แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นคู่สัญญากับโจทก์ โดย จำเลยได้ รับมอบเงินจากโจทก์แล้วสัญญาจะใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย อันเป็นการรับฝากเงินโดย สัญญาให้ดอกเบี้ย ดังนี้มี ผลผูกพันบริษัทจำเลยให้ต้อง รับผิดตาม สัญญารับฝากเงินดังกล่าว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมีวัตถุประสงค์รับฝากเงินจากประชาชนและให้กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ย นายพัลลภอัศวเนตรมณี และนางสาวงามจิต แซ่เบ๊ กรรมการร่วมกันกระทำการแทนจำเลยได้ โจทก์ได้ฝากเงินจำเลยไว้หลายรายการตกลงมีดอกเบี้ยนายพัลลภ อัศวเนตรมณี กับนางสาวงามจิต แซ่เบ๊ ร่วมกันสั่งจ่ายเช็ครวม 4 ฉบับ ในนามจำเลยชำระเงินฝากคืนแก่โจทก์ โดยจำเลยรู้เห็นยินยอมให้บุคคลทั้งสองกระทำการเสมอด้วยตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลย เช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยไม่เคยรับฝากเงินตามฟ้องจากโจทก์ ไม่เคยออกเช็คเพื่อเป็นหลักฐานการชำระเงินฝากคืนแต่อย่างใด เช็คดังกล่าวเป็นของนายพัลลภ อัศวเนตรมณี และนางสาวงามจิตแซ่เบ๊ ออกให้โจทก์ในกิจการส่วนตัว จำเลยไม่เคยมอบให้บุคคลทั้งสองเป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิด และไม่เคยให้สัตยาบันเกี่ยวกับการรับฝากเงินและออกเช็คตามฟ้อง โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้ประชาชนเข้าใจว่าจำเลยมีเจตนาฉ้อโกงประชาชน จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้ง จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง แต่ได้ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตและจำหน่ายคดีสำหรับฟ้องแย้งแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินคืนแก่โจทก์จำนวน 1,750,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดตามเช็คที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าตามเช็คพิพาทดังกล่าวผู้ที่ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค คือนายพัลลภ อัศวเนตรมณี และนางสาวงามจิต แซ่เบ๊ ซึ่งได้ลงลายมือชื่อในฐานะส่วนตัวเป็นผู้สั่งจ่าย มิได้ระบุว่ากระทำการแทนจำเลยหรือบุคคลใด ดังนั้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิด เห็นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเพื่อการเคหะ จำเลยสามารถจะกู้ยืมเงินและรับเงินจากประชาชนโดยตกลงจ่ายดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นวิธีการจัดหามาซึ่งเงินทุนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย ล.73นายพัลลภ อัศวเนตรมณี เป็นกรรมการผู้จัดการและนางสาวงามจิต แซ่เบ๊เป็นกรรมการของบริษัทจำเลย ทั้งสองคนมีอำนาจทำกิจการของบริษัทจำเลยได้ โจทก์นำเงินไปฝาก ณ ที่ทำการของบริษัทจำเลยต่อพนักงานของจำเลย พนักงานของจำเลยรับฝากเงินจากโจทก์และดำเนินการให้นายพัลลภ อัศวเนตรมณี และนางสาวงามจิต แซ่เบ๊ ออกเช็คสั่งจ่ายเงินตามจำนวนเงินที่รับจากโจทก์และกำหนดวันจ่ายเงินคืนตามเช็คเป็นเวลา 1 ปี แล้วนำเช็คบรรจุในซองพลาสติกมีตราของบริษัทจำเลยแล้วใส่ในซองจดหมายซึ่งมีชื่อบริษัทจำเลยมอบให้พนักงานจำเลยนำมามอบให้แก่โจทก์ มีลักษณะเพื่อเป็นการใช้เงินคืน ซึ่งจำเลยเคยปฏิบัติต่อโจทก์เช่นเดียวกันนี้มาก่อน เพียงแต่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อยกล่าวคือ เมื่อครั้งก่อน ๆ จำเลยโดยกรรมการผู้จัดการและกรรมการอีก 1 คน ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยในตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมระบุอัตราดอกเบี้ยมอบแก่โจทก์เพื่อเป็นการใช้เงินคืน การที่โจทก์นำเงินไปมอบให้แก่จำเลยก็เพื่อประสงค์จะได้ดอกเบี้ยตามข้อตกลงที่จำเลยให้สัญญานั้น แต่โจทก์มิได้ตกลงกับจำเลยโดยเฉพาะว่าการใช้เงินคืนแก่โจทก์ จำเลยจะต้องทำการออกตั๋วสัญญาใช้เงินหรือออกเช็คให้แก่โจทก์หรือต้องทำในรูปสัญญากู้ยืม หรือประการอื่นใด การที่กรรมการผู้จัดการและกรรมการอีก 1 คน ร่วมกันลงลายมือชื่อออกเช็คสั่งจ่ายเงินตามจำนวนที่รับมอบจากโจทก์ กำหนดจ่ายเงินคืนไว้ล่วงหน้าอีก 1 ปี ตามระยะเวลาที่ตกลงใช้เงินคืน จึงเป็นกรณีที่ตัวแทนจำเลยปฏิบัติต่อโจทก์ฝ่ายเดียว โจทก์มิได้ตกลงหรือรู้เห็นด้วยว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงิน หรือรับเงินจากประชาชนและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรืออาจเรียกได้ จึงมิใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายอันจะเป็นการนอกวัตถุประสงค์ของบริษัท พฤติการณ์ดังกล่าวมาของพนักงานบริษัทจำเลยตลอดจนกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริษัทจำเลยตามที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยเป็นคู่สัญญากับโจทก์ โดยจำเลยได้รับมอบเงินจากโจทก์แล้วสัญญาจะใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย อันเป็นการรับฝากเงินโดยสัญญาให้ดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้อง จึงมีผลผูกพันบริษัทจำเลยให้ต้องรับผิดตามสัญญารับฝากเงินดังกล่าว ฉะนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินคืนแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามที่ได้สัญญาไว้…”
พิพากษายืน.