คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1140/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าประเภทผ้าฝ้าย (จำพวก 24)ไม่มีสิทธิคุ้มครอง ไม่ให้จำเลยใช้เครื่องหมายคล้ายกันสำหรับสินค้าประเภทไหมเทียม (จำพวก 50) กรณีไม่ใช่แย่งกันเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เพราะเป็นสินค้าคนละประเภท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายสวิส และได้แต่งตั้งให้นายแฮนส์ ยุกเกอร์แห่งบริษัทดีทแฮล์ม จำกัด ที่จังหวัดพระนครเป็นผู้ฟ้องร้องคดีได้ดังปรากฏตามสำเนาและคำแปลท้ายฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลโดยจำเลยที่ 2-3 เป็นหุ้นส่วนและผู้จัดการ โจทก์เป็นผู้ผลิตผ้าฝ้าย ผ้าป่าน ผ้าไหมเทียมและเรยองใช้เครื่องหมายการค้าว่า “สปอรตติง” มาช้านานกว่า 10 ปีแล้วและได้ส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยนานกว่า 5 ปีแล้วเครื่องหมายการค้านี้โจทก์ได้จดทะเบียนแล้วในประเทศไทย ทะเบียนเลขที่ 12095 สินค้าของโจทก์แพร่หลายจนประชาชนทั่วไปรู้จักดีว่าผ้าสปอรตติงเป็นผ้าที่มีคุณค่าและมีประโยชน์จนเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนทั่วไป จนเป็นลักษณะบ่งเฉพาะของสินค้าโจทก์ จำเลยรู้หรือควรรู้ถึงชื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวแล้วแต่จำเลยมิได้เคารพต่อสิทธิของโจทก์ โดยระหว่าง พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา ถึงวันฟ้อง จำเลยได้เสนอขายและขายผ้าเป็นจำนวนประมาณ 30,000 หลา ในประเทศไทย ซึ่งมีเครื่องหมายการค้าเป็นอักษรโรมันว่า “Sporting” หรือเลดี้สปอรตติง 100% ไม่ยับไม่หดอยู่ที่ริมผ้าของจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ประชาชนเข้าใจผิดหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ขายสินค้าลดน้อยลงขาดผลกำไรอันควรมีควรได้เป็นการเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้ศาลห้ามมิให้จำเลยหรือตัวแทนเสนอขายสินค้าผ้าอันมีชื่อหรือเครื่องหมายการค้า “Sporting” ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า โจทก์จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายสวิสและการมอบอำนาจให้นายแฮนส์ ยุกเกอร์ ฟ้องคดีนี้จะสมบูรณ์หรือไม่ จำเลยขอปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจริง จำเลยขอปฏิเสธว่า โจทก์จะเป็นผู้ผลิตผ้าฝ้ายและผ้าต่าง ๆ โดยใช้เครื่องหมายการค้าว่าสปอรตติ้ง และส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหรือไม่ จำเลยไม่ทราบหากจะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 12095 จริง เครื่องหมายนั้นก็สำหรับสินค้าจำพวก 24 ประเภทผ้าฝ้ายเท่านั้น ไม่คุ้มครองถึงผ้าไหมเทียมหรือผ้าชนิดอื่น จำเลยไม่เคยจำหน่ายผ้าฝ้ายซึ่งมีเครื่องหมายการค้าว่า “Sporting” เลยทั้งโจทก์ไม่เสียหายจริงตามฟ้อง คำว่า Sporting ไม่มีลักษณะอย่างอื่นบ่งเฉพาะเป็นพิเศษ หากเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนไว้โจทก์ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เพราะขัดต่อมาตรา 4 อนุมาตรา 1 และ 5 จำเลยรับว่าได้ขอจดทะเบียนการค้า คำว่า Lady Sporto (เลดี้สปอรตโต) และ Ladies Super Sporting (เลดี้ซูเปอร์สปอรตติ้ง) ในจำพวกสินค้าที่ 50 ประเภทผ้าไหมเทียมจำเลยจึงมีสิทธิจะใช้เครื่องหมายการค้าขายของจำเลยได้โดยชอบธรรมในสินค้าไหมเทียมไม่เป็นการละเมิดสิทธิ ไม่ทำให้ประชาชนหลงผิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์ การที่โจทก์ขายสินค้าได้น้อยก็เพราะมีพ่อค้าอื่นสั่งสินค้าอย่างเดียวกับสินค้าของโจทก์ หรือคล้ายคลึงจากประเทศอื่น ๆ เข้ามาจำหน่ายแข่งขันในตลาด กับตัดฟ้องว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม

ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ส่งหมายให้ไม่ได้ โจทก์ขอถอนฟ้องศาลอนุญาต

ในชั้นนัดชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวกที่ 24 คือ ผ้าฝ้ายไว้ ส่วนจำเลยได้ขอจดทะเบียนในจำนวนที่ 50 คือ ไหมเทียม แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับจดทะเบียนให้ โจทก์ยอมรับว่า สินค้าผ้าที่ฟ้องว่าจำเลยจำหน่ายในฟ้องข้อ 5 นั้น เป็นสินค้าผ้าไหมเทียมและเรยองไม่ใช่ผ้าฝ้ายตามที่จดทะเบียนไว้

ศาลแพ่งสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ปรึกษาเห็นว่า ข้อเท็จจริงเท่าที่คู่ความทั้งสองฝ่ายรับกันแล้วนั้น ได้ความชัดว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำพวกที่ 24 คือ ผ้าฝ้ายและยอมรับว่าสินค้าผ้าที่ฟ้องว่าจำเลยจำหน่ายในฟ้องข้อ 5 นั้น เป็นสินค้าผ้าไหมเทียมและเรยองไม่ใช่ผ้าฝ้ายตามที่จดทะเบียนไว้ ฉะนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า โจทก์มีสิทธิอย่างใดที่จะห้ามจำเลยหรือตัวแทนของจำเลยใช้เสนอขายหรือขายสินค้าผ้า อันมีชื่อหรือเครื่องหมายการค้า Sporting “สปอรตติ้ง” และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ทั้งนี้เป็นเรื่องจะต้องพิเคราะห์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 เพราะมีรายการระบุไว้ สำหรับจำพวกสินค้าต่าง ๆในท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อเทียบข้อเท็จจริงที่รับกันนั้นก็เห็นได้ว่า โจทก์ได้จดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 24 คือผ้าฝ้าย หาได้ขอจดทะเบียนสำหรับผ้าไหมเทียมและเรยองในจำพวกสินค้าที่ 50 ไว้แต่อย่างใด รูปคดีต้องตาม มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ดังที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัย กล่าวคือโจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองในเครื่องหมายดังกล่าวเฉพาะผ้าฝ้ายเท่านั้นโจทก์จะนำคดีมาสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นไม่ได้ ข้อที่โจทก์กล่าวในอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์อาศัยหลักแห่งการละเมิดด้วยนั้น เห็นได้ว่าเมื่อสิทธิของโจทก์มีอยู่เฉพาะเครื่องหมายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น ไฉนการกระทำของจำเลยจึงจะเป็นการละเมิด ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวน นั่งฟังคำแถลงการณ์และประชุมปรึกษาคดีแล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเพื่อป้องกันและเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้า ซึ่งในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ได้บัญญัติไว้ว่า เมื่อได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ 5 ปีแล้ว ผู้ใดจะนำคดีมาสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหาย ในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นไม่ได้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ปรากฏชัดว่า โจทก์ได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 24 เท่านั้นมาตรา 27 บัญญัติว่า บุคคลผู้ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ท่านให้ถือว่าเป็นเจ้าของมีสิทธิผู้เดียวเพื่อใช้เครื่องหมายสำหรับสินค้าทั้งหมดในจำพวกหนึ่ง หรือหลายจำพวกที่ได้จดทะเบียนไว้ เครื่องหมายการค้า สปอรตติ้ง ที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกไหมเทียม ซึ่งโจทก์รับข้อเท็จจริงว่า จำเลยกำลังจะไปขอจดทะเบียนในจำพวกที่ 50 แห่งรายการจำพวกสินค้าท้ายพระราชบัญญัติดังนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิอย่างใดที่จะนำคดีมาสู่ศาล เพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการที่จำเลยเสนอขายสินค้าไหมเทียมที่มีเครื่องหมายการค้าเป็นอักษรโรมันว่า “Sporting” หรือ เลดี้สปอรตติ้ง 100% ไม่ยับไม่หดเพราะไม่ใช่เครื่องหมายสำหรับสินค้าจำพวกที่โจทก์จดทะเบียนไว้

สำหรับข้อที่โจทก์อ้างว่า แม้โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ก็ยังมีสิทธินำคดีมาฟ้องได้ อ้างฎีกาที่ 1843/2497 ระหว่างนายอัลเบิร์ต เฮ้าสเล่อร์ โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสำหรับคดีของโจทก์นี้โจทก์มิได้ตั้งรูปคดีขึ้นมาว่าโจทก์เป็นเจ้าของอันแท้จริงของเครื่องหมายการค้าสำหรับไหมเทียมที่จำเลยขายหรือเสนอขายนั้นคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างอิงนั้น เป็นเรื่องต่างคนต่างแย่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอันเดียวกัน สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันคดีนี้โจทก์มิได้อ้างแต่อย่างไรเลยว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในสินค้าที่จำเลยขายหรือเสนอขาย อันจะเป็นกรณีต้องด้วยบัญญัติ มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 ที่ให้สิทธิผู้ขอจดทะเบียนที่ขอซ้ำกันนำคดีไปสู่ศาลได้ในเมื่อมีบุคคลหลายคนต่างคนต่างอ้างว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอันเดียวกันหรือเกือบเหมือนกัน ใช้สำหรับสินค้าเดียวหรือชนิดเดียวกัน กรณีของโจทก์แม้จะฟังว่าเป็นเครื่องหมายเกือบเหมือนกัน แต่ก็ใช้สำหรับสินค้าต่างกันคนละจำพวก โจทก์ไม่มีสิทธิอันใดในเครื่องหมายการค้าที่ใช้สำหรับสินค้าที่จำเลยใช้ในการขายหรือเสนอขาย โจทก์จะอ้างว่าจำเลยแย่งเป็นเจ้าของหรือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างใดไม่ได้ คำพิพากษาศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ให้ยกเสียโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามให้โจทก์เสียค่าทนายความในชั้นนี้อีก 1,000 บาทแทนจำเลยด้วย

Share