คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1129/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าออกจากที่ดินอันมี ค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือน ละสองพัน บาท และเรียกค่าเช่าอันมีทุนไม่เกินสองหมื่นบาท จำเลยให้การต่อสู้ ว่าโจทก์ตกลง ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตาม ฟ้องให้จำเลย แต่ จำเลยไม่มีเงินชำระจึงตกลง ว่าในระหว่างที่จำเลยยังไม่ ได้ ชำระค่าที่ดินงวดสุดท้ายโจทก์ให้จำเลยเช่า ที่ดินดังกล่าวโดย ชำระค่าเช่าเป็นรายปีจนกว่าจะโอน สัญญาเช่าเป็นนิติกรรมอำพราง ดังนี้ จำเลยเพียงแต่อ้างว่าจำเลยมีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทได้ ตาม สัญญา มิใช่กล่าวแก้ ข้อพิพาทด้วย กรรมสิทธิ์และการที่จำเลยให้การต่อสู้ ว่าสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพราง ก็ไม่ใช่ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่า คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 54 และ 57 เมื่อประมาณปี พ.ศ.2520-2521 จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ต่อมาจำเลยไม่สามารถชำระราคาจึงได้มีการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายแล้วจำเลยได้เช่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์เพื่ออยู่อาศัยต่อไปโดยปลูกบ้านเลขที่ 27 ในที่ดินดังกล่าว ทำสัญญาเช่ามีกำหนด 1 ปีค่าเช่าปีละ 2,000 บาท จำเลยได้ต่ออายุสัญญาเช่าปีต่อปีตลอดมาและเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2526 จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวมีกำหนด 1 ปี ค่าเช่าปีละ 2,400 บาท ครบกำหนด 1 ปีแล้วจำเลยมิได้ชำระค่าเช่า โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์ต่อไปจึงบอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลงนี้ และชำระค่าเช่าที่ค้างจำนวน 2,400 บาท จำเลยเพิกเฉยเสีย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ปัจจุบันหากให้บุคคลอื่นเช่าที่ดินทั้งสองแปลงจะได้ค่าเช่าเดือนละ 300 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารขนย้ายรื้อถอนบ้านเลขที่ 27 และสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป หากจำเลยไม่รื้อถอนโจทก์จะเป็นผู้รื้อถอนเอง โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายกับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,400 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ300 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 เป็นต้นไป ให้แก่โจทก์จนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนขนย้ายบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไป
จำเลยให้การว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม2521 เป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของโจทก์แปลงอื่น กำหนดจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินให้แก่จำเลยภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2522จำเลยไม่มีเงินจะชำระจึงได้ทำหนังสือเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกันและยอมให้โจทก์ริบเงินมัดจำ ส่วนที่ดินรายพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้องนั้น โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกันเมื่อวันที่27 พฤศจิกายน 2520 ต่อมาจำเลยยังไม่มีเงินที่จะชำระให้โจทก์ครบถ้วนจึงตกลงกับโจทก์ว่า ในระหว่างที่จำเลยยังไม่ได้ชำระค่าที่ดินงวดสุดท้าย โจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าโดยชำระค่าเช่าเป็นรายปีจนกว่าจะโอนกัน สัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางระหว่างโจทก์จำเลยและไม่ถือว่าสัญญาเช่าเป็นหลักฐานในการเลิกสัญญาจะซื้อจะขายฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2520 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ถึงแก่กรรม นางสาวประนอมบัวเล็ก ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทตามฟ้อง ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป หากจำเลยไม่รื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกไปจากที่ดินดังกล่าว ก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนให้จำเลยชำระเงิน 2,400 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 250 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,400 บาทและค่าเสียหายอีกเดือนละ 250 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2527เป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนขนย้ายบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นของจำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสองพันบาท และเรียกค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์อันมีทุนทรัพย์ไม่เกินสองหมื่นบาท ที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องให้จำเลย ต่อมาจำเลยไม่มีเงินชำระจึงตกลงกันว่าในระหว่างที่จำเลยยังไม่ได้ชำระค่าที่ดินงวดสุดท้าย โจทก์ให้จำเลยเช่าที่ดินทั้งสองแปลงนี้โดยชำระค่าเช่าแก่โจทก์เป็นรายปีจนกว่าจะโอนกัน สัญญาเช่าเป็นนิติกรรมอำพรางและไม่ถือว่าสัญญาเช่าเป็นหลักฐานในการเลิกสัญญาจะซื้อจะขายนั้นจำเลยเพียงแต่อ้างว่าจำเลยมีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินรายพิพาทได้ตามสัญญา มิใช่การกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ เพราะจำเลยยังยอมรับอำนาจกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญาเช่าที่ดินรายพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางนั้น ก็มิใช่การยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่า คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อเท็จจริงหาชอบไม่ คดีจึงเป็นอันยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกฎีกาของจำเลยคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นต้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลย.

Share