คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1132/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เช่าซื้อรถ ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนผู้ให้เช่าซื้อเลิกสัญญาและติดตามเอารถคืน ผู้ให้เช่าซื้อเรียกค่าเสียหายได้ มิใช่เรียกเอาเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างได้ทุกงวด ค่าเสียหายนั้น ถ้าไม่ปรากฏตามที่นำสืบ ศาลกำหนดให้ตามสมควร หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ใช่แปลงหนี้ใหม่ ถ้าไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามจำนวนในหนังสือรับสภาพหนี้ ศาลก็ไม่ให้ใช้เงินตามที่รับสภาพไว้ เช็คที่ออกให้ตามสัญญาเช่าซื้อก็ไม่มีมูลหนี้ที่จะต้องชำระ
ค่าซ่อมแซมทรัพย์ที่เช่าซื้อเพราะเสียหายนอกเหนือกว่าการใช้ทรัพย์โดยชอบ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิด
ดอกเบี้ยในต้นเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างกับค่าติดตามเก็บเงินที่ค้างต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ตามสัญญา เงินอื่นๆนอกนั้นไม่อยู่ในสัญญา จึงเสียดอกเบี้ยร้อยละ 71/2 ต่อปี

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 444,232.50 บาท แก่โจทก์กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้อง ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนเงิน ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 591,200 บาท โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2512 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถดันไปจากโจทก์ในราคา 1,000,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 100,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระต่อไปอีก 30 งวด ตามเอกสารหมาย จ.3 และได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ไปจากโจทก์อีก 1 คันในราคา 495,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 150,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระต่อไปอีก 12 งวด ตามเอกสารหมาย จ.4 แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเกินกว่า 2 งวดติดต่อกันต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2513 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดเวลาผ่อนชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระกันใหม่โดยทำเป็นบันทึกต่อท้ายสัญญาโดยรถดันแบ่งออกเป็น 23 งวด ส่วนรถแทรกเตอร์แบ่งออกเป็น 7 งวดตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อรถดันได้ 2 งวดและค่าเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ได้ 3 งวดก็ผิดนัดไม่ชำระอีก เมื่อวันที่ 3 มีนาคม2514 โจทก์จึงทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างและบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.10 ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม2514 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้กับโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อโจทก์คือรถดันตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม 2513 ถึงกรกฎาคม2514 รวม 12 งวด เป็นเงิน 360,000 บาท รถแทรกเตอร์ตั้งแต่งวดเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2513 รวม 4 งวด เป็นเงิน 110,000 บาท รวมเป็นเงิน 470,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะผ่อนชำระให้โจทก์เดือนล 90,000บาท ภายในวันที่ 28 ของเดือนทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2514 จนกว่าจะครบ ผิดนัดชำระงวดใด้ให้ถือว่าผิดนัดทุกงวด ยอมให้โจทก์บังคับชำระเงินได้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี มีรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.11 และจำเลยที่ 2 ได้ออกเช็คล่วงหน้าชำระหนี้ให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 รวม 5 ฉบับ ๆ ละ 40,000 บาท สั่งจ่ายวันที่ 28 ของเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม 2514 และวันที่ 2 ธันวาคม 2514 เมื่อเช็คฉบับสั่งจ่ายวันที่ 28 กันยายน และวันที่ 28 ตุลาคม 2514 ถึงกำหนด โจทก์นำเช็คเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนออกหมายจับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการห้างฯ จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ออกเช็คฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน2514 สั่งจ่ายเงิน 180,000 บาท และเอาเช็คฉบับลงวันที่ 28 พฤศจิกายนและ วันที่ 28 ธันวาคม 2514 คืนไป เช็คฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน และวันที่ 2 ธันวาคม 2514 ก็ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นเดียวกันจำเลยที่ 1 เอารถทั้ง 2 คัน ที่เช่าซื้อไปใช้งานที่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรีและจังหวัดแพร่ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดและโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1แล้ว โจทก์จึงไปยึดรถทั้ง 2 คันคืนมาจากจำเลยที่ 1 จากจังหวัดแพร่

ปัญหาวินิจฉัยมีว่า เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์มีสิทธิเพียงใด คดีมีประเด็นตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า

(1) โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างจำนวน 470,000 บาทได้หรือไม่

(2) ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งผิดนัดไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองมาทั้ง 2 คันที่เช่าซื้อคันละ 10,000 บาทต่อเดือน รวมเป็นเงิน 310,000 บาท เป็นการเกินสมควรหรือไม่

(3) ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าซ่อมรถทั้งสองคันแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 281,200 บาท เป็นการเกินสมควรหรือไม่

(4) จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็ค 4 ฉบับเป็นเงิน 450,000 บาท ที่ออกให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแทน จำเลยที่ 1 หรือไม่

(5) โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินที่ค้างชำระได้หรือไม่

ในประเด็นข้อ (1) และข้อ (4) นั้น จะได้วินิจฉัยรวมกันไป เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 หาได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ไว้โดยชัดแจ้งนอกเหนือไปจากการกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อและริบเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ส่งไปแล้วแต่ประการใดไม่ ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 11985/2511 ระหว่าง บริษัท ร.ส.พ. ยานยนต์ จำกัดฯ โจทก์ นายสุผลิต อ่ำพันธุ์ กับพวกจำเลย ตามที่ศาลล่างทั้งสองยกขึ้นอ้างว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ โจทก์จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไม่ได้ คงเรียกได้แต่เพียงค่าที่จำเลยได้ใช้ทรัพย์ของโจทก์มาตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังครอบครองทรัพย์ของโจทก์อยู่ และค่าสินไหมทดแทนในการที่ทรัพย์เสียหายเพราะเหตุอื่นอันจำเลยต้องรับผิดนอกเหนือไปจากความเสียหายอันเกิดแต่การใช้รถนั้นโดยชอบ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้าง 470,000 บาทได้ ที่โจทก์ฎีกาว่าคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงคดีนี้ เพราะคดีนี้จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ตามเอกสารหมาย จ.11 และจำเลยที่ 2 ยังได้ออกเช็คชำระค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระให้โจทก์ไว้ 4 ฉบับตามเอกสารหมาย จ.16, จ.20, จ.24 และอีกฉบับหนึ่งอยู่ในสำนวนการสอบสวนรวมเป็นเงิน 450,000 บาทนั้น เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ แต่เป็นหนังสือแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียวว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่ตามหนังสือรับสภาพหนี้ มีผลแต่เพียงทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงคงมีมูลหนี้อยู่ตามเดิม เมื่อมูลหนี้เดิมตามหนังสือรับสภาพหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จะมาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ได้ ส่วนเช็คที่จำเลยที่ 2 ออกให้โจทก์เพื่อชำระค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างแก่โจทก์นั้น เมื่อตามกฎหมายจำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแก่โจทก์เพราะมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกันแล้ว มูลหนี้ตามเช็คก็ไม่มี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามเช็คได้เช่นกัน ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแต่กลับให้การว่า หากโจทก์จะใช้สิทธิฟ้องร้องเอากับจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ชอบที่จะฟ้องเรียกเงินตามเช็คเอากับจำเลยที่ 1 ได้แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เกี่ยวกับความเสียหายอื่นโจทก์หามีสิทธิที่จะฟ้องเรียกร้องเอากับจำเลยที่ 1ไม่ จึงเป็นข้อรับกันว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเช็คนั้นได้ เห็นว่าจำเลยให้การโดยมีเงื่อนไข เพราะจำเลยที่ 1 ได้ให้การปฏิเสธไว้แล้วว่าจำเลยที่ 1 มิได้ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องหนี้เงินและดอกเบี้ยพร้อมทั้งค่าเสียหายต่าง ๆ เอากับจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เป็นคำให้การรับตามฟ้องโดยไม่มีข้อต่อสู้ดังนั้น เมื่อไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิด ศาลก็พิพากษาไม่ให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้

สำหรับในประเด็นข้อ (2) นั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบให้ปรากฏโดยชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายเท่าใด ศาลจึงคำนวณกำหนดให้ตามที่เห็นสมควร สำหรับรถดันนั้น จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2512 เป็นเงิน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้วเพียง 360,000 บาท จำเลยที่ 1 จะต้องผ่อนส่งค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่ 640,000 บาทต่อไปอีก 21 งวด งวดละ 30,000 บาท เว้นแต่งวดสุดท้าย 40,000 บาท ตั้งแต่งวดวันที่ 30 สิงหาคม 2513 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2515 จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้ประโยชน์รถดันของโจทก์ระหว่างผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2513 ถึงเดือนธันวาคม 2514 ซึ่งโจทก์ไปยึดรถคืนมาเป็นเวลา 16 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ผิดนัดก็จะต้องชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เดือนละ 30,000 บาท ทั้งตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.11 จำเลยที่ 1 ก็รับรองว่าหากผิดนัดชำระเงินค่าเช่าซื้องวดใดจะนำรถมาคืนให้โจทก์ทันที หากว่ามอบคืนล่าช้ายอมชดใช้ค่าเสียหายให้ในอัตราคันละ 30,000 บาทต่อเดือน ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์สำหรับรถดันเดือนละ 10,000 บาท 16 เดือน เป็นเงิน 160,000 บาทเป็นการเหมาะสมแล้ว แต่สำหรับรถแทรกเตอร์นั้น จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปจากโจทก์วันเดียวกันเป็นเงิน 495,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้ว 385,000 บาท จำเลยที่ 1 จะต้องผ่อนส่งค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่ 110,000 บาท ต่อไปอีก 4 งวด งวดละ 30,000 บาท เว้นแต่งวดสุดท้าย 20,000 บาท เมื่อคำนึงถึงราคา จำนวนค่าเช่าซื้อที่ค้าง จำนวนงวดที่ค้าง โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ถึงครึ่งของรถดัน จึงสมควรลดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ สำหรับรถแทรกเตอร์ลงกึ่งหนึ่งจากที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้เดือนละ 10,000 บาท เป็น 5,000 บาท จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้ประโยชน์รถแทรกเตอร์ของโจทก์ภายหลังจากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเดือนกันยายน 2513 ถึงเดือนธันวาคม 2514 ซึ่งโจทก์ไปยึดรถคืนมาเป็นเวลา 15 เดือน เป็นค่าเสียหาย 75,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายของรถทั้ง 2 คัน เป็นเงิน 235,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 15-16 เดือนแล้ว โจทก์จึงไปยึดรถคืนมา จึงเป็นความผิดของโจทก์ และในระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้รถทั้ง 2 คันตลอดระยะเวลา เพราะรถชำรุดเสียหายต้องหยุดใช้งานเพื่อทำการซ่อม จำเลยที่ 1 ใช้รถทั้ง 2 คันในระหว่างผิดนัดไม่เกิน 6 เดือน รถทั้ง 2 คัน จำเลยที่ 1 เช่าซื้อมาแต่เดือนมกราคม 2512 จำเลยที่ 1 เพิ่งผิดสัญญาเมื่อเดือนสิงหาคม 2514 รวมระยะเวลาที่รถทั้ง 2 คัน ถูกใช้งานมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ขีดความสามารถย่อมลดลงข้อเหล่านี้ควรจะนำมาประกอบการวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ไม่เกินคันละ 3,000 บาทต่อเดือนนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2513 แต่ก็ได้มาทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2514 โดยกำหนดชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระกันใหม่ แล้วจำเลยที่ 1 ก็ผิดนัดอีก ทั้งยังทำผิดสัญญานำรถทั้ง 2 คัน จากจังหวัดราชบุรีหลบหนีโจทก์ไปใช้งานที่จังหวัดแพร่ โจทก์ไปติดตามยึดรถทั้ง 2 คันคืนมาได้เมื่อเดือนธันวาคม2514 และตามหนังสือรับสภาพหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 1 จะต้องนำรถทั้ง 2 คันมาคืนให้โจทก์ จะว่าเป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่รีบไปยึดรถคืนไม่ได้ ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5(ล) มีว่าจำเลยที่ 1จะแจ้งให้โจทก์ทราบทันทีในกรณีที่รถและอุปกรณ์ดังกล่าวไม่อยู่ในสภาพที่ใช้การได้หรือเสียหาย แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า ภายหลังจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแล้วรถทั้ง 2 คันชำรุดเสียหายต้องหยุดใช้งานทำการซ่อมเป็นเวลา 9-10 เดือนทั้งการนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่ารถทั้ง 2 คันต้องหยุดทำการซ่อมก็ฟังไม่ได้ว่าใช้เวลาซ่อมเป็นระยะเวลานานเท่าใด ก่อนหรือหลังจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ จึงไม่มีเหตุที่จะยกเอาข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เหล่านี้มาประกอบการวินิจฉัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1

ส่วนประเด็นข้อ (3) นั้น โจทก์นำสืบว่า เมื่อนายจิโรจน์ มกรมณีทนายความของโจทก์ยึดรถทั้ง 2 คันได้ที่จังหวัดแพร่ซึ่งอยู่ห่างตัวเมืองประมาณ 30 กิโลเมตรแล้ว ได้จ้างรถเทรเล่อร์บรรทุกมากรุงเทพฯ แล้วได้ให้ช่างของโจทก์ตรวจสภาพรถปรากฏว่ารถทั้ง 2 คันทรุดโทรมมากร้อยตรีธรรมนูญ เปรมสุนทร ผู้จัดการฝ่ายเครื่องจักรกล และนายสมเจตน์ดุณวุฒิฤทธิรณ หัวหน้าช่างแผนกซ่อมของโจทก์เบิกความว่า รถทั้ง 2 คันชำรุดทรุดโทรม แสดงว่าในระหว่างใช้ไม่มีการซ่อมเลย จึงได้ทำการซ่อมรถทั้ง 2 คันตามรายการเอกสารหมาย จ.62 และ จ.63 คิดเป็นเงิน 281,300 บาท นายวิชัย วิรัตน์โยสินทร์ หัวหน้าดูแลกิจการเหมืองของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 2 ที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ พยานจำเลยที่ 1ก็เบิกความเจือสมว่า รถทั้ง 2 คันนี้ คันหนึ่งใช้ดันแร่ อีกคันหนึ่งใช้ตักแร่เหมือนตักหินนั่นเองซึ่งเป็นงานหนัก ๆ ทำงานประมาณวันละ 4-5 ชั่วโมง แม้จะปรากฏว่าขณะที่ซ่อมรถนั้น รถทั้ง 2 คันนี้เคลื่อนที่ได้ ทำงานได้ แต่ก็ทำงานไม่ได้ผลเต็มที่ ในฎีกาของจำเลยที่ 1 อ้างว่ารถทั้ง 2 คันนี้หากจะต้องซ่อมก็ไม่น่าจะเกิน 100,000 บาท เป็นการยอมรับว่ารถทั้ง 2 คันของโจทก์ได้มีการใช้งานจนชำรุดทรุดโทรมมากจริง ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าก่อนที่โจทก์ไปยึดรถทั้งสองคันคืนมาจำเลยที่ 1 ได้ทำการซ่อมแซมไปแล้วสิ้นเงินไปเกือบ 200,000 บาท นั้นพยานจำเลยที่ 1 ให้การแตกต่างกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 เบิกความว่าทำการซ่อมเมื่อนำรถทั้ง 2 คันไปใช้ที่จังหวัดแพร่แล้ว ประมาณต้นปี 2513 แต่นายวิชัย วิรัตน์โยสินทร์ พยานจำเลยเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ส่งรถทั้ง 2 คันของโจทก์ไปใช้งานที่จังหวัดแพร่พร้อมกัน เมื่อ พ.ศ. 2515 ซึ่งก็ขัดกับหลักฐานพยานเอกสารที่โจทก์อ้างตามเอกสารหมาย จ.67 ถึง จ.92 ว่า โจทก์ไปยึดรถทั้ง 2 คัน ที่จังหวัดแพร่ เมื่อเดือนธันวาคม 2515 ส่วนนายสมบุญ ทองนุ่ม พยานจำเลยที่รับจ้างซ่อมรถให้จำเลยและมีอู่ซ่อมอยู่ที่จังหวัดราชบุรีเบิกความว่าได้ซ่อมรถทั้ง 2 คันนี้ที่อู่ซ่อมของพยานที่จังหวัดราชบุรีเป็นค่าซ่อมเกือบสองแสนบาท จำเลยที่ 1 มีรถแทรกเตอร์ 7-8 คัน ได้ซ่อมที่อู่ซ่อมของพยานตลอดมา จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ในการซ่อมรถทั้ง 2 คัน มีใบเสร็จรับเงินค่าอะไหล่และค่าซ่อมรถ แต่ก็มิได้อ้างนำส่งศาลเป็นพยานจึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำการซ่อมรถทั้ง 2 คัน สิ้นเงินไปเกือบ 200,000 บาทก่อนที่โจทก์จะไปยึดรถคืนมา ตามข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยมาเห็นได้ว่า การที่รถทั้ง 2 คันชำรุดทรุดโทรมจนโจทก์ต้องทำการซ่อมสิ้นเงินไป 281,200 บาทนั้น เป็นความเสียหายเพราะเหตุอื่นนอกเหนือไปจากความเสียหายอันเกิดแต่การใช้รถนั้นโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 562 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าซ่อมรถทั้ง 2 คัน ที่โจทก์ได้เสียไปดังกล่าว

ในประเด็นข้อสุดท้ายนั้น ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 4 กำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เฉพาะในต้นเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเก็บเงินที่ค้างชำระเท่านั้น ไม่รวมถึงเงินอื่น ๆ ดังนั้น ที่ศาลกำหนดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งผิดนัดไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามประเด็นข้อ (2) เป็นเงิน 235,000 บาท กับค่าซ่อมรถตามประเด็นข้อ (3) เป็นเงิน 281,200 บาท รวมเป็นเงิน 516,200 บาท และเงิน 8,000.50 บาท ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์ ซึ่งยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 524,232.50 บาทโจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยได้ร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดคือ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2515 เท่านั้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน524,232.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่2 กุมภาพันธ์ 2515 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับไปทั้งสองฝ่าย”

Share