แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาที่โจทก์จำเลยทำกันไว้ให้โจทก์ก่อสร้างอาคารในที่ดินของจำเลยมีข้อความว่า ” ข้อ 6 ผู้รับสร้างรับรองจะดำเนินการก่อสร้างอาคารตามแบบแปลนท้ายสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญาฯลฯ” และ ” ข้อ 9 หากการก่อสร้างได้ผิดแผกแตกต่างไปจากแบบแปลนท้ายสัญญานี้ และเมื่อผู้ให้สร้างได้บอกกล่าวให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ผู้รับสร้างจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามสัญญาภายในกำหนดเวลาอันสมควร หากผู้รับสร้างมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญานี้ ให้ถือได้ว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ให้สร้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้วัสดุภัณฑ์บรรดาที่มีอยู่และสร้างทำลงในที่ดินให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ให้สร้าง และผู้รับสร้างจะเรียกร้องขอคืนเงินส่วนใด ๆ บรรดาที่ได้วางชำระไว้แล้วตามสัญญานี้ไม่ ได้” ความในสัญญาดังนี้ จำเลยผู้ให้สร้างจะริบเงินของโจทก์ที่วางไว้ได้ก็เฉพาะแต่กรณีที่การก่อสร้างได้ผิดแผกแตกต่างไปจากแบบแปลนท้ายสัญญา เมื่อผู้ให้สร้างบอกให้แก้ไขแล้ว ผู้รับสร้างไม่ปฏิบัติเท่านั้น ส่วนกรณีที่ผู้รับสร้างก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญาข้อ 6 ผู้ให้สร้างจะรับเงินที่วางไว้หาได้ไม่ เพราะนอกเหนือข้อตกลงในสัญญาข้อ 9ทั้งสัญญาข้อ 6 ก็มิได้ตกลงให้ริบได้
จำเลยเป็นฝ่ายใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์ก็ไม่ขัดข้องสัญญาที่โจทก์จำเลยทำไว้ย่อมเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายย่อมกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเสมือนดังว่ามิได้มีสัญญาต่อกันเลยและสิ่งใดที่ส่งมอบให้แก่กันไปแล้วก็ต้องคืนให้แก่กัน แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหาย ในเรื่องผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว จำเลยก็ต้องคืนเงินที่รับไว้จากโจทก์ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับเงินไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำกลฉ้อฉลให้โจทก์ทำสัญญาก่อสร้างอาคารตึกแถวโดยหลอกลวงว่าที่ดินโฉนดที่ 604 ตรอกข้าวหลามเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของจำเลยทั้งสองและผู้เช่าห้องแถวเดิมบนที่ดินหมดอายุสัญญาเช่าแล้วจำเลยรับรองจะขอให้เทศบาลจัดการให้ผู้เช่าออกไปได้เพื่อโจทก์จะได้รื้อห้องแถวปลูกตึก แต่โจทก์ต้องจ่ายเงินค่าขนย้าย โจทก์หลงเชื่อได้จ่ายเงินค่าทำสัญญาและค่าหน้าดินให้จำเลยไป 143,250 บาท และได้จ่ายเงินค่าขนย้ายตามที่ตกลง ปรากฏว่าจำเลยไม่สามารถจัดการให้ผู้เช่าออกไปกลับบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระ จำเลยมีเจตนาไม่สุจริตและยังมีผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมอีก 3 คน ซึ่งจำเลยไม่ได้รับมอบอำนาจให้มาทำนิติกรรมกับโจทก์ สัญญาตกเป็นโมฆะ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 143,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญา จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ จำเลยไม่เคยหลอกลวงโจทก์ การที่โจทก์ก่อสร้างตามสัญญาไม่ได้เพราะผู้เช่าไม่ยอมออกและโจทก์ไม่ชำระเงินตามจำนวนที่เทศบาลเรียกร้อง จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินได้ โจทก์ไม่บอกล้างโมฆียะกรรม ไม่บอกเลิกสัญญา ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ทำสัญญาก่อสร้างกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจัดการมอบที่ดินในสภาพที่พร้อมจะให้โจทก์ทำการก่อสร้างได้เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิริบหรือยึดเงินต้องคืนให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ฟังไม่ได้ว่าร่วมหลอกลวงโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 143,250 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งนับแต่วันทำสัญญา ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงยุติ
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยฐานฉ้อโกงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ฉ้อโกงหรือใช้กลอุบายหลอกลวงโจทก์ให้หลงเชื่อเข้าทำสัญญาด้วย สัญญาก่อสร้างจึงสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนเงิน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยนำเช็คไปขึ้นเงินเมื่อใด และจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวเมื่อใด อันจะทราบถึงวันผิดนัด พิพากษาแก้ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อมา
ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาก่อสร้างอาคารกัน ในวันทำสัญญาจำเลยได้รับเงินค่าหน้าที่ดินและค่าทำสัญญาเป็นเช็ค 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 143,250 บาท ซึ่งจำเลยได้รับเงินตามเช็คนั้นแล้ว ต่อมาจำเลยขอเลิกสัญญากับโจทก์ โจทก์ได้ตอบไป
สัญญาที่โจทก์และจำเลยทำกันไว้มีข้อความดังนี้
“ข้อ 6 ผู้รับสร้างรับรองจะดำเนินการก่อสร้างอาคารตามแบบแปลนต่อท้ายสัญญานี้ให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในกำหนด 1 ปี 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญา ฯลฯ”
“ข้อ 9 หากการก่อสร้างได้ผิดแผกแตกต่างไปจากแบบแปลนท้ายสัญญานี้และเมื่อผู้ให้สร้างได้บอกกล่าวให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ผู้รับสร้างจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามสัญญาภายในกำหนดเวลาอันควรหากผู้รับสร้างมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญานี้ ให้ถือได้ว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ให้สร้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ วัสดุภัณฑ์บรรดาที่มีอยู่และสร้างทำลงในที่ดินให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ให้สร้าง และผู้รับสร้างจะเรียกร้องขอคืนเงินส่วนใด ๆ บรรดาที่ได้วางชำระไว้แล้วตามสัญญานี้ไม่ได้”
ในประเด็นข้อแรกที่ว่า จำเลยใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ให้เข้าทำสัญญาหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยมิได้ใช้กลอุบายหลอกลวงโจทก์ สัญญาที่โจทก์จำเลยทำไว้สมบูรณ์ โจทก์มิได้โต้เถียงในชั้นฎีกา ศาลฎีกาจึงฟังเป็นยุติว่า สัญญาที่ทำกันไว้สมบูรณ์ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์
ในประเด็นข้อ 2 จำเลยฎีกาว่า เพราะโจทก์ผิดสัญญาไม่ก่อสร้างตึกให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 6 เดือนตามสัญญาข้อ 6 จำเลยจึงริบเงินที่วางไว้ได้ ตามความในสัญญาข้อ 9
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยผู้ให้สร้างจะริบเงินที่วางไว้ได้ก็เฉพาะแต่กรณีที่การก่อสร้างได้ผิดแผกแตกต่างไปจากแบบแปลนท้ายสัญญา เมื่อผู้ให้สร้างบอกให้แก้ไขแล้วผู้รับสร้างไม่ปฏิบัติเท่านั้น กรณีอื่นดังเช่นกรณีที่ผู้รับสร้างก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด 1 ปี 6 เดือน ซึ่งจำเลยขอเลิกสัญญานั้น จำเลยจะริบเงินที่วางไว้หาได้ไม่ เพราะเป็นการนอกเหนือข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 9 หากโจทก์จำเลยประสงค์จะให้มีการริบเงินที่วางไว้ในการทำสัญญา รวมถึงกรณีผิดสัญญาข้ออื่นด้วยแล้วก็น่าจะเขียนข้อความที่ศาลขีดเส้นใต้ไว้ข้างต้นเป็นอีกข้อหนึ่งหรือย่อหน้าเสียหรือมิฉะนั้นจะเขียนว่า “หากผู้รับสร้างมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญานี้ข้อหนึ่งข้อใด ให้ถือได้ว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฯลฯ” ต่อเนื่องเชื่อมโยงกับข้อความตอนต้นไว้ในสัญญาข้อ 9 ก็ย่อมทำได้การเขียนสัญญาเชื่อมโยงดังปฏิบัติในสัญญาข้อ 9 เห็นได้ว่าคู่กรณีในสัญญามีความประสงค์จะให้มีการริบเงินกันได้ก็แต่เฉพาะกรณีการก่อสร้างผิดจากแบบแปลน แล้วผู้รับสร้างไม่ยอมแก้ไขเท่านั้นแม้จะฟังว่าโจทก์ผิดสัญญาข้อ 6 จำเลยก็หาอาจริบเงินที่โจทก์วางไว้นั้นได้ไม่ เพราะในสัญญาข้อ 6 ไม่มีข้อความให้ริบเงินอย่างสัญญาข้อ 9
เนื่องจากจำเลยเป็นฝ่ายใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์ก็ไม่ขัดข้องเช่นนี้ สัญญาที่โจทก์จำเลยทำไว้เป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายย่อมกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเสมือนดังว่ามิได้มีสัญญาต่อกันเลย และสิ่งใดที่ส่งมอบให้แก่กันไปแล้วก็ต้องคืนให้แก่กัน แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายในเรื่องผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ อันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ซึ่งมิได้พิพาทกันในคดีนี้ เหตุนี้จำเลยจึงต้องคืนเงิน 143,250 บาท ที่รับไว้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับตั้งแต่จำเลยได้รับเงินไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ประกอบด้วยมาตรา 7 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง โจทก์พอใจไม่ฎีกาย่อมเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน