คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1123/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงในสำนวนว่าควรฟังได้เพียงไรหรือไม่ มิใช่ว่าพยานเบิกความอย่างไรแล้ว ศาลจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานเสมอไปและไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของพยานเป็นข้อประกอบการพิจารณาของศาล ส่วนจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่นั้นสุดแล้วแต่เหตุผลของแต่ละเรื่องไป
จำเลยที่ 2 ทราบเรื่องจำเลยที่ 1 จะฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 2มาก่อนจึงใช้ให้ ว. เข้าไปตลบมุ้งของผู้ตาย แล้วจำเลยที่ 1 เข้าไปตีผู้ตายโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะห้ามได้แต่ไม่ห้าม กลับไปยืนฟังอยู่ข้างห้องนอน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการฆ่า จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) จำเลยที่ 1 อายุ 17 ปี จำคุกจำเลยที่ 1 25 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ตลอดชีวิต โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ในปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่ นั้น โจทก์มีนางสาววรรณภามาเบิกความว่า ขณะที่นั่งเย็บงอบอยู่เห็นจำเลยที่ 1 ถือไม้คานจีนขึ้นมาบนเรือนเมื่อได้ยินเสียง “ตุบ ๆ” ในห้องนอนผู้ตาย จึงเข้าไปดู เห็นจำเลยที่ 1 ใช้ไม้คานดังกล่าวตีผู้ตายจนถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2524 นางสาววรรณภาให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ก่อนจำเลยที่ 1 เข้าไปตีผู้ตาย จำเลยที่ 2 ใช้ให้นางสาววรรณภาไปแก้มุ้งที่เตียงผู้ตาย นางสาววรรณภาจึงแก้สายมุ้งด้านปลายเท้าแล้วตลบมุ้งขึ้นไปทางศีรษะผู้ตาย แล้วจำเลยที่ 1 ลงมือตีผู้ตายจำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันรุ่งขึ้นจากคืนเกิดเหตุว่า ประมาณปลายเดือนเมษายน 2524 เวลาประมาณเที่ยงคืน จำเลยที่ 2 เข้ามาหลับนอนกับจำเลยที่ 1 แล้วไปนอนกับผู้ตาย ผู้ตายระแวงเรื่องจำเลยทั้งสองลักลอบเป็นชู้กัน คืนนั้นจำเลยที่ 2 กับผู้ตายทะเลาะกัน ผู้ตายบอกว่าจะไล่จำเลยที่ 1ออกจากบ้าน ก่อนเกิดเหตุประมาณ 10 กว่าวัน จำเลยที่ 1 บอกแก่จำเลยที่ 2 ว่า ถ้าผู้ตายไล่จำเลยที่ 1 ออกจากบ้าน จำเลยที่ 2 คงไม่ได้อยู่ร่วมกันมีทางเดียวที่จะอยู่ด้วยกันได้คือฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 2 บอกว่าตามใจจำเลยที่ 1 วันที่ 2ตุลาคม 2524 จำเลยทั้งสองปรึกษากันว่าจะฆ่าผู้ตายในวันที่ 4 ตุลาคม 2524ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาววรรณภาและจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ตามลำดับ ศาลฎีกาเห็นว่าในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงแห่งคดีนั้น ศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงในสำนวนว่าควรฟังได้เพียงไรหรือไม่ มิใช่ว่าเมื่อพยานเบิกความอย่างไรแล้วศาลจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานเสมอไป และไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของพยานเป็นข้อประกอบการพิจารณาของศาล ส่วนจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่นั้นสุดแล้วแต่เหตุผลของแต่ละเรื่องไป ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 3219/2516ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี โจทก์ นายทวี พงษ์เถื่อน จำเลยที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยทั้งสองมิได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันนั้นปรากฏว่าในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยทั้งสองได้เสียกันมาหลายครั้งระหว่างที่ผู้ตายไม่อยู่บ้าน จำเลยทั้งสองก็ได้หลับนอนด้วยกันตลอดคืน เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองแล้วก็ได้แยกขังคนละแห่ง จำเลยที่ 1 มีจดหมายถึงจำเลยที่ 2 สองฉบับ ในจดหมายดังกล่าวจำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 ว่า “สมทรงเมียรัก” และ “สมทรง เมียอันเป็นสุดที่รักยิ่ง” ปรากฏตามจดหมายลงวันที่ 7 ตุลาคม 2524 และลงวันที่ 18ตุลาคม 2524 เอกสารหมาย จ.14 ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองลักลอบเป็นชู้กันในบ้านผู้ตายมาก่อนเกิดเหตุ ปรากฏว่าหลังจากเกิดเหตุ ประมาณ 10 ชั่วโมง จำเลยทั้งสองนำชี้ที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2นำชี้ว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ตีผู้ตายอยู่ในห้องนอนผู้ตาย จำเลยที่ 2 ยืนฟังอยู่นอกห้อง เมื่อจำเลยที่ 1 และนางสาววรรณภาหามศพผู้ตายออกจากห้องลงไปที่พื้นดิน จำเลยที่ 2 ก็ได้ยืนดูอยู่ และจำเลยที่ 2 กับนางสาววรรณภาช่วยกันเอากระโถนและถาดจากในตู้บนบ้านไปวางไว้ที่ข้างศพผู้ตายเพื่ออำพรางว่ามีการปล้นทรัพย์ ปรากฏตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุลงวันที่ 5 ตุลาคม 2524 เอกสารหมาย จ.5 และภาพถ่ายประกอบการนำชี้ที่เกิดเหตุภาพที่ 6, 9, 10, 11, 12 และ 17 ภาพถ่ายเหล่านี้มีคำอธิบายประกอบภาพจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อรับรองคำอธิบายทุกภาพ จำเลยที่ 2 ก็มิได้นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจบังคับให้นำชี้และแสดงท่าทางตามภาพถ่ายดังกล่าวแต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงเชื่อว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ตีผู้ตายในห้องนอนนั้น จำเลยที่ 2 ยืนฟังเสียงอยู่ข้างฝานอกห้องจำเลยที่ 1 และนางสาววรรณภาช่วยกันหามศพผู้ตายออกจากห้องผ่านจำเลยที่ 2 ลงเรือนไปไว้ที่พื้นดิน จำเลยที่ 2 และนางสาววรรณภาช่วยกันนำกระโถนและถาดจากในตู้ไปวางไว้ที่ข้างศพผู้ตายเพื่ออำพรางว่าได้มีคนร้ายมาปล้นทรัพย์ ผู้ตายขัดขวางจึงถูกคนร้ายฆ่า โจทก์มีร้อยตำรวจเอกเพริศพนักงานสอบสวนมาเบิกความว่าเช้าวันรุ่งขึ้นจากคืนเกิดเหตุร้อยตำรวจเอกเพริศไปยังที่เกิดเหตุอีก ปรากฏว่าไม่มีร่องรอยการต่อสู้เลย จึงเรียกนางสาววรรณภามาสอบถาม นางสาววรรณภาบอกว่ามิได้มีคนร้ายมาปล้นทรัพย์ ความจริงจำเลยที่ 1 ตีผู้ตายจนถึงแก่ความตาย โดยจำเลยที่ 2 ใช้ให้นางสาววรรณภาไปตลบมุ้งที่เตียงผู้ตายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ตีผู้ตายในเรื่องนางสาววรรณภาตลบมุ้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่จำเลยที่ 1 ในการตีผู้ตายนั้นนางสาววรรณภาเบิกความว่าชั้นสอบสวนนางสาววรรณภาให้การว่าขณะนางสาววรรณภาเย็บงอบอยู่กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 บังคับให้นางสาววรรณภาไปเก็บมุ้ง จำเลยที่ 2ก็มิได้ว่ากระไร นางสาววรรณภาจึงเข้าไปตลบมุ้งไปทางหัวนอน เห็นผู้ตายกำลังหลับสนิท ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเชื่อว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะตีผู้ตายนางสาววรรณภาได้เข้าไปตลบมุ้งของผู้ตาย เพื่อให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย ในปัญหาว่านางสาววรรณภากระทำไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเชื่อตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกเพริศที่ว่าในเช้าวันรุ่งขึ้นจากคืนเกิดเหตุ ร้อยตำรวจเอกเพริศสงสัยว่า ผู้ตายอาจมิได้ตายเพราะต่อสู้ขัดขวางคนร้ายที่มาปล้นทรัพย์เนื่องจากไม่มีร่องรอยการต่อสู้จึงเรียกนางสาววรรณภามาสอบถาม นางสาววรรณภาจึงบอกว่ามิได้มีการปล้นเกิดขึ้น ความจริงจำเลยที่ 1เป็นคนตีผู้ตายจนถึงแก่ความตายและจำเลยที่ 2 ให้ใช้นางสาววรรณภาไปตลบมุ้งเพื่ออำนวยความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 จะฆ่าผู้ตาย เพราะถ้านางสาววรรณภาไม่บอกร้อยตำรวจเอกเพริศเช่นนั้นก็ไม่มีเหตุผลแต่ประการใดที่ร้อยตำรวจเอกเพริศจะขออนุมัติจับกุมจำเลยทั้งสองทันทีที่พูดกับนางสาววรรณภาจบลง ข้อความที่นางสาววรรณภาบอกแก่ร้อยตำรวจเอกเพริศดังกล่าวเชื่อถือได้เพียงใดนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เลี้ยงดูนางสาววรรณภาอย่างบุตรมาตั้งแต่นางสาววรรณภาอายุ 1 ขวบเศษขณะเกิดเหตุนางสาววรรณภาก็ยังอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่านางสาววรรณภากับจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกัน นางสาววรรณภาเล่าเรื่องดังกล่าวให้ร้อยตำรวจเอกเพริศฟัง เมื่อร้อยตำรวจเอกเพริศเรียกนางสาววรรณภามาสอบถามตามลำพังในวันรุ่งขึ้นจากคืนเกิดเหตุอันเป็นเวลากระชั้นชิดกับเวลาเกิดเหตุมาก ถ้าจำเลยที่ 1ใช้ให้นางสาววรรณภาไปตลบมุ้งก็ไม่มีเหตุผลแต่ประการใดที่นางสาววรรณภาจะบอกแก่ร้อยตำรวจเอกเพริศและให้การชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 ใช้ให้ตนตลบมุ้งผู้ตายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ตีผู้ตาย ที่นางสาววรรณภามิได้เบิกความว่าจำเลยที่ 2ใช้ให้ตนไปตลบมุ้งผู้ตายน่าจะเป็นเพราะเห็นว่า ผู้ตายก็ตายไปแล้วไม่อยากให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเลี้ยงดูตนมาตั้งแต่เล็ก ๆ ต้องรับโทษ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบเรื่องจำเลยที่ 1 จะฆ่าผู้ตายมาก่อนในคืนเกิดเหตุเมื่อเห็นจำเลยที่ 1 ถือไม้คานจีนเข้าไปในห้องนอนผู้ตาย ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะเข้าไปฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 2 อยู่ในฐานะที่จะห้ามปรามได้ เพราะจำเลยที่ 1 อายุคราวลูกและเป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในบ้านทั้งจำเลยที่ 1 ก็รักจำเลยที่ 2 มากถึงแก่เรียกจำเลยที่ 2 ว่าเมียรัก คำพูดของจำเลยที่ 2 น่าจะมีน้ำหนักที่จะทำให้จำเลยที่ 1 เชื่อฟังได้ แต่ไม่ห้ามหรือหาทางช่วยเหลือผู้ตายซึ่งเป็นสามีของตน กลับไปยืนฟังเสียงจำเลยที่ 1 ตีผู้ตายอยู่ที่ข้างห้องนอนผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 1 กับนางสาววรรณภาหามผู้ตายผ่านหน้าจำเลยที่ 2 ไปวางไว้ที่พื้นดินแล้ว จำเลยที่ 2 กับนางสาววรรณภาก็ได้ช่วยกันเอากระโถนและถาดไปวางไว้ที่ข้างศพผู้ตาย แล้วจำเลยที่ 2 ไปแจ้งความต่อกำนันว่ามีคนร้ายมาปล้นทรัพย์จับเด็กในบ้านมัด ผู้ตายวิ่งไล่ตามคนร้ายจึงถูกคนร้ายตีจนถึงแก่ความตาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวศาลฎีกาจึงเชื่อว่าที่นางสาววรรณภาเข้าไปตลบมุ้งผู้ตายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยสะดวกนั้นนางสาววรรณภากระทำไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวการกระทำของจำเลยที่ 2 ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการกระทำความผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 แต่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ฟังขึ้นเป็นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา 86 วางโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 52(1) จำคุกตลอดชีวิต การนำชี้ที่เกิดเหตุชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกห้าสิบปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share