คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11188/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บุคคลหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนอันตนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าเป็นตัวแทนของตนตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 821 นั้น นอกจากจะมีการแสดงออกว่าเป็นตัวแทนของบุคคลใดแล้ว บุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วยจะต้องรับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลนั้นที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการด้วย ผู้ที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการ จึงจะต้องรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการ ถ้าหากบุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วย มิได้รับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลอื่น แต่ยอมติดต่อโดยเชื่อถือผู้ที่มาติดต่อด้วยอย่างผู้มาติดต่อเป็นเจ้าของกิจการนั้นเองแล้ว ก็ต้องถือว่าไม่ใช่กรณีที่บุคคลคนหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทน หรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองเป็นผู้แทนตน อันตนจะต้องพลอยรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการไปด้วย และต้องถือเป็นกรณีที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นติดต่อกับบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัวเอง ไม่มีการพาดพิงไปถึงบุคคลใดให้ต้องรับผิดชอบด้วย ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์เป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 บังคับให้จำเลยแสดงออกแก่โจทก์ทำให้โจทก์เชื่อว่าการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 เอง จึงเป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 เชิดจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 1 จะยกเหตุการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมที่ 1 เพื่อจำเลยจะได้มีเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 ตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยร่วมที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นหรือตัดสินใจในการกำหนดราคาซื้อขายหรือเข้าถือเอาประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างกันเอง มาเป็นเหตุอ้างปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายเพราะการนี้หาได้ไม่ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ทราบว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยร่วมที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมที่ 2 นั้น จำเลยร่วมที่ 2 ย่อมทราบแล้วว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่จะต้องรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบอยู่ก่อนรับโอนที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยดำเนินการกระทำนิติกรรมขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2837 ตำบลบางโพงพาง อำเภอเมือง จังหวัดนครเขื่อนขันธ์ แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและหากไม่สามารถปฏิบัติได้ขอให้จำเลยคืนแคชเชียร์เช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด เลขที่ 1994324 ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2546 และแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด เลขที่ 45119 ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม 2546 ชดใช้ค่าปรับตามสัญญาจำนวน 10,000,000 บาท และชำระค่าเสียหายค่าจัดทำโครงการ ค่าเขียนแบบแปลน ค่าบริหารจัดการ ค่าใช้จ่ายขอสินเชื่อธนาคาร ค่าเตรียมงานก่อสร้าง รวม 10,000,000 บาท และ ค่าขาดประโยชน์ 420,403,225 บาท และค่าเสียหายที่โจทก์อาจถูกลูกค้าฟ้องเรียกค่าเสียหาย จำนวน 100,000,000 บาท รวม 530,403,225 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด และบริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เรียกเฉพาะบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม แต่ในส่วนของบริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด ให้ยกคำร้อง ต่อมาบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โดยให้เรียกบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ว่า จำเลยร่วมที่ 1 และเรียกบริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด ว่า จำเลยร่วมที่ 2
จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2837 ตำบลบางโพงพาง อำเภอเมือง จังหวัดนครเขื่อนขันธ์ เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 18 ตารางวา แก่โจทก์ โดยให้โจทก์ชำระราคาค่าที่ดินแก่จำเลยให้ครบถ้วนจำนวน 315,000,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดิน หากจำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาหากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ให้จำเลยคืนแคชเชียร์เช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด เลขที่ 1994324 ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2546 และแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด เลขที่ 45119 ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม 2546 และชำระค่าปรับตามสัญญาจำนวน 10,000,000 บาท ค่าเสียหายจากการขาดทุนกำไรจำนวน 10,000,000 บาท และค่าเสียหายและค่าจัดทำโครงการ ค่าเขียนแบบ ค่าบริการจัดการ ค่าใช้จ่ายขอสินเชื่อ ค่าเตรียมงานก่อสร้างจำนวน 200,000 บาท รวม 20,200,000 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ยกฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่ 1 ให้เป็นพับ (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับ จำเลยร่วมที่ 1 ให้เป็นพับ)
โจทก์และจำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยร่วมที่ 2 ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม แล้วให้จำเลยในฐานะตัวแทนเชิดจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท โดยให้โจทก์ชำระราคาค่าที่ดินแก่จำเลยร่วมที่ 1 ให้ครบถ้วนจำนวน 315,000,000 บาท หากจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยร่วมที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันคืนแคชเชียร์เช็คธนาคารกสิกรไทยจำกัด เลขที่ 1994324 ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2546 และแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด เลขที่ 45119 ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม 2546 และชำระค่าปรับตามสัญญาจำนวน 10,000,000 บาท ค่าเสียหายจากการขาดทุนกำไรจำนวน 10,000,000 บาท และค่าเสียหายและค่าจัดทำโครงการ ค่าเขียนแบบ ค่าบริหารจัดการ ค่าใช้จ่ายขอสินเชื่อ ค่าเตรียมงานก่อสร้างจำนวน 200,000 บาท รวม 20,200,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ข้อที่สามมีว่า จำเลยเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยร่วมที่ 1 ในการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทหรือไม่ จำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ฎีกาทำนองเดียวกันว่า การเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่บุคคลใดก็ได้ เพื่อจำเลยจะได้มีเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 ตามเงื่อนไขในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยร่วมที่ 1 มิได้พิจารณาว่าบุคคลภายนอกผู้ซื้อจะเป็นผู้ใด หรือมีการซื้อขายกันในราคาเท่าใด ซึ่งจำเลยร่วมที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นหรือมีส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดราคาซื้อขายหรือเข้าถือเอาประโยชน์โดยตรงจากการซื้อขาย จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยร่วมที่ 1 เชิดจำเลยหรือรู้แล้วยอมให้จำเลยเชิดตนออกเป็นตัวแทนในการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า การที่บุคคลหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนอันตนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าเป็นตัวแทนของตนตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 นั้น นอกจากจะมีการแสดงออกว่าเป็นตัวแทนของบุคคลใดแล้ว บุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วย จะต้องรับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลนั้น ที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการด้วย ผู้ที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการ จึงจะต้องรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการ ถ้าหากบุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วย มิได้รับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลอื่น แต่ยอมติดต่อโดยเชื่อถือผู้ที่มาติดต่อด้วยอย่างผู้มาติดต่อเป็นเจ้าของกิจการนั้นเองแล้ว ก็ต้องถือว่าไม่ใช่กรณีที่บุคคลคนหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทน หรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองเป็นผู้แทนตน อันตนจะต้องพลอยรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการไปด้วย และต้องถือเป็นกรณีที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นติดต่อกับบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัวเอง ไม่มีการพาดพิงไปถึงบุคคลใดให้ต้องรับผิดชอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 จำเลยร่วมที่ 1 ผู้รับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยประมูลซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี ในราคา 170,000,000 บาท แต่จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นยกคำร้อง และยังไม่มีการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนมาเป็นชื่อของจำเลยร่วมที่ 1 นายณชคิต พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อปี 2546 มีนายหน้าชื่อนางพิศมัย เสนอขายที่ดินพิพาทราคาตารางละ 90,000 บาท พยานตรวจสอบที่ดินพิพาทแล้ว ปรากฏว่าที่ดินติดจำนองไว้แก่จำเลยร่วมที่ 1 พยานจึงไปติดต่อนายสุเมธ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสินทรัพย์ส่วนกลางของจำเลยร่วมที่ 1 ซึ่งนายสุเมธแจ้งว่า หากพยานต้องการซื้อที่ดินดังกล่าว จะต้องทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลย เนื่องจากยังไม่ได้โอนชื่อทางทะเบียนมาเป็นของจำเลยร่วมที่ 1 อีกทั้งจำเลยจะทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยร่วมที่ 1 ด้วย จากนั้น พยานจึงได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยในวันที่ 23 ธันวาคม 2546 ราคา 315,000,000 บาท มีการวางมัดจำ 10,000,000 บาท โดยพยานแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 จำนวน 2 ฉบับ ฉบับละ 5,000,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดิน จะเห็นได้ว่าเมื่อจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์การทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยจำเลยร่วมที่ 1 รู้เห็นด้วย ทั้งจำเลยร่วมที่ 1 ยังสั่งให้จำเลยระบุเงื่อนไขในการขายดังกล่าวให้วางเงินมัดจำในการชำระครั้งแรกจำนวน 10,000,000 บาท ครั้งที่สองจำนวน 50,000,000 บาท โดยสั่งจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 ส่วนที่เหลือ ชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทการที่จำเลยจะขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ใด ต้องทำตามเงื่อนไขที่จำเลยร่วมที่ 1 กำหนดไว้ ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 บังคับให้จำเลยแสดงออกแก่โจทก์ทำให้โจทก์เชื่อว่าการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นการกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 เอง จึงเป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 เชิดจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 1 จะยกเหตุการณ์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมที่ 1 เพื่อจำเลยจะได้มีเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 ตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยร่วมที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นหรือตัดสินใจในการกำหนดราคาซื้อขายหรือเข้าถือเอาประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างกันเอง มาเป็นเหตุอ้างปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายเพราะการนี้หาได้ไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมที่ 2 ข้อสุดท้ายว่า จำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 จะต้องร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นการให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้” คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยร่วมที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมที่ 2 โดยมีค่าตอบแทน ดังนั้น จึงมีข้อที่ต้องพิจารณาเพียงว่า จำเลยร่วมที่ 2 จะต้องรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบด้วยหรือไม่ โจทก์มีนายณชคิต เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2547 จำเลยได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทต่อพยาน อ้างว่า จำเลยร่วมที่ 1 ไม่อนุมัติการไถ่ถอน พร้อมทั้งคืนแคชเชียร์เช็คทั้งสองฉบับให้แก่พยาน ตามหนังสือบอกเลิกสัญญา จากนั้นพยานได้ไปพบนายสุเมธจึงทราบว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2547 จำเลยร่วมที่ 1 ได้อนุมัติให้จำเลยไถ่ถอนที่ดินพิพาทได้ ดังนั้น พยานจึงมีหนังสือถึงจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ตามหนังสือขอให้ปฏิบัติตามสัญญาและใบตอบรับ จำเลยร่วมที่ 2 มีนายวัฒนชัย ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจำเลยร่วมที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่าหลังจากที่จำเลยร่วมที่ 2 ได้ชำระเงินจำนวน 60,000,000 บาท ให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าว จำเลยร่วมที่ 2 จึงได้สอบถามเรื่องดังกล่าวจากจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 1 แจ้งว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ และจำเลยแจ้งว่าได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์ไปแล้ว เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินของจำเลยร่วมที่ 1 ได้ และนายสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของจำเลยร่วมที่ 2 พยานจำเลยร่วมที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ ถามค้านว่า ก่อนวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยร่วมที่ 2 ขอให้ระงับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จำเลยร่วมที่ 2 ได้สอบถามจำเลยแล้ว จำเลยแจ้งว่าได้ยกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินต่อโจทก์แล้ว อีกทั้งจำเลยร่วมที่ 2 ทราบว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้แล้ว คำเบิกความดังกล่าวเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยร่วมที่ 2 ทราบว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 ดังนั้นการที่จำเลยร่วมที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมที่ 2 นั้น จำเลยร่วมที่ 2 ย่อมทราบแล้วว่าจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่จะต้องรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบอยู่ก่อนรับโอนที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยร่วมที่ 2 ข้ออื่น แม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share