คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1119/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องอ้างว่าโจทก์มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแล้วถูกทางราชการตำรวจภูธรอำเภอท่าอุเทนซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยบังคับให้โจทก์ทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ ดังนี้เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ในฐานะเป็นคนมีสัญชาติไทยตามกฎหมายแพ่ง โจทก์มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7(3) เกิดจากมารดาคือโจทก์ที่ 1 เป็นคนญวนอพยพได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว ส่วนบิดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสฉะนั้นโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 จึงถูกถอนสัญชาติไทยแล้วตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนสัญชาติไทยแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่โจทก์แต่ประการใดนั้น ได้พิเคราะห์คำฟ้องแล้ว ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีสัญชาตไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแล้วถูกทางราชการตำรวจภูธรอำเภอท่าอุเทนซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 บังคับให้โจทก์ทั้งเจ็ดทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ โจทก์ทั้งเจ็ดจำยอมต้องทำเพราะกลัวถูกจับกุมและเนรเทศ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งเจ็ดถูกบังคับอย่างคนญวนอพยพ คือจะออกไปนอกเขตอำเภอท่าอุเทนก็ต้องขออนุญาตและต้องเสียภาษีการประกอบอาชีพ โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอคืนสัญชาติผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมก็สั่งยกคำร้องเห็นว่าคำฟ้องดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพข้อหา คือการกระทำของทางราชการตำรวจภูธรอำเภอท่าอุเทนซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสามที่บังคับให้โจทก์ทั้งเจ็ดทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะเป็นคนมีสัญชาติไทยตามกฎหมายแพ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

จำเลยฎีกาเป็นข้อต่อไปว่า โจทก์ทั้งเจ็ดไม่ใช่คนสัญชาติไทยนั้น ในปัญหานี้โจทก์ที่ 1 อ้างว่าเกิดในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2471 ทีตำบลหนองแสง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม โดยบิดามารดาเป็นคนญวนต่างด้าว ตามเอกสารหมาย จ.2 จ.3 ในเอกสารดังกล่าวระบุว่าชื่อนายเดื่องนามสกุลมาย และนางเหวียนนามสกุลมายตามลำดับและโจทก์ที่ 1 อ้างว่านับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ตามประเพณีทางศาสนานี้เด็กเกิดใหม่บิดามารดาจะต้องนำไปทำพิธีล้างบาป ซึ่งบิดามารดาได้นำโจทก์ที่ 1 ไปทำพิธีล้างบาปที่วัดโรมันคาทอลิกหนองแสงมีบาทหลวงโปแลงเป็นผู้ทำพิธีให้และเข้าบัญชีวัดไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งในเอกสารนี้ระบุว่าเด็กที่ทำพิธีล้างบาปเกิดวันที่ 17 มกราคม คริสต์ศักราช1928 (ตรงกับ พ.ศ. 2471) เป็นบุตรของนายเปโตรเดืองและนางแมตลิงและให้ชื่อเด็กว่ามาร์การิตา โจทก์ที่ 1 อ้างว่ามาร์การิตาเป็นชื่อโจทก์ที่ 1 ตามภาษาลาติน ในเรื่องชื่อดังกล่าวนี้มีคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ปากเดียวไม่มีพยานอื่นประกอบ โจทก์ที่ 1 อ้างต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 ถูกทางราชการตำรวจภูธรอำเภอท่าอุเทนบังคับให้ทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพเมื่อปี พ.ศ. 2487 เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยได้ความจากคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจสุระ ร้อยตำรวจเอกยุทธศิลป์และร้อยตำรวจโทวัฒนาว่า คนญวนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 เป็นต้นไป จึงถือว่าเป็นคนญวนอพยพ และทางกระทรวงมหาดไทยประกาศให้คนญวนอพยพไปทำบัตรที่สถานีตำรวจภูธรในปี พ.ศ. 2495 กรณีเกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.4 ใบสำคัญแสดงรูปพรรณซึ่งเป็นหนังสือราชการที่นายอำเภอท่าอุเทนเป็นผู้ทำเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2493 ระบุว่า โจทก์ที่ 1 เป็นคนสัญชาติญวน เชื้อชาติญวน เข้ามาประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 และในวันเดียวกันนี้ข้าหลวงประจำจังหวัดนครพนมได้ออกหนังสือสำคัญตามเอกสารหมาย ล.3 ระบุว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้อพยพหลบภัยจากอินโดจีนฯ ผ่านเข้ามาทางจังหวัดนครพนม ได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวภายในเขตจังหวัดนครพนมเพื่อรอเดินทางกลับไปยังถิ่นเดิม ซึ่งหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวนี้ทำขึ้นก่อนที่กระทรวงมหาดไทยประกาศให้คนญวนอพยพไปทำบัตรที่สถานีตำรวจภูธรอันเป็นหลักฐานหนังสือราชการที่ออกให้แก่โจทก์ที่ 1เพื่อแสดงว่าโจทก์ที่ 1 เป็นคนญวนอพยพ ถ้าโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่คนญวนอพยพก็ไม่มีเหตุที่ต้องทำเอกสารดังกล่าวนี้ และต่อมา พ.ศ. 2495 เมื่อทางกระทรวงมหาดไทยประกาศให้คนญวนอพยพไปทำบัตรแล้วจากเอกสารหมาย ล.1 หรือ จ.14 ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอรับใบสำคัญประจำตัวคนญวนอพยพ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2495 โดยระบุว่า โจทก์ที่ 1เป็นคนสัญชาติญวน เชื้อชาติญวนเกิดที่ตำบลกวางแต๊ก อำเภอกวางแต๊กจังหวัดกวางปิง เมื่อ พ.ศ. 2469 เป็นบุตรของนายเดือง นางเดือง ซึ่งปีเกิดของโจทก์ที่ 1 ที่ระบุนี้ก็ไม่ตรงกับปีเกิดของโจทก์ที่ 1 ที่กล่าวอ้างในคำฟ้อง และเอกสารหมาย จ.1 ชื่อมารดาก็ไม่ตรงกับชื่อในเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งระบุว่าชื่อเหวียน เอกสารหมาย ล.4 ล.3 ล.1 หรือ จ.14 ดังกล่าวนี้เชื่อว่าเจ้าหน้าที่จดข้อความตามที่โจทก์ที่ 1 บอก มิฉะนั้นแล้วเจ้าหน้าที่คงไม่ทราบสถานที่และปีเกิดของโจทก์ที่ 1 และปีที่โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอรับใบสำคัญประจำตัวคนญวนอพยพก็ไม่ตรงกับปี พ.ศ. 2487 ซึ่งเป็นปีที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่าถูกทางราชการตำรวจภูธรอำเภอท่าอุเทนบังคับให้ทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพและเมื่อพิจารณาเอกสารหมาย จ.19 (สำเนา) ทะเบียนบ้านญวนอพยพระบุว่ามารดาโจทก์ที่ 1 ชื่อหลิว จะเห็นว่าชื่อมารดาโจทก์ที่ 1 ที่ปรากฏในเอกสารต่าง ๆที่โจทก์ที่ 1 อ้างเป็นพยานเช่นเอกสารหมาย จ.1 จ.3 จ.14 หรือ ล.1 และ จ.19 ไม่ตรงกันเลย และไม่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวนี้แม้แต่ฉบับเดียว ที่ระบุว่ามารดาโจทก์ที่ 1 ชื่อนางหลิวหรือเหวียนซึ่งเป็นคนสองชื่อดังโจทก์อ้างในคำฟ้องคงมีแต่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ที่ระบุว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนายเดืองนางหลิว หรือเหวียน ซึ่งเป็นเอกสารที่บาทหลวงนรินทร์ ศิริวิริยานันท์ออกให้ ตามทางนำสืบไม่ปรากฏว่าบาทหลวงนรินทร์ ศิริวิริยานันท์ทราบได้อย่างไรเพราะข้อความก็ไม่ตรงกับเอกสารหมาย จ.1 บัญชีเกิดของวัดโรมันคาทอลิก หนองแสง เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ดังวินิจฉัยฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามารดาโจทก์ที่ 1 ชื่ออะไร แม้โจทก์ที่ 1 จะมีนางหงุ่ย นางเลียวต่างก็เป็นคนญวนอพยพและนายตีหรือตี๋สามีโจทก์ที่ 1 เบิกความเป็นพยานว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนายเดือง นางเหวียน คนญวนต่างด้าวซึ่งเป็นบุคคลตามเอกสารหมาย จ.2 จ.3 และเกิดในประเทศไทย เห็นว่าคำเบิกความของพยานบุคคลดังกล่าวไม่สอดคล้องกับพยานเอกสารดังวินิจฉัยแล้วเป็นคำเบิกความลอย ๆ มีน้ำหนักน้อย เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยแล้วเห็นว่าเอกสารหมาย ล.4 ล.3 ซึ่งเป็นเอกสารราชการมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ เชื่อว่าโจทก์ที่ 1 เป็นญวนอพยพหลบภัยเข้ามาในประเทศไทยทางจังหวัดนครพนม ได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวเพื่อเดินทางกลับไปยังถิ่นเดิมไม่ใช่บุตรของคนญวนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยและไม่ได้เกิดในประเทศไทยดังฟ้อง โจทก์ที่ 1 จึงไม่ใช่คนสัญชาติไทย สำหรับโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 7 จากเอกสารหมาย จ.6 จ.9 จ.10 จ.11 จ.12 และ จ.13 สูติบัตร และจากคำฟ้องคำให้การ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 7 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 ที่เป็นคนญวนอพยพโดยมีนายตีหรือตี๋คนญวนต่างด้าวเป็นบิดาซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ 1 และเกิดที่ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ประเทศไทย โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 7 จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) บัญญัติว่า ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ดังนั้นโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 2 จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ที่ได้รับสัญชาติไทยดังวินิจฉัยแล้วถูกถอนสัญชาติไทยหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนี้ได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่าโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 7 เป็นคนญวนอพยพหลบภัยเข้ามาในประเทศไทย ได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราว ทั้งบิดาก็ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาจึงไม่ใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 7 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(2) บัญญัติไว้ความว่า “ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว” ทั้งไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นสมควร และสั่งเป็นประการอื่นเกี่ยวกับสัญชาติของโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 7 ฉะนั้นโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 7 ถูกถอนสัญชาติไทยแล้วตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 ฎีกาข้ออื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความรวม 1,500 บาท

Share