แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะได้แสดงสวนหย่อมไว้ในใบโฆษณาและอาคารจำลองก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าอาคารทุกหลังในโครงการที่จำเลยเสนอขายนี้ได้ตอกเสาเข็มไว้แล้วก่อนเปิดขาย มีเสาเข็มหลังละประมาณ 200 ต้น แต่ละต้นเหลือส่วนบนโผล่ พ้นดินประมาณ 2 เมตร และโจทก์รู้เห็นว่าจะมีการก่อสร้างอาคาร ตรงที่ระบุว่าเป็นสวนหย่อม ทั้งโจทก์รับมอบห้องชุดจากจำเลย หลังทำสัญญาจะซื้อจะขาย 2 ปีเศษอาคารชุดที่พิพาทก่อสร้าง ไปได้ 3 ชั้นแล้ว การที่โจทก์รู้เห็นการก่อสร้างอาคารชุด ที่พิพาทมาโดยตลอด แต่โจทก์ก็ยังคงเข้าทำสัญญาและติดต่อ ปฏิบัติตามสัญญาตลอดมาแสดงว่าโจทก์หาได้ถือว่า การจะมี สวนหย่อมหน้าอาคารชุดหลังที่โจทก์จะซื้อห้องชุดหรือไม่ ย่อมไม่เป็นสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้ผิดสัญญา โจทก์ย่อม ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2537 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันทำสัญญาจะขายห้องชุดหมายเลข 622 ชั้น 6 อาคาร ดี ในอาคารชุดชลนทีคอนโดทาวน์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ในราคา 595,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองได้แสดงตัวอย่างอาคาร ดี ย่อส่วนมีสวนหย่อมไว้ ทั้งได้พรรณนาในใบโฆษณาว่าจะจัดทำสวนหย่อมโดยแสดงรูปภาพของอาคาร และสวนหย่อมไว้ชัดแจ้ง โจทก์ผ่อนชำระเงินดาวน์จนครบ 178,600 บาท ตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่จัดทำสวนหย่อมกลับก่อสร้างอาคารขึ้นบนพื้นที่ที่จะทำสวนหย่อมหน้าอาคาร จึงถือว่าจำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 227,221 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 202,385 บาทและค่าเช่าบ้านเดือนละ 2,600 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า รูปสวนหย่อมในใบโฆษณาขายอาคารชุดชลนทีคอนโดทาวน์ของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงทัศนียภาพสมมุติและใบโฆษณาดังกล่าวมิใช่ส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขาย ในแผนผังแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายไม่มีสวนหย่อมแต่อย่างใด หลังจากโจทก์ชำระเงินดาวน์ครบแล้วโจทก์ได้ตรวจรับห้องชุดที่พิพาท โดยรับว่าถูกต้องตามมาตราฐานและแบบระหว่างนัดโอนกรรมสิทธิ์โจทก์ขอเข้าอยู่อาศัยแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมโจทก์ไม่เคยโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยไม่ทำสวนหย่อมต่อมาจำเลยที่ 1 นัดโจทก์ให้รับโอนห้องชุดดังกล่าว แต่โจทก์เพิกเฉยและบอกเลิกสัญญาโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและมิได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาเสียก่อน จำเลยที่ 1 ยังได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 โจทก์ได้รับหนังสือนั้นแล้วเพิกเฉย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกันตามฟ้อง มีปัญหาวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า ฝ่ายจำเลยผิดสัญญาเพราะเหตุไม่สร้างสวนหย่อมหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะได้แสดงสวนหย่อมไว้ในใบโฆษณาและอาคารจำลอง แต่จำเลยก็มีเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 คือนายเดชา เตียวตระกูล ผู้ควบคุมงานก่อสร้างมาเบิกความเป็นพยานว่า อาคารทุกหลังในโครงการนี้ได้ตอกเสาเข็มไว้แล้วก่อนเปิดขาย มีเสาเข็มหลังละประมาณ 200 ต้น แต่ละต้นเหลือส่วนบนโผล่ พ้นดินประมาณ 2 เมตร โจทก์ไม่เคยโต้แย้งการก่อสร้างอาคาร ซี พยานจำเลยดังกล่าวมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าเบิกความตามความจริงฟังได้ว่าโจทก์รู้เห็นว่าจะมีการก่อสร้างอาคารตรงที่ระบุว่าเป็นสวนหย่อม นอกจากนี้ยังปรากฏตาม ใบรับมอบบ้าน ลงวันที่ 14 มกราคม 2538 เอกสารหมาย ล.3 ว่าโจทก์รับมอบห้องชุดจากจำเลยที่ 1 หลังทำสัญญาจะซื้อจะขาย 2 ปีเศษ โดยมีข้อความรับรองว่าการก่อสร้างได้มาตรฐาน เอกสารฉบับนี้นายเดชาพยานโจทก์เป็นผู้ทำแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งนายเดชาเบิกความยืนยันว่า ขณะทำเอกสารฉบับนี้ อาคาร ซี ก่อสร้างไปได้ 3 ชั้นแล้ว ดังนี้ ย่อมรับฟังได้ว่า โจทก์รู้เห็นการก่อสร้างอาคาร ซี มาโดยตลอด แต่โจทก์ก็ยังคงเข้าทำสัญญาและติดต่อปฏิบัติตามสัญญาตลอดมา แสดงว่าโจทก์หาได้ถือว่า การจะมีสวนหย่อมหน้าอาคารชุดหลังที่โจทก์จะซื้อห้องชุด หรือไม่มีเป็นสาระสำคัญไม่ จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา
พิพากษายืน