คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้กล่าวว่า “ไม่ยุติธรรม” และนำความไปบอกเล่าบุคคลที่ 3 ว่า “พวกผมได้รับผ้าเก่าๆ ขาดๆ ทั้งนั้น ส่วนผ้าดีๆ ใหม่ๆ ปลัดกับกำนันเอาไปหมด ฯลฯ” นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่แจกผ้าให้แก่ราษฎรผู้ประสบวาตภัยไม่รัดกุมขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นพฤติการณ์ที่มีช่องทางให้ราษฎรทั่วๆ ไปคิดเห็นไปได้โดยสุจริตใจว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ในการแจกเสื้อผ้านั้นไม่ได้ทำไปโดยเที่ยงธรรม การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นของตนโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) จำเลยไม่มีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทง ต่างกรรมต่างวาระกัน คือ

ก. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2504 จำเลยที่ 1 ได้บังอาจกล่าวดูหมิ่นนายทวี ถาวะระ ปลัดอำเภอเมืองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่า “ไม่ยุติธรรม” เพราะเหตุที่นายทวีผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่แจกเสื้อผ้าแก่ราษฎรผู้ประสบวาตภัยในท้องที่ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช นายทวีไม่แจกเสื้อผ้าให้จำเลยเพราะจำเลยไม่มีชื่อในบัญชีสำรวจผู้ได้รับความเสียหายอย่างหนักเนื่องจากประสบวาตภัย

ข. เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2505 จำเลยที่ 1, 2, 3, 5, 6 และ 7ได้สมคบกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดทางอาญาแก่ร้อยตำรวจตรีกร บุญยง ใจความว่า เจ้าหน้าที่(หมายถึงนายทวี) แจกเสื้อผ้าขาด ๆ แก่ราษฎร ส่วนผ้าดี ๆ เอาไว้เอง

ค. เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2505 จำเลยที่ 1, 2, 3, 4 ได้สมคบกันกล่าวหมิ่นประมาทใส่ความนายทวี ถาวะระ ต่อบุคคลที่ 3 โดยประการที่น่าจะทำให้นายทวีเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังโดยจำเลยกล่าวต่อนายสุรินทร์ มาศดิตถ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงราษฎร์ว่า “พวกผมได้รับผ้าเก่า ๆ ขาด ๆ ทั้งนั้น ส่วนผ้าดี ๆ ใหม่ ๆ ปลัดกับกำนันเอาไปหมด ฯลฯ” การกล่าวเช่นนี้มีความหมายว่านายทวี ถาวะระ ปลัดอำเภอเมืองแจกผ้าขาดให้ราษฎร ส่วนผ้าใหม่ ๆ ดี ๆ เอาไว้เป็นประโยชน์เสียเอง

ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 137, 172, 326, 328, 83 และ 91

จำเลยให้การต่อสู้ว่า ได้แสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ความยุติธรรม เพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับจำเลยและราษฎรทั่วไป

นายทวี ถาวะระ ยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำกล่าวของจำเลยและที่จำเลยนำไปบอกเล่าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นั้น ไม่เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือหมิ่นประมาท เพราะเข้ามาตรา 329 ส่วนข้อหาแจ้งความเท็จนั้นจำเลยไม่มีเจตนาที่จะร้องเรียนเท็จ จึงไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ร่วมฎีกาว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ 1 ก. และ ค.ไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานแจกผ้าให้แก่ราษฎรผู้ประสบวาตภัยไม่รัดกุมขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่าที่ควร ราษฎรที่ควรได้รับแจกก็ไม่แจกให้ทั้งที่ผ้ายังเหลืออยู่ เจ้าหน้าที่ขนเอาผ้าที่เหลือนั้นไป โดยไม่บอกให้ราษฎรที่มาเฝ้าคอยรับแจกอยู่นั้นรู้ว่าจะเอาไปไหน เป็นพฤติการณ์ที่มีช่องทางกระทำให้ราษฎรทั่ว ๆ ไปคิดเห็นไปได้โดยสุจริตใจว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการแจกผ้าแก่ผู้ประสบภัยนั้นไม่ได้ทำไปโดยเที่ยงธรรม จึงได้กล่าวขึ้นว่าไม่ยุติธรรม และการที่จำเลยได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฟังนั้น ก็ได้ความว่าเป็นการเล่าไปตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นของตนโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) จำเลยไม่มีความผิด

พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share