คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11190/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการนั้น ต้องเป็นการลักทรัพย์ในสถานที่ซึ่งใช้ปฏิบัติราชการโดยตรง หาได้หมายความรวมถึงบริเวณของสถานที่ราชการนั้นด้วย การที่จำเลยลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่จอดไว้ระหว่างป้อมยามที่ 1 และป้อมยามที่ 2 บริเวณทางเข้าวนอุทยานที่เกิดเหตุ ซึ่งมิใช่สถานที่ซึ่งใช้ปฏิบัติราชการโดยตรง จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 335 (8)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1058/2546 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 4 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (8) วรรคสอง จำคุก 6 ปี คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายกับนายสุจินต์ เบิกความว่า ภายหลังเกิดเหตุนายธนธรณ์ใช้อาวุธปืนยิงขู่นายสำเริงหรือจ้อนพวกของจำเลยที่ถืออาวุธมีดเหลียนจะฟันทำร้ายนายธนธรณ์ จนทำให้นายสำเริงหรือจ้อนได้รับอันตรายมีบาดแผลถูกยิงที่ขาและวิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายวินัยหลบหนีไปพร้อมนายวินัยและนายอาทิตย์ ส่วนจำเลยวิ่งหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุแล้วย้อนกลับมาขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่จอดอยู่ข้างป้อมยามออกไปจากสถานที่เกิดเหตุ ในขณะผู้เสียหายพานายธนธรณ์กลับไปส่งที่บ้านพัก โดยนายสุจินต์ประจักษ์พยาน ผู้พบเห็นจำเลยขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกไปจากวนอุทยานที่เกิดเหตุ เบิกความยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุนายคล้ายกับนางหร่อง เจ้าหน้าที่วนอุทยานถ้ำเพชร – ถ้ำทอง ไม่ได้เข้าเวรยามและนายสุจินต์พบเห็นจำเลยขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกไปจากข้างป้อมยามที่เกิดเหตุในขณะไม่มีคนอยู่ที่ป้อมยาม ส่วนผู้เสียหายก็ยืนยันว่า ผู้เสียหายเพิ่งทราบเหตุรถจักรยานยนต์สูญหายในขณะเดินกลับจากบ้านพักของนายธนธรณ์มาถึงป้อมยามที่เกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้เบิกความยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้ยืมรถจักรยานยนต์ของตน ซึ่งเมื่อโจทก์ได้นำร้อยตำรวจเอกสุรพงษ์พนักงานสอบสวนมาเบิกความรับรองคำอ้างของผู้เสียหายและนายสุจินต์ว่า หลังเกิดเหตุผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานลักทรัพย์รถจักรยานยนต์ โดยอ้างว่ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายสูญหายไปในระหว่างที่ผู้เสียหายพาหัวหน้าวนอุทยานกลับบ้านพักภายหลังเกิดเหตุบุกรุกวนอุทยานและมีเหตุยิงกัน ประกอบกับจำเลยคงมีเพียงตัวจำเลยเบิกความอ้างลอยๆ ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยขอยืมรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจากนายคล้ายและนางหร่อง เพื่อไปเยี่ยมอาการบาดเจ็บของนายสำเริงหรือจ้อนโดยจำเลยมิได้นำบุคคลทั้งสองมาเบิกความสนับสนุนข้ออ้าง และมิได้ถามค้านพยานโจทก์ให้ได้ความตามข้ออ้างของจำเลย อันนับเป็นข้ออ้างที่มีน้ำหนักน้อย ตลอดจนข้อเท็จจริงก็ได้ความจากทางพิจารณาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยกับพวกเป็นฝ่ายก่อเหตุโต้เถียงวิวาทกับผู้เสียหายและนายธนธรณ์ จนเกิดเหตุนายธนธรณ์ใช้อาวุธปืนยิงถูกนายสำเริงหรือจ้อนได้รับอันตรายและพากันหลบหนีไป ยังอันไม่มีเหตุควรเชื่อว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นคู่พิพาทกับจำเลยและพวก จะยินยอมให้จำเลยซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อนและอยู่ในอาการมึนเมาสุราอย่างมาก ยืมรถจักรยานยนต์ดังข้ออ้างของจำเลย พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปโดยปราศจากความรู้เห็นยินยอมของผู้เสียหายเพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยมิชอบ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง ดังนั้น แม้ทางนำสืบของโจทก์จะได้ความว่า ข้อที่จำเลยต่อสู้ว่า ผู้เสียหายกับร้อยตำรวจเอกสุรพงษ์ พนักงานสอบสวนเบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับวันที่ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์และปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัย จากรถที่ผู้เสียหายทำประกันภัยไว้ เห็นว่า แม้จะปรากฏความดังข้ออ้างของจำเลย แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงพลความ ทั้งการได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็มิใช่เหตุที่จะรับฟังเป็นข้อพิรุธว่า ผู้เสียหายรู้เห็นยินยอมให้จำเลยยืมรถจักรยานยนต์ดังข้อต่อสู้ของจำเลย ส่วนที่จำเลยต่อสู้อ้างว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเพื่อไปเยี่ยมนายสำเริงหรือจ้อน ไม่มีเจตนาลักทรัพย์นั้น เห็นว่า คงมีเพียงคำเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ ของจำเลยที่มีน้ำหนักน้อย ทั้งการกระทำดังกล่าวก็เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปเพื่อประโยชน์ของตนโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำโดยทุจริตและถือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง การกระทำอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการนั้นต้องเป็นการลักทรัพย์ในสถานที่ซึ่งใช้ปฏิบัติราชการโดยตรง หาได้หมายความรวมถึงบริเวณของสถานที่ราชการนั้นด้วยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่จอดไว้ระหว่างป้อมยามที่ 1 และป้อมยามที่ 2 บริเวณทางเข้าวนอุทยานที่เกิดเหตุ ซึ่งมิใช่สถานที่ซึ่งใช้ปฏิบัติราชการโดยตรง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) จำเลยคงมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนเท่านั้น ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นเพียงบางส่วน
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (8) วรรคสองลงโทษจำคุก 4 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน. โดยให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share