คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นอีก200,000 บาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ในเนื้อหาแห่งคดีโดยตรง แต่โจทก์ได้ยกเหตุว่าค่าขึ้นศาลอันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมนั้น มิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมายและโต้แย้งคำสั่งศาลแล้ว จึงอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 24 ประกอบ ป.วิ.พ.มาตรา 168มาตรา 226 และ 247
ป.วิ.พ.มาตรา 150 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ในคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาท ในการพิจารณาว่าโจทก์จะเสียค่าขึ้นศาลเป็นจำนวนเท่าใด ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในตาราง 1 ท้ายป.วิ.พ.ข้อ (1)
การคิดค่าขึ้นศาลในคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ว่า คำฟ้องในกรณีปกติให้เรียกค่าขึ้นศาลโดยอัตรา 2.50 บาทต่อทุก 100 บาท แต่ไม่ให้เกิน 200,000 บาท แม้ว่าทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทเมื่อคำนวณแล้วจะเกิน 200,000 บาท ก็ตาม ซึ่งหามีบทบัญญัติบังคับว่า ในคำฟ้องฉบับเดียวกันนั้นจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาทเท่านั้นไม่ แม้ว่ามีข้อหาหลายข้อหาด้วยกัน
คำฟ้องตามมาตรา 1 (3) หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล เมื่อพิจารณาประกอบกับ ป.วิ.พ.มาตรา 29แสดงให้เห็นว่า ในการที่โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลในคำฟ้องฉบับหนึ่งนั้นอาจมีข้อหาหลายข้อด้วยกันได้ และให้อำนาจแก่ศาลมีคำสั่งแยกคดีได้ในกรณีที่ศาลเห็นว่าข้อหาหนึ่งข้อหาใดเหล่านั้นมิได้เกี่ยวข้องกันกับข้อหาอื่น ๆ หรือแม้ว่าข้อหาเหล่านั้นเกี่ยวพันกัน แต่ศาลเห็นว่าหากแยกพิจารณาข้อหาทั้งหมดหรือข้อใดข้อหนึ่งออกจากกันแล้วจะเป็นการสะดวก ศาลก็มีอำนาจสั่งแยกข้อหาเหล่านั้นทั้งหมดหรือแต่ข้อใดข้อหนึ่งออกพิจารณาต่างหากเป็นเรื่อง ๆ ไปได้เท่านั้น มิได้บังคับว่าถ้าศาลสั่งแยกข้อหาแล้วจะเรียกค่าขึ้นศาลเพิ่มไม่ได้ และตาม ป.วิ.พ.มาตรา 150 วรรคสี่ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าในคำฟ้องใดหรือฉบับเดียวกันในกรณีที่มีหลายข้อหา ย่อมสามารถคิดค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาไปได้ ซึ่งต้องพิจารณาถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับของโจทก์ในคำฟ้องนั้นเป็นแต่ละข้อหาไปว่าเกี่ยวข้องกันหรือแยกกัน
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งเป็นภาษีอากรประเมิน ป.รัษฎากรว่าด้วยการเก็บภาษีจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมาตรา 65 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลว่าให้เสียเป็นรอบระยะเวลาบัญชี ดังนั้น ในกรณีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัดสำหรับกรณีพิพาทจึงมี 2 รอบระยะเวลาบัญชีคือรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 และอาจมีการดำเนินกิจการ มีผลประกอบการแตกต่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ด้วยเหตุนี้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีในกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีจึงมีสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแตกต่างกันได้ กล่าวคือการคิดคำนวณรายได้และหักรายจ่ายในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเพื่อหากำไรสุทธิจึงแยกต่างหากออกจากกันได้โดยชัดแจ้ง ฉะนั้น สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกจากกันได้ การที่โจทก์รวมภาษีทั้ง 2 รอบระยะเวลาบัญชีมาเป็นจำนวนเดียวและเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดครั้งเดียว โดยมิได้แยกทุนทรัพย์แต่ละข้อหาจึงไม่ถูกต้อง การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลโดยแยกเป็นรอบระยะเวลาบัญชี จึงเป็นการชอบแล้ว

Share