเสียก่อนที่จะขับรถเข้าไปบริเวณสี่แยก แต่จำเลยที่ 1 กลับขับรถด้วยความเร็วโดยประมาทเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุ จึงเกิดชนกับรถยนต์ของโจทก์ นับได้ว่าทั้งนายชีพและจำเลยที่ 1 ต่างขับรถด้วยความประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของโจทก์และรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ค่าเสียหายจึงตกเป็นพับทั้งสองฝ่ายที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้อง ด้วย”
พิพากษายืน