คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขตั้งกรรมการสอบสวนกรณียักยอกเงินคณะกรรมการเปรียบเสมือนเครื่องมือของกรม ถือว่ากรมรู้ตัวผู้รับผิดในวันที่คณะกรรมการรายงานให้กรมทราบ ซึ่งเป็นวันที่ 10 มิถุนายน 2518 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 25 มิถุนายน 2519 คดีขาดอายุความตาม มาตรา 448 การที่อธิบดียังไม่ได้พิจารณารายงานและให้กองนิติการพิจารณาให้ความเห็นอีก ก็ไม่เป็นเหตุที่จะกล่าวว่ากรมซึ่งผู้รักษาการแทนอธิบดีเป็นผู้แทนนิติบุคคลอยู่ยังไม่รู้ตัวผู้ต้องรับผิด

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเพราะคดีขาดอายุความ1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 แล้วหรือไม่

ในเบื้องต้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อเกิดการทุจริตเกี่ยวกับเงินธนาณัติขึ้นที่ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขอำเภอแม่สาย อันเป็นที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขต้นทางแล้ว เจ้าหน้าที่ชั้นต้นได้รายงานให้กรมไปรษณีย์โทรเลขทราบ นายเชาว์ ทองมา รองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขรักษาราชการแทนอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายประยูร จันทน์สุคนธ์ ผู้ตรวจราชการ สำนักงานไปรษณีย์โทรเลขเขต 5 นายเลิศ ติระคมน์ นายไปรษณีย์โทรเลขเอก ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายการเงินกองการเงินและบัญชี และนายประเวศน์ จันทรา นิติกรโท กองนิติการ เป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดหรือร่วมรับผิดในทางแพ่ง ผลการสอบสวนปรากฏว่าจำเลยผู้เป็นนายไปรษณีย์โทรเลขจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขปลายทางจะต้องรับผิดในทางแพ่งด้วย คณะกรรมการสอบสวนได้รายงานต่ออธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ตามหนังสือลับ ด่วนมากที่ พิเศษ/2518 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2518 นายเชาว์ ทองมา รองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขได้รับรายงานการสอบสวนดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2518 และได้บันทึกในรายงานนั้นถึงหัวหน้ากองนิติการในวันนั้นเองว่า “โปรดพิจารณาสรุปสำนวนให้ความเห็นเสนอกรมด้วย”ซึ่งความจริงคณะกรรมการสอบสวนก็ได้สรุปสำนวนแล้วในรายงาน ต่อมาเจ้าหน้าที่การเงินรายงานมาว่า พบการทุจริตเพิ่มเติมอีก นายเชาว์ ทองมา ได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนชุดเดิมทำการสอบสวนเพิ่มเติม แต่การสอบสวนเพิ่มเติมนี้ไม่เกี่ยวกับจำเลย เมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสนอสำนวนการสอบสวนสำนวนหลังแล้ว นายเชาว์ ทองมา ได้บันทึกเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2518 ถึงหัวหน้ากองนิติการว่า “โปรดพิจารณาสำนวนและสรุปความเห็นเสนอกรมด้วย”หัวหน้ากองนิติการสรุปความเห็นทั้งสองสำนวนเสนออธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2518 และเสนอให้มีการประชุมพิจารณาร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2518แล้วหัวหน้ากองนิติการได้บันทึกสรุปมติของที่ประชุม เสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขมีคำสั่งลงวันที่ 14 ตุลาคม2518 ว่าเห็นชอบตามเสนอให้ดำเนินการต่อไป โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25มิถุนายน 2519 ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2518 และมาฟ้องจำเลยเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่นั้น คดีโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ฎีกาคัดค้านว่าเมื่อนายเชาว์ ทองมา รองอธิบดีผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีได้รับสำนวนการสอบสวนและบันทึกถึงหัวหน้ากองนิติการในวันที่ 10 มิถุนายน 2518 ให้พิจารณาสรุปสำนวนให้ความเห็นเสนอนั้น ยังถือไม่ได้ว่าอธิบดีรู้ถึงผู้จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันนั้น เพราะวันนั้นนายเชาว์ ทองมา รองอธิบดียังมิได้พิจารณาเรื่องราวและความเห็นที่เจ้าหน้าที่เสนอมา

ได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448วรรคแรกบัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด” ตามข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ เมื่อนายเชาว์ ทองมา ผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีทราบรายงานของเจ้าหน้าที่ชั้นต้นว่าเกิดการทุจริตเกี่ยวกับเงินธนาณัติขึ้นนั้น ย่อมถือได้ว่ากรมไปรษณีย์โทรเลขผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดแล้ว การที่นายเชาว์ทองมา มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดและผู้รับผิดชดใช้เงินนั้นย่อมรวมถึงการสอบสวนเพื่อรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นจำเลยนี้ซึ่งถูกหาว่าทำละเมิด โดยปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่อด้วย กรมไปรษณีย์โทรเลขผู้ต้องเสียหายต้องการรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คณะกรรมการสอบสวนที่กรมไปรษณีย์โทรเลขแต่งตั้งขึ้นนั้นย่อมเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะพิจารณาหาความรู้นั้นมาเสนอ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องมือหาความรู้ในการนี้โดยเฉพาะได้รายงานให้กรมไปรษณีย์โทรเลขทราบในวันใดว่าจำเลยเป็นผู้หนึ่งซึ่งจะต้องรับผิดในทางแพ่ง ก็ย่อมต้องถือเอาวันนั้นเป็นวันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2581/2520 ระหว่างกรมโยธาเทศบาล โจทก์ นายพยงค์ อัตถิ กับพวก จำเลย นายเชาว์ ทองมาได้รับรายงานของคณะกรรมการสอบสวนในวันที่ 10 มิถุนายน 2517 และบันทึกคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันนั้น ก็ต้องถือว่ากรมไปรษณีย์โทรเลขผู้ต้องเสียหายรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันนั้นแล้ว อายุความคดีนี้จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2518 แม้คำสั่งของนายเชาว์ ทองมา จะเป็นการสั่งให้เจ้าหน้าที่อื่นพิจารณาสำนวนเสนอความเห็นอีก หรือนายเชาว์ ทองมาจะยังมิได้พิจารณาเรื่องราวตามสำนวนการสอบสวนด้วยตนเองในวันดังกล่าวแต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่ากรมไปรษณีย์โทรเลขซึ่งนายเชาว์ ทองมา เป็นผู้แทนนิติบุคคลอยู่ในขณะนั้นยังไม่รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่คณะกรรมการสอบสวนได้พิจารณามาแล้วและรายงานให้ทราบ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ที่โจทก์ฎีกาคัดค้านโดยอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 226-227/2505 นั้นฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share