คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาการและวางแผน และผู้อำนวยการโครงการระบบขนส่งมวลชนของจำเลย มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานตามโครงการของจำเลย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้สั่งการให้ บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาของจำเลยสำรวจออกแบบเพิ่มเติมนอกเหนือสัญญา แต่กลับได้ความว่า โจทก์ได้สั่งให้บริษัทเสนอราคาทำงานทำความตกลงกับจำเลยก่อนลงมือทำงาน แต่บริษัทได้ทำการสำรวจออกแบบไปก่อนเอง ประกอบกับจำเลยก็มิได้ยอมรับการทำงานเพิ่มของบริษัทและปฏิเสธที่จะจ่ายเงินเพิ่ม ดังนี้จะถือว่าการปฏิบัติงานของโจทก์เป็นการผิดวินัยตามข้อบังคับของจำเลยมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาการและวางแผนและผู้อำนวยการโครงการระบบขนส่งมวลชนของจำเลย เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ โจทก์ยื่นใบลาออกจากงาน จำเลยยับยั้งการลาและตั้งกรรมการสอบสวนหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยฐานบกพร่องต่อหน้าที่ทำให้การทางพิเศษฯ เสียหายและต่อมาวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๒๔ จำเลยได้มีคำสั่งที่ ๗๐/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๒๔ สั่งตัดเงินเดือน ๒๕ เปอร์เซ็นต์เป็นเวลา ๔ เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๒๔ เป็นต้นมาโดยจำเลยหักเงินเดือนโจทก์ไปแล้ว ๑๓,๖๓๐ บาท โจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินที่ตัดไปเป็นเงิน ๑๓,๖๓๐ บาท และให้ยกเลิกคำสั่งตัดเงินเดือนที่ ๗๐/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๒๔
จำเลยให้การว่า จำเลยมีคำสั่งที่ ๗๐/๒๕๒๕ ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ ๒๕ เปอร์เซ็นต์จริง เพราะโจทก์กระทำผิดวินัยฐานบกพร่องต่อหน้าที่ และจำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของจำเลยแล้ว โดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๐ ข้อ ๑๖ และข้อบังคับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยฉบับที่ ๕๑ ว่าด้วยพนักงานข้อ ๖๘ แต่งตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนความผิดทางวินัยของโจทก์ คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าโจทก์กระทำผิดจริงจำเลยโดยผู้ว่าการอาศัยอำนาจตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ ๗๔ สั่งตัดเงินเดือนโจทก์ตามบัญชีหมายเลข ๓ ท้ายข้อบังคับ ๒๕ เปอร์เซ็นต์เป็นเวลา ๔ เดือนคำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การปฏิบัติงานของโจทก์ไม่พอฟังว่าโจทก์ได้กระทำผิดวินัยตามข้อบังคับของจำเลยข้อ ๖๓(๓) คำสั่งของจำเลยที่ ๗๐/๒๕๒๔ ที่ให้ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ พิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งที่ ๗๐/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๒๔ ให้ชำระคืนเงิน ๑๓,๖๓๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามข้อบังคับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๕๑ ว่าด้วยพนักงานหมวด ๗ ว่าด้วยวินัยและการรักษาวินัยข้อ ๖๓(๓) ระบุว่าต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล นโยบายของการทางพิเศษและต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีและก้าวหน้าด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่และระมัดระวังรักษาประโยชน์ของการทางพิเศษ ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องอันเป็นเหตุให้จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยโจทก์นั้นคือ (๑) โจทก์ได้สั่งการให้บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจสำหรับการก่อสร้างทางระบบรถไฟฟ้าเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญา และ(๒) สั่งเปลี่ยนแปลงแนวทางรถไฟฟ้าสายดาวคนอง – มักกะสัน ให้อ้อมวงเวียนใหญ่ซึ่งการสั่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำเลยอาจต้องรับผิดชอบเมื่อบริษัทเรียกร้องค่างานเพิ่มขึ้น และตามข้อบังคับของจำเลยจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าการหรือคณะกรรมการจำเลยเสียก่อน โจทก์จึงจะสั่งการได้ เห็นว่าการทำงานเพิ่มนอกเหนือจากสัญญา แม้ข้อบังคับของจำเลยจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าการหรือคณะกรรมการของจำเลยก่อนก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้สั่งการให้บริษัททำงานเพิ่มขึ้น แต่เป็นเรื่องบริษัททำงานส่วนที่เพิ่มบางส่วนไปก่อนที่จะได้มีการตกลงกันเป็นหนังสือระหว่างจำเลยกับบริษัทซึ่งเป็นคู่สัญญาทั้งจำเลยก็มิได้ยอมรับการทำงานเพิ่มของบริษัทและปฏิเสธที่จะจ่ายเงินเพิ่มเมื่อจำเลยมีหนังสือหารือไปถึงกรมอัยการก็ได้รับคำตอบว่าจำเลยไม่ต้องผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มอย่างใด จึงเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของบริษัท เป็นเรื่องที่บริษัทจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่บริษัทเสี่ยงจัดทำไปก่อนเองนอกจากนี้ยังได้ความว่า โจทก์เคยเสนอรายงานประจำเดือนไปยังผู้ว่าการซึ่งมีเรื่องที่บริษัทจะต้องทำงานเพิ่ม แต่ผู้ว่าการไม่ได้สั่งการอย่างใด ดังนั้นยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดทางวินัยฐานบกพร่องต่อหน้าที่ ส่วนเรื่องที่ว่าโจทก์สั่งเปลี่ยนแปลงแนวทางรถไฟฟ้าสายดาวคนอง – มักกะสัน ให้อ้อมวงเวียนใหญ่ โดยไม่ได้นำเรื่องเสนอผู้ว่าการและคณะกรรมการจำเลยพิจารณาอนุมัติก่อนนั้น ได้ความจากคำสั่งของจำเลยที่ ๑๐๐/๒๕๒๑ เรื่องกำหนดอำนาจหน้าที่ในความรับผิดชอบของผู้อำนวยการโครงการว่ามีอำนาจแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานตามโครงการ ซึ่งได้ความว่าในการวางแนวทางสายดาวคนอง – มักกะสัน ผ่านอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินวังเวียนใหญ่นั้น ได้มีประชาชนวิจารณ์กันมากในระยะนั้น จำเลยก็ไม่กล้าตัดสินใจว่าจะสร้างทางหลบหลีกพระบรมรูปพระเจ้าตากสินหรืออย่างไร โจทก์เคยนำเรื่องเสนอคณะกรรมการของจำเลยคณะกรรมการก็มิได้วินิจฉัยเรื่องนี้ออกมา จนบริษัทแจ้งว่าจะเรียกค่าเสียหายที่ไม่อาจทำงานได้ต่อไปเพราะความล่าช้าโจทก์จึงประชุมวิศวกรในบังคับบัญชาของโจทก์ร่วมกับวิศวกรของบริษัทและมีมติว่าควรเปลี่ยนแปลงแนวทางหลบหลีกอนุสาวรีย์ไป แต่เมื่อเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการจำเลย จำเลยไม่เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางและสั่งให้ทำไปตามแนวทางเดิม บริษัทจึงงดทำงานดังกล่าว และจำเลยก็ไม่ได้จ่ายเงินเพิ่มแก่บริษัทเพราะเหตุนี้ เห็นว่าการที่โจทก์เรียกประชุมวิศวกรเพื่อหารือก็เพื่อจะแก้ไขข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์ประกอบกับทั้งยังสั่งให้บริษัทเสนอราคาทำงานทำความตกลงกับจำเลยก่อนลงมือทำงานแต่บริษัทได้สำรวจออกแบบไปก่อนเองและที่จำเลยอุทธรณ์ว่ากรณีที่มีปัญหาในการดำเนินการตามสัญญาเนื่องจากกรุงเทพมหานครและการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ยอมให้จำเลยวางแนวเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านที่ของหน่วยงานดังกล่าว เนื่องจากโจกท์ไม่ได้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานดังกล่าวให้ดีพอตั้งแต่เริ่มแรก โดยถือว่าเป็นความบกพร่องของโจทก์นั้น เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องนอกเหนือข้อกล่าวหาที่เป็นเหตุให้มีการสอบสวนทางวินัยของโจทก์และการที่หน่วยงานไม่ยอมให้จำเลยใช้ที่ดินก็เนื่องจากเหตุผลและความจำเป็นของหน่วยงานเหล่านั้นเอง มิใช่เนื่องมาจากความบกพร่องของโจทก์
พิพากษายืน

Share