คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11249/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการย่อมมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนบุคคลภายนอกซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ อันได้แก่ บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรือผู้อยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ นั้น คำสั่งของศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดชอบบุคคลเหล่านั้นที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ความรับผิดของบุคคลดังกล่าวจะต้องรับผิดอีกเช่นไรต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ดังนั้น การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวย่อมขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงตามที่กำหนดตามแผนดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
แม้โจทก์จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวน แต่ก็เป็นการยื่นคำขอรับชำระหนี้ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้โจทก์ได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้น้อยลงและจะเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลือจากลูกหนี้อีกไม่ได้ แต่ในส่วนจำเลยทั้งสองผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ยังไม่ระงับทั้งหมดอยู่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ไม่ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน ๑๕,๔๔๕,๓๕๔.๓๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๑,๙๗๙,๗๔๑.๐๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑๐,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้เงินกู้ หนี้เกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิต ทรัสต์รีซีท และหนี้อื่น ๆ ของบริษัทไทยไวร์ โพรดัคท์ จำกัด (มหาชน) ไว้ต่อโจทก์ และบริษัทเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีท นอกจากนี้บริษัทยังมีหนี้อื่นและมีเจ้าหนี้รายอื่นอีกหลายราย ต่อมาบริษัทได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์และเจ้าหนี้รายอื่นที่เป็นสถาบันการเงินรวม ๑๕ ราย แต่ยังชำระหนี้แก่โจทก์
ไม่ครบถ้วน ยังมีหนี้ค้างชำระคิดถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นต้นเงิน ๑๑,๙๗๙,๗๔๑.๐๕ บาท และดอกเบี้ย ๓,๔๖๕,๖๑๓.๒๖ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๕,๔๔๕,๓๕๔.๓๑ บาท และบริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งในที่สุดศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยไวร์ โพรดัคท์ จำกัด (มหาชน) แล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ ๙๗๐/๒๕๔๖ ของศาลล้มละลายกลาง โดยตามแผนฟื้นฟูกิจการมีข้อความเป็นทำนองให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดได้ และในระหว่างที่บริษัทยังปฏิบัติตามแผน เจ้าหนี้จะไม่บังคับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน ซึ่งก็ปรากฏว่าบริษัทไทยไวร์ โพรดัคท์ จำกัด (มหาชน) ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามแผนฟื้นฟูกิจการโดยมิได้ผิดนัดแต่อย่างใด
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัทไทยไวร์ โพรดัคท์ จำกัด (มหาชน) ต่อโจทก์ ทั้งที่โจทก์ยังคงได้รับชำระหนี้จากบริษัทตามแผนฟื้นฟูกิจการมาโดยตลอด เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๖๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ตามมาตรา ๙๐/๒๗” และในวรรคสอง บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย” ดังนั้น คำสั่งของศาลที่เห็นชอบด้วยแผนนั้น ย่อมมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการเท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนบุคคลภายนอกซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๖๐ วรรคสอง อันได้แก่ บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันหรือผู้อยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ นั้น คำสั่งของศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดชอบบุคคลเหล่านั้นที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ความรับผิดของบุคคลดังกล่าวจะต้องรับผิดอีกเช่นไร ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ดังนั้น จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันบริษัทจะหลุดพ้นจากความรับผิดก็ต่อเมื่อหนี้นั้นได้ระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมาย
แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๙๘ ซึ่งหากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากบริษัทลูกหนี้ดังกล่าวเพียงบางส่วน หนี้ส่วนของจำเลยทั้งสองผู้ค้ำประกันก็ย่อมระงับเพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนกรณีที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวนั้น เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๖๐ วรรคสอง อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงตามที่กำหนดตามแผนดังกล่าว จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์และโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองผู้ค้ำประกันบริษัทได้ ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้วินิจฉัย
ข้อกฎหมายนี้ไว้เช่นเดียวกันนี้แล้ว นอกจากนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังวินิจฉัยด้วยว่า ในส่วนกรณีที่ตามแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทลูกหนี้ข้อ ๒.๔ ระบุว่า ในระหว่างที่บริษัทลูกหนี้สามารถดำเนินการตามแผนนี้เจ้าหนี้จะไม่บังคับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกันตามสัญญา ก็มีลักษณะเพียงการขอร้องเจ้าหนี้ มิได้มีสภาพบังคับ สิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ที่มีอยู่ต่อจำเลยทั้งสองผู้ค้ำประกันตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งมิได้ถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดในแผนดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ที่ศาลดังกล่าววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตก็โดยเหตุผลที่เห็นว่า พยานโจทก์คือ นายปรีชาและนางรัตยาเบิกความว่า โจทก์ได้ขอยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อศาลล้มละลายกลางเต็มจำนวนแล้ว และขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้บริษัทไทยไวร์ โพรดัคท์ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ที่ฟื้นฟูกิจการนี้ยังปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จึงยังคงได้รับชำระหนี้จากบริษัทลูกหนี้ดังกล่าวมาโดยตลอด แต่กลับมาฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเท่านั้น ซึ่งในข้อนี้เห็นว่า แม้โจทก์จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวน แต่ก็เป็นการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๖ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนในภายหลังและปรากฏตามแผนฟื้นฟูกิจการว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๓ คือ เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกันจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต้นเงินจำนวนร้อยละ ๒๖.๑๐ ของต้นเงินหนี้ไม่มีประกันจากกระแสเงินสดภายในระยะเวลา ๑๒๐ เดือน และแปลงหนี้เป็นทุนโดยหุ้นของบริษัทบางส่วนโดยมีหนี้ต้นเงินส่วนที่ให้ถือเป็นส่วนที่ได้รับการยกเว้นการชำระทั้งจำนวนทันทีที่ศาลเห็นชอบด้วยแผน ดังนี้ จำนวนหนี้ที่บริษัทไทยไวร์ โพรดัคท์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนี้ต่อโจทก์เป็นต้นเงินจำนวน ๑๖๖,๒๙๘,๙๗๕.๔๐ บาท ซึ่งโจทก์ขอรับชำระหนี้ไว้นั้น จากแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้นี้ โจทก์จะมีสิทธิได้รับการชำระหนี้ต้นเงินจากกระแสเงินสดเพียง ๔๓,๔๐๗,๓๕๘.๕๖ บาท กับการแปลงหนี้เป็นทุนในมูลค่าหุ้นเป็นเงิน ๔,๒๓๖,๙๑๕.๖๓ บาท เท่านั้น จะเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลือจากลูกหนี้อีกไม่ได้ โดยบริษัทลูกหนี้ดังกล่าวได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดโดยผลของกฎหมายในเรื่องการฟื้นฟูกิจการ แต่ในส่วนจำเลยทั้งสองผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ยังไม่ระงับทั้งหมดอยู่ ดังนั้น โจทก์จึงยังคงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองได้เป็นคดีนี้ได้โดยชอบ ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ส่วนที่จำเลยทั้งสองแก้อุทธรณ์เป็นทำนองเดียวกันว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการข้อ ๒.๔ เจ้าหนี้ตกลงจะไม่บังคับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกันและหากลูกหนี้ชำระหนี้และปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการเสร็จสิ้น เจ้าหนี้ตกลงให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด โดยโจทก์ลงมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการนี้ ย่อมเป็นการแสดงเจตนาตกลงรับข้อกำหนดตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวนี้ด้วย การที่โจทก์ยังมาฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เป็นการอ้างถึงเหตุที่ว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตคนละเหตุกันกับที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้เป็นเหตุผลในการวินิจฉัยว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต และยังกลับเป็นการกล่าวอ้างโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว อันต้องทำเป็นอุทธรณ์ เมื่อจำเลยทั้งสองเพียงแต่แก้อุทธรณ์มาจึงไม่ชอบ และไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน ๑๕,๔๔๕,๓๕๔.๓๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑๑,๙๗๙,๗๔๑.๐๕ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้โดยหากโจทก์ได้รับชำระหนี้ส่วนดังกล่าวจากบริษัทไทยไวร์ โพรดัคท์ จำกัด (มหาชน) แล้วเป็นจำนวนเท่าใดให้นำมาหักออก และบังคับได้เฉพาะส่วนที่ยังค้างชำระเท่านั้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share