คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8429/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้แม้โจทก์จำเลยจะมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาในส่วนที่ให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินและรายการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยก็ตาม แต่การที่โจทก์ยังคงอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับค่าเสียหายและดอกเบี้ยต่อมานั้น ไม่อาจทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง จึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้ได้ถึงที่สุดแล้ว โจทก์จะยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกใบสำคัญแสดงว่าคำพิพากษานั้นได้ถึงที่สุดแล้วหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อยินยอมโอนที่ดินให้แก่จำเลย อันเป็นการทำกลฉ้อฉลต่อโจทก์ดังนั้นสัญญาขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นโมฆียะกรรม เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนถือได้ว่าโจทก์ได้บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวแล้ว สัญญาขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก อันมีผลทำให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 138 วรรคท้าย เดิมจำเลยจะต้องโอนที่ดินพิพาทกลับคืนให้แก่โจทก์และโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าที่ดินซึ่งโจทก์ได้รับจากจำเลยไปแล้วทั้งหมดแก่จำเลยและในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมซึ่งเป็นเงินจำนวนหนึ่งนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ต้องคืนพร้อมดอกเบี้ย และคดีนี้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งหรือมีคำขอให้โจทก์ต้องรับผิดคืนค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ย ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าที่ดินที่โจทก์จะต้องคืนแก่จำเลยด้วย ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเกิดจากกลฉ้อฉลของจำเลย มิได้ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้หรือใช้สิทธิเลิกสัญญาอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้อีกส่วนหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 213 วรรคท้าย และ มาตรา 391 วรรคท้าย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆียะ และโจทก์ได้บอกล้างแล้ว ถือได้ว่าตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ซึ่งมีผลเสมือนหนึ่งว่ามิได้ทำนิติกรรมต่อกันมาแต่ต้น และทำให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 138 วรรคท้ายเดิม ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวนี้กำหนดให้มีการได้รับค่าเสียหายชดใช้แทนก็แต่เฉพาะกรณีที่การจะให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมดังกล่าวเป็น การพ้นวิสัยเท่านั้น ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2532 จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยมีฐานะทางการเงินดี หากโจทก์ตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8448 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรีเฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ 63 ตารางวา พร้อมปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ให้จำเลยในราคา 5,200,000 บาท แล้ว จำเลยสามารถชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้ โจทก์หลงเชื่อจึงทำสัญญากับจำเลย และจำเลยวางเงินมัดจำให้โจทก์เป็นเงิน300,000 บาท แท้จริงแล้วจำเลยมีฐานะทางการเงินไม่ดีไม่สามารถชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ได้ หากโจทก์รู้ความจริงก็จะไม่ทำสัญญากับจำเลย ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2533 จำเลยหลอกลวงโจทก์อีกว่า จำเลยมีความประสงค์จะนำที่ดินที่ตำลงซื้อจากโจทก์ไปขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อปลูกทำเป็นภัตตาคาร ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนก่อสร้างอีกมาก หากโจทก์ตกลงยกเลิกสัญญาเดิมกับจำเลยและทำสัญญาใหม่ให้จำเลยเป็นผู้จะซื้อที่ดินเพียงอย่างเดียวโจทก์ก็จะได้รับเงินค่าที่ดินเร็วขึ้นโจทก์หลงเชื่อจึงยอมยกเลิกสัญญาเดิมและทำสัญญาจะซื้อขายเฉพาะที่ดินกับจำเลยใหม่ในราคา 3,750,000 บาท จำเลยได้วางเงินมัดจำไว้ตามสัญญาเดิมแล้วเป็นเงิน 100,000 บาท และวางเงินมัดจำเพิ่มอีก 350,000 บาท เงินส่วนที่เหลือจะชำระให้เมื่อแบ่งแยกโฉนดและจดทะเบียนโอนให้จำเลยซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่มีเงินชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ และจำเลยไม่ได้ติดต่อกับธนาคาร หากโจทก์ทราบความจริงจะไม่ยอมยกเลิกสัญญาและทำสัญญาใหม่กับจำเลย เมื่อโจทก์แบ่งแยกโฉนดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยได้ชำระค่าที่ดินให้โจทก์อีก 300,000 บาท ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2533 จำเลยได้หลอกลวงโจทก์อีกว่าจำเลยได้ติดต่อธนาคารขอกู้เงินเพื่อชำระค่าที่ดินให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว หากโจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยก่อนเพื่อนำไปแสดงต่อธนาคารว่าจำเลยได้ชำระค่าที่ดินให้โจทก์ครบถ้วนแล้วจำเลยก็จะชำระเงินแก่โจทก์ 2,000,000 บาท ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,000,000 บาท จะชำระให้ในวันที่ 15 ตุลาคม 2533อันเป็นวันที่นัดกับธนาคาร หากธนาคารขัดข้อง จำเลยก็จะจดทะเบียนโอนที่ดินคืนแก่โจทก์จนกว่าจำเลยจะหาเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 1,000,000 บาท ชำระแก่โจทก์แล้วจึงให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยอีกครั้งหนึ่ง โจทก์หลงเชื่อจึงยอมรับเงินค่าที่ดินจำนวน 2,000,000 บาท จากจำเลยพร้อมจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยครั้นถึงวันนัดโจทก์ไปรอพบจำเลยที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี แต่ไม่พบจำเลยและเจ้าหน้าที่ธนาคาร จึงรู้ว่าถูกจำเลยหลอกลวงให้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้จำเลยสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีผลบังคับ การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น1,000,000 บาท เมื่อหักกับเงินที่โจทก์รับจากจำเลยมาแล้วจำนวน 2,750,000 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยจะรับคืนไปจากโจทก์ จำนวน 1,750,000 บาท ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8448 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรีจังหวัดชลบุรี ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2533 และให้ที่ดินโฉนดดังกล่าวกลับเป็นชื่อของโจทก์ตามเดิม ให้จำเลยรับเงินค่าที่ดินสุทธิหลังจากหักค่าเสียหายแล้วจากโจทก์จำนวน 1,750,000 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ฉ้อฉลโจทก์ เมื่อจำเลยได้ตกลงจะซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จากโจทก์แล้ว ปรากฎว่าเมื่อถึงกำหนดนัดเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน 2532 โจทก์ผิดสัญญาไม่ลงมือก่อสร้าง โดยอ้างว่าวัสดุก่อสร้างขาดแคลนและมีราคาแพง และโจทก์เสนอขอเลิกสัญญาโดยอ้างว่าจะใช้พื้นที่ปลูกอาคารชุดโดยจะให้ค่าตอบแทนจำเลย หากยินยอมยกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ยอมรับข้อเสนอโจทก์ โดยยืนยันให้โจทก์ปฎิบัติ ตามสัญญา แต่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาโดยไม่ลงมือปลูกสร้าง ซึ่งจะก่อความเสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงขอให้โจทก์โอนขายเฉพาะที่ดินตามสัญญาแก่จำเลย โดยจำเลยจะเป็นผู้ปลูกสร้างอาคารเองโจทก์ตกลงและทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันตามจำนวนเนื้อที่ที่ระบุไว้ในสัญญาเดิมกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อได้ทำการแบ่งแยกโฉนดเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเมื่อรังวัดแบ่งแยกโฉนดแล้ว และนัดโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 12 ตุลาคม2533 จำเลย ชำระค่าที่ดินให้โจทก์จำนวน 2,000,000 บาทส่วนที่เหลืออีก 1,000,000 บาท จะชำระในวันที่ 15ตุลาคม 2533 แต่เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินมาแล้ว ปรากฎว่าเนื้อที่ตามโฉนดที่ดินขาดหายไม่ครบตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา จึงแจ้งให้โจทก์ทราบ และขอให้โจทก์ลดราคาที่ดินลงตามส่วนที่ขาดหาย แต่โจทก์ไม่ยินยอมจำเลยไม่ได้ฉ้อฉลโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินและรายการจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8448 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี ระหว่างโจทก์กับจำเลยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2533ให้โจทก์คืนเงินจำนวน 2,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ก่อนศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำแถลงว่าครบกำหนดยื่นอุทธรณ์แล้ว จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์คดีในส่วนที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินและรายการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 8448 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี ในระหว่างโจทก์จำเลย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2533จนถึงที่สุดแล้ว ขอให้ศาลชั้นต้นออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดในกรณีดังกล่าวให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดียังไม่ถึงที่สุดออกหนังสือรับรองให้ตามคำขอไม่ได้
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยังอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นแม้เฉพาะแต่ในประเด็นเกี่ยวกับค่าเสียหายก็ไม่ทำให้คดีเสร็จสิ้นไปทั้งเรื่อง ผลของคดีจึงยังไม่ถึงที่สุด ไม่อาจออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดเฉพาะประเด็นตามคำขอของโจทก์ได้ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2533จึงต้องเสียดอกเบี้ยในเงินที่ต้องคืนจำเลย นับแต่วันดังกล่าวพิพากษาแก้เป็นว่า ทำให้โจทก์คืนเงินจำนวน 2,750,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 11ธันวาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกาฎีการับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8448 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี เนื้อที่ประมาณ1 ไร่ 1 งาน ตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2532 จำเลยได้ตกลงจะซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 63 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง รวม 3 คูหา จากโจทก์ โดยให้โจทก์เป็นผู้ก่อสร้างอาคารดังกล่าว ในราคารวม 5,200,000 บาทต่อมาจำเลยขอซื้อเฉพาะที่ดินจากโจทก์อย่างเดียว โจทก์และจำเลยจึงตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินใหม่เมื่อวันที่ 19เมษายน 2533 ในราคา 3,750,000 บาท กำหนดนัดโอนกันในวันที่ 12 ตุลาคม 2533 เมื่อถึงวันนัดจำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์ด้วยแคชเชียร์เช็คฉบับละ 1,000,000 บาท รวม 2 ฉบับ รวมเป็นเงินที่โจทก์รับไปจากจำเลยแล้วจำนวน 2,750,000 บาท ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,000,000 บาท จำเลยจะชำระให้ในวันจันทร์ที่15 ตุลาคม 2533 โจทก์จึงจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดให้จำเลยไปก่อน โดยจำเลยจะนำโฉนดไปจำนองแก่ธนาคาร จำเลยได้ทำใบมอบอำนาจโอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืน ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.17 มอบให้โจทก์ไว้ดำเนินการเอง แต่ปรากฎว่าจำเลยไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารมาชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนที่เหลือแก่โจทก์ได้ตามกำหนดและได้เอาโฉนดที่ดินไปจากเจ้าหน้าที่ด้วยโจทก์จึงไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทกลับคืนมาได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าศาลชั้นต้นจะออกใบสำคัญแสดงว่าคำพิพากษาได้ถึงที่สุดแล้วในประเด็นตามคำแถลงของโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า การขอใบสำคัญเพื่อแสดงว่าคำพิพากษาในคดีใดได้ถึงที่สุดแล้วนั้นต้องเป็นกรณีที่คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วโดยไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกากันอีกทั้งคดี สำหรับคดีนี้แม้โจทก์จำเลยจะมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาในส่วนที่ให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินและรายการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยก็ตาม แต่การที่โจทก์ยังคงอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับค่าเสียหายและดอกเบี้ยต่อมานั้น ไม่อาจทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องจึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้ได้ถึงที่สุดแล้วโจทก์จะยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกใบสำคัญแสดงว่าคำพิพากษานั้นได้ถึงที่สุดแล้วหาได้ไม่
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการที่สองว่าโจทก์จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องคืนแก่จำเลยหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อยินยอมโอนที่ดินให้แก่จำเลยอันเป็นการทำกลฉ้อฉลต่อโจทก์ ดังนั้นสัญญาขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นโมฆียะกรรม เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนถือได้ว่าโจทก์ได้บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวแล้ว สัญญาขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรกอันมีผลทำให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 วรรคท้าย เดิม(มาตรา 176 วรรคแรกที่แก้ไขใหม่) จำเลยจะต้องโอนที่ดินพิพาทกลับคืนให้แก่โจทก์และโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าที่ดินซึ่งโจทก์ได้รับจากจำเลยไปแล้วทั้งหมดแก่จำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมซึ่งเป็นเงินจำนวนหนึ่งนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ต้องคืนพร้อมดอกเบี้ย และคดีนี้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งหรือมีคำขอให้โจทก์ต้องรับผิดคืนค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าที่ดินที่โจทก์จะต้องคืนแก่จำเลยด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเกิดจากกลฉ้อฉลของจำเลยมิได้ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้หรือใช้สิทธิเลิกสัญญาอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้อีกส่วนหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213วรรคท้าย และ มาตรา 391 วรรคท้าย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆียะ และโจทก์ได้บอกล้างแล้วถือได้ว่าตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ซึ่งมีผลเสมือนหนึ่งว่ามิได้ทำนิติกรรมต่อกันมาแต่ต้น และทำให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 วรรคท้าย เดิม มาตรา 176 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่)ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวนี้กำหนดให้มีการได้รับค่าเสียหายชดใช้แทนก็แต่เฉพาะกรณีที่การจะให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมดังกล่าวเป็นการพ้นวิสัยเท่านั้น ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินที่จะต้องคืนแก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share