คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4515-4516/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของจำเลยไม่ชอบเพราะจำเลยอายุเกิน ๗๐ ปีแล้ว แต่ไม่มีผู้รับรองว่าจำเลยยังมีสติรู้ผิดชอบนั้นเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ แม้จำเลยอาจยกขึ้นฎีกาได้เนื่องจากเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าข้อกฎหมายดังกล่าวมิใช่ข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๙ วรรคแรก ศาลฎีกามีอำนาจไม่รับวินิจฉัย
บิดาโจทก์ขายห้องแถวพิพาทให้แก่จำเลยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๗ และจำเลยได้ครอบครองโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแม้การซื้อขายมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ ห้องแถวพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยด้วยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ และแม้จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว แต่จำเลยซื้อเฉพาะตัวห้องแถว ไม่มีกฎหมายห้ามบุคคลต่างด้าวเป็นเจ้าของห้องแถว จำเลยย่อมมีสิทธิซื้อห้องแถวดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกนางสาวปราณีตโจทก์สำนวนแรกและจำเลยสำนวนหลังว่า โจทก์ เรียกนางดัวจำเลยสำนวนแรก และโจทก์สำนวนหลังว่า จำเลย
โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า เดิมห้องแถวเลขที่ ๕๔๘ และ ๕๕๐ ปลูกบนที่ดินที่เช่ากับสำนักงานราชพัสดุจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นของนายเป้า ปิ่นจินดา บิดาโจทก์ บิดาโจทก์ถึงแก่กรรมไปแล้ว ห้องแถวดังกล่าวจึงตกเป็นของโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรม จำเลยเป็นภริยานายเกา แซ่อึ้ง ผู้อยู่อาศัยในห้องแถวดังกล่าวโดยได้รับอนุญาตจากบิดาโจทก์ นายเกาถึงแก่กรรมไปแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิที่จะอาศัยอยู่อีกต่อไป แต่จำเลยยังคงอยู่ต่อมา ต่อมาโจทก์ไปติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่อำเภอท่าเรือเพื่อขอรับมรดกห้องแถวและขอเช่าที่ดินกับสำนักงานราชพัสดุจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยไปคัดค้าน การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากห้องแถวพิพาท และให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๕๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากห้องแถวพิพาท
จำเลยสำนวนแรกให้การว่า จำเลยซื้อห้องแถวพิพาทจากบิดาโจทก์เมื่อปีพ.ศ.๒๔๘๗ จำเลยได้ครอบครองมาโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันซื้อจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีสิทธิในการเช่าที่ดินจากสำนักงานราชพัสดุจังหวัดพระนครศรีอยุธยาดีกว่าโจทก์
โจทก์สำนวนหลังฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๘๗ โจทก์ซื้อห้องแถวพิพาทตามฟ้องโจทก์สำนวนแรกจากนายเป้าบิดาจำเลยเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำการค้าในราคา ๒,๐๐๐ บาท โจทก์ได้ครอบครองห้องแถวพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลา ๓๘ ปีแล้วโดยจำเลยทราบดี เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๒๔หลังจากบิดาจำเลยถึงแก่กรรม จำเลยได้ไปยื่นคำร้องขอเช่าที่ดินดังกล่าวกับทางสำนักงานราชพัสดุ โจทก์ได้ไปคัดค้านไว้ ต่อมาจำเลยได้บุกรุกเข้าใช้โซ่คล้องประตูห้องแถวพิพาทและใส่กุญแจไว้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเข้าไปอยู่อาศัยและทำการค้าไม่ได้ หากโจทก์นำห้องแถวพิพาทออกให้เช่า จะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท ขอให้ห้ามจำเลยมิให้รบกวนการครอบครองห้องแถวพิพาทของโจทก์ ให้ใช้ค่าเสียหายนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๑ ปี เป็นเงิน ๔๘,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะระงับการกระทำละเมิด
จำเลยสำนวนหลังให้การว่า โจทก์มิได้มอบอำกนาจให้นายถกลฟ้องคดีแทนลายมือชื่อผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจตามเอกสารท้ายฟ้อง มิใช่ลายมือชื่อโจทก์และนายถกลโจทก์อายุกว่า ๗๐ ปีแล้ว ไม่มีผู้ใดรับรองว่ายังมีสติสมบูรณ์ดีและมีความประสงค์จะทำกิจการตามเอกสารดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นายเป้าบิดาจำเลยให้สามีโจทก์อาศัยอยู่ในห้องแถวพิพาท สัญญาซื้อขายท้ายฟ้องเป็นโมฆะ เพราะมิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโจทก์มิได้ครอบครองห้องแถวพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของและติดต่อกันดังฟ้อง โจทก์และสามีได้สละการครอบครองและส่งคืนห้องแถวพิพาทให้บิดาจำเลยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ โจทก์เป็นคนต่างด้าวไม่มีสิทธิเช่าที่ดินราชพัสดุ บิดาจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าที่ดินที่ตั้งห้องแถวพิพาทตลอดมา โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ระงับการรบกวนกรรมสิทธิ์ในห้องแถวเลขที่ ๕๔๘ และ ๕๕๐ ถนนเทศบาล ๑ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ให้โจทก์เกี่ยวข้องอีกต่อไป คำขออื่นของจำเลยให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนแรก
โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นางดัว จำเลยถึงแก่กรรม นายถกลประภัทรโพธิพงศ์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายข้อแรกว่า จำเลยซึ่งเป็นโจทก์สำนวนหลังไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยมีอายุเกิน ๗๐ ปีแล้ว การมอบอำนาจจะต้องมีผู้รับรองว่าจำเลยยังมีสติรู้ผิดชอบ แต่หนังสือมอบอำนาจของจำเลยไม่มีเจ้าหน้าที่อำเภอหรือผู้อื่นลงลายมือชื่อรับรองไว้เลย ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบว่าเหตุใดจึงไม่มีเจ้าหน้าที่รับรอง และไม่ได้นำสืบพยานเลยว่า ในขณะมอบอำนาจนั้นจำเลยยังมีสติรู้ผิดชอบหรือไม่ หนังสือมอบอำนาจของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตกเป็นโมฆะ นายถกลจึงไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ปัญหาในเรื่องอำนาจฟ้องหรือการมอบอำนาจของจำเลยนี้ในชั้นอุทธรณ์ปรากฏว่า โจทก์อุทธรณ์เพียงประการเดียวว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจมิใช่ลายมือชื่อจำเลยข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาดังกล่าวข้างต้นจึงมิใช่ข้อกฎหมายที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ แม้จำเลยอาจยกขึ้นฎีกาได้เนื่องจากเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ข้อกฎหมายดังกล่าวมิใช่ข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรนา ๒๔๙ วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ห้องแถวพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยมิได้ซื้อจากบิดาโจทก์และมิได้กรรมสิทธิ์ในห้องแถวพิพาทนั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า บิดาโจทก์ได้ขายห้องพิพาทให้แก่จำเลยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๗ และจำเลยได้ครอบครองโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่าสิบปี ซึ่งแม้การซื้อขายมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ห้องแถวพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยด้วยการครอบครองปรปักษ์แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าวไม่มีสิทธิซื้อห้องแถวพิพาทนั้น เห็นว่า จำเลยซื้อเฉพาะตัวห้องแถว ไม่มีกฎหมายห้ามบุคคลต่างด้าวเป็นเจ้าของห้องแถว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share