คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1126/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ว. ได้รับมอบอำนาจจากกรมการจัดหางานผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโท บ. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะถูกจับกุมในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม แต่การที่ร้อยตำรวจโท บ. ได้รับคำร้องทุกข์ไว้ก่อนแล้ว จึงถือว่าเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอันเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนและมีอำนาจทำการสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสาม (ข.) และร้อยตำรวจโท บ. ยังได้ทำการสอบสวนตลอดมาในขณะที่ยังจับตัวจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 หาจำต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนท้องที่ที่จับได้ไม่

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10333/2542 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ป.อ. มาตรา 83, 91 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงินแก่นายปราโมทย์ ยอดสุวรรณ์ นายวิเชียร รอนยุทธ นายชัยวัฒน์ อาวะบุตร และนายสมพงษ์ หลวงณเรณ คนละ 250,000 บาท นายธิติ ตรีสอน และนายมนัส กองสังข์ คนละ 253,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ป.อ. มาตรา 83 ให้จำคุก 4 ปี และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 240,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 250,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 และที่ 6 คนละ 253,000 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว เห็นว่า ป.วิ.อ. มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน มาตรา 19 วรรคสอง บัญญัติว่า พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ และมาตรา 19 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน (ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจ (ข) ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ หมายความว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลเมื่อคดีนั้นมิได้มีการสอบสวนมาก่อน หรือมีการสอบสวนแล้ว แต่การสอบสวนนั้นไม่ชอบ กล่าวคือ สอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ไม่มีเขตอำนาจที่จะสอบสวน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางสาววาสนาซึ่งได้รับมอบอำนาจจากกรมการจัดหางานผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโทบำรุง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2539 ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2540 จำเลยที่ 1 ถูกจับกุมในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม เมื่อร้อยตำรวจโทบำรุงได้รับคำร้องทุกข์แล้ว จึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อน ย่อมมีอำนาจทำการสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสาม (ข) และร้อยตำรวจโทบำรุงได้ทำการสอบสวนตลอดมาในขณะที่ยังจับตัวจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 หาจำต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่
พิพากษายืน.

Share