แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์อยู่ไม่มีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้แก่โจทก์เช่นนี้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ย่อมรู้ดีว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1แม้ในขณะที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2โจทก์จะยังไม่ได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และผู้ค้ำประกันชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีก็ถือว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ 2 จะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฉ้อฉลโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีความสนิทสนมกันมาก จำเลยที่ 2จึงน่าจะทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยที่ 1 ว่าขณะที่จำเลยที่ 1โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์อยู่ถือว่าขณะที่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 รู้ว่าการที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์เสียเปรียบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินดังกล่าวมาเป็นชื่อจำเลยที่ 1 ตามเดิม หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การว่าโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยสุจริตไม่ได้ฉ้อฉลโจทก์
จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตเปิดเผย และเสียค่าตอบแทน ไม่ได้ฉ้อฉล การกระทำของจำเลยที่ 2ไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1,500บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 945 ตำบลหนองกรด อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2ไปทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 945ดังกล่าวให้มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามเดิม หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล โดยกำหนดค่าทนายความรวม 1,500 บาทแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม2520 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดส่งดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือน จะชำระหนี้เมื่อโจทก์ทวงถาม นายบักเซี้ยง แซ่ฉั่วบิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฏตามสำเนาสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.3 โดยใช้บัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 เลขที่ 1728 เป็นบัญชีเดินสะพัด เมื่อวันที่ 31กรกฎาคม 2527 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี 486,646.21 บาท ปรากฏตามสำเนาหนังสือยืนยันยอดเงินเบิกเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.4 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2528 และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2528โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และนายบักเซี้ยงต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2529ให้จำเลยที่ 1 และนายบักเซี้ยงร่วมกันชำระเงิน 463,799.21 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 720/2529 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์ เอกสารหมาย จ.5คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 1 และนายศิวชัย ฉัตรมหากุลชัยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 945 ตำบลหนองกรดอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ คนละครึ่งเมื่อวันที่6 กันยายน 2527 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วน และสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 945 เอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ตามลำดับ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่า การซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2เป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาในข้อแรกว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ เพราะจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายก่อนที่โจทก์จะแจ้งยอดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ทราบการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกระทำก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 720/2529 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์ขณะทำสัญญาจะซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบัญชีของจำเลยที่ 1ยังเดินสะพัดอยู่ โจทก์ยังไม่มีเจตนาจะฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ขณะซื้อขายที่ดินจำเลยที่ 2 ไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่รู้ว่าโจทก์เสียเปรียบ ส่วนโจทก์กล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีการชำระราคาหรือเสียค่าตอบแทนในปัญหาตามที่จำเลยทั้งสองฎีกานั้น เห็นว่า แม้ในขณะที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ 2 โจทก์จะยังไม่ได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีก็ตาม แต่ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.8 เห็นได้ว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์อยู่ เพราะหลังจากโจทก์ได้แจ้งยอดหนี้ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2527 ให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1ก็ยังคงเป็นหนี้โจทก์ตลอดมาจนกระทั่งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2528 และฟ้องจำเลยที่ 1กับนายบักเซี้ยง เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 720/2529 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์ และจากข้อนำสืบของโจทก์จำเลยทั้งสองฟังได้ว่าในชั้นบังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 720/2529 ดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินคือรถยนต์ยี่ห้อเปอร์โยต์ ราคาประมาณ60,000 บาท ส่วนนายบักเซี้ยงมีทรัพย์สินรวมราคาประมาณ14,000 บาท เชื่อว่าขณะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้แก่โจทก์ เช่นนี้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ย่อมรู้ดีว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ดังนั้น แม้ในขณะที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น โจทก์จะยังไม่ได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และนายบักเซี้ยงชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ 2 จะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฉ้อฉลโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า นายเสรี ไทยใหญ่และนายเอก ณีศะนันท์ พยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1เป็นลูกพี่ลูกน้องกับนางสมจิตรภริยาจำเลยที่ 2 และนายเอกเบิกความต่อไปว่า จำเลยที่ 1 มารับประทานอาหารที่บ้านจำเลยที่ 2เป็นประจำและยังปรากฏตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวว่านายเสรีเองก็เป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 1 ส่วนนายเอกก็สนิทสนมกับจำเลยที่ 2 จนถึงกับเป็นหุ้นส่วนจัดสรรที่ดินกัน ดังนั้นพยานโจทก์ทั้งสองจึงย่อมมีโอกาสที่จะทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางสมจิตรได้ นอกจากนั้นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองยังสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เองที่ว่านายบักเซี้ยงบิดาจำเลยที่ 1 และนายสง่าหรือแจะเซียมบิดานางสมจิตร มีนามสกุลเดียวกันคือ แซ่ฉั่ว ทั้งยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อครั้งจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์เมื่อปี 2523 จำนวน 200,000 บาท นายสง่าเป็นผู้ค้ำประกันให้ ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และนางสมจิตร โลหะรังสิกุลก็ฟังได้ว่าที่ดินและบ้านที่จำเลยที่ 1 พักอาศัยเป็นของนายสง่าจำเลยที่ 1 อาศัยอยู่มาประมาณ 10 ปีแล้ว ข้อเท็จจริงเหล่านี้สนับสนุนให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และนางสมจิตรเป็นญาติกันดังที่พยานโจทก์เบิกความ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักน่ารับฟัง ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นญาติกับนางสมจิตร จำเลยที่ 1 เคยเป็นเพียงลูกจ้างนายสง่านั้นก็เป็นคำเบิกความลอย ๆ ของจำเลยที่ 1 และนางสมจิตร ไม่มีน้ำหนักเหมือนข้อเท็จจริงที่สนับสนุนให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นญาติกับนางสมจิตรดังได้กล่าวมาแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นญาติกับนางสมจิตรภริยาจำเลยที่ 2 นอกจากนั้นยังปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 เองก็รู้จักจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2511 บ้านพักอาศัยก็อยู่ห่างกันเพียงประมาณ 40-50 เมตร ดังนี้ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2จะต้องมีความสนิทสนมกันมาก ดังจะเห็นได้จากที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องข้อหาฉ้อโกงเจ้าหนี้ที่ศาลแขวงนครสวรรค์ จำเลยที่ 2 และนางสมจิตรก็ช่วยเหลือประกันตัวเช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงน่าจะทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยที่ 1ที่ขณะที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 นั้นจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์อยู่ ถือได้ว่าขณะที่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 รู้ว่าการที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 นั้นทำให้โจทก์เสียเปรียบ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 รู้ว่าจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ และขณะที่จำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็รู้ว่าการโอนดังกล่าวทำให้โจทก์เสียเปรียบเช่นนี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ต่อไป เพราะไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตามโจทก์ก็มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน