แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกที่พิพาทขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายและขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน จำเลยให้การว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทตลอดมาไม่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ดังนี้เป็นกรณีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยแม้โจทก์จะมีคำขอว่าขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินก็เป็นผลต่อเนื่องในเรื่องที่พิพาทกันด้วยกรรมสิทธิ์นั่นเอง จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคแรกที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 มาตรา 14ซึ่งในวันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับแล้วการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้จึงเป็นการไม่ชอบ คดีได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโดยบิดามารดาของโจทก์เป็นผู้มอบสิทธิครอบครองให้ ซึ่งโจทก์ได้ใช้เสาไม้แก่นทำเป็นรั้วกั้นเขตแดน จำเลยได้รื้อเสารั้วดังกล่าวของโจทก์และใช้รถเกรดไถคันนาโดยจำเลยอ้างว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 682(ที่ถูกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 16821 เลขที่ดิน 682) โจทก์ตรวจสอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ปรากฏว่า ตามแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ระบุว่าจำเลยได้ที่ดินแปลงนี้โดยบิดายกให้ ซึ่งไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้มาก่อนและมีเขตติดต่อทางทิศตะวันตกจดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ แสดงว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ต้องทำขึ้นก่อนจึงต้องถือเอารูปแผนที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์เป็นหลักในการรังวัดพิสูจน์สอบสวนปักหลักเขต เพื่อทำรูปแผนที่และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่จำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อไปสำรวจว่ามีการรังวัดแนวเขตรุกล้ำเข้าไปในแนวที่ดินของโจทก์หรือไม่ ทั้งลายมือชื่อรับรองแนวเขตที่ดินข้างเคียงก็มิใช่ลายมือของโจทก์แต่เป็นลายมือปลอม โฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยจึงออกมาโดยฉ้อฉลทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองที่พิพาท แต่จำเลยเป็นผู้ครอบครองตลอดมา ไม่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินดังกล่าวการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้กระทำตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมายทุกประการโดยโจทก์ได้มาระวังแนวเขตด้วยตนเอง และเจ้าหน้าที่ผู้ทำการรังวัดก็ได้ให้โจทก์ลงชื่อรับรองแนวเขตว่าถูกต้องแล้ว ทั้งโจทก์จะถือเอารูปแผนที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์เป็นหลักในการรังวัดพิสูจน์สอบสวนปักหลักเขตเพื่อทำรูปแผนที่และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยไม่ได้เพราะโจทก์ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยและเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้มาระวังแนวเขตและรับรองว่าแผนที่ของโจทก์ถูกต้องแล้วแต่อย่างใดค่าเสียหายโจทก์หากมีจริงก็ไม่เกิน 500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาท จำเลยบุกรุกเข้าไปรื้อเสารั้วและใช้รถเกรดไถคันดินโดยอ้างว่าจำเลยมีสิทธิตามโฉนดที่ดินเลขที่ 16821 ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายและขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก) (ที่เป็นหลักฐานในการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 16821)และโฉนดที่ดินเลขที่ 16821 จำเลยให้การว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทตลอดมาไม่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่าเป็นกรณีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย แม้โจทก์จะมีคำขอว่าขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 16821ก็เป็นผลต่อเนื่องในเรื่องที่พิพาทกันด้วยกรรมสิทธิ์นั่นเองจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคแรก ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12)พ.ศ. 2534 มาตรา 14 ซึ่งในวันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับแล้ว ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์อุทธรณ์ว่าที่ดินเป็นของโจทก์โจทก์มิได้สละเจตนาครอบครอง แต่กลับยึดถือที่พิพาทและครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา โจทก์ไม่ได้ครอบครองแทนจำเลยและมิได้ส่งมอบที่พิพาทให้จำเลยแต่อย่างใดนั้น ล้วนแต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ คดีได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และยกฎีกาของจำเลยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น