แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ใดแจ้งข้อความไม่ตรงต่อความจริง โดยผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่า ข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จทั้งนี้ เพื่อประสงค์จะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร คือภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ย่อมมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 แล้ว
จำเลยที่ 1เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าทุกเดือน ภาษี โดยแสดงรายรับที่ต้องคำนวณเสียภาษีต่ำกว่ารายรับที่ได้รับจากการขายสินค้าประจำเดือนและเดือน จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้รู้เห็นในการยื่นแบบแสดงรายการค้าเพื่อเสียภาษีทุกฉบับ ดังนี้ ย่อมถือเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วย และเป็นการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แล้ว แม้จำเลยที่ 2จะมิได้เป็นผู้ลงนามในแบบแสดงรายการการค้านั้นทุกฉบับก็ตาม
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 2 ซึ่งยกเลิกความในมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และบัญญัติความใหม่นั้น มิได้เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด ฉะนั้น เมื่อจำเลยกระทำความผิดก่อนวันใช้บังคับของประกาศดังกล่าว จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เดิม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการค้า จำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการค้าโดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ดำเนินการ จำเลยมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการในการประกอบการค้าเป็นรายเดือนภาษี เพื่อชำระภาษีการค้าให้แก่กรมสรรพากรตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๔ แห่งประมวลรัษฎากร จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ในฐานะส่วนตัว ได้ร่วมกันจงใจยื่นแบบแสดงรายการการค้าของจำเลยที่ ๑ เพื่อชำระภาษีต่อเจ้าพนักงานกรมสรรพากรเป็นเท็จ เป็นจำนวน ๒๕ ครั้ง คือภาษีประจำเดือน ตั้งแต่ธันวาคม ๒๕๐๙ ถึงธันวาคม ๒๕๑๑ (โจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำผิดจำนวนรายรับที่ต้องคำนวณภาษี และจำนวนภาษีที่ต่ำกว่าความเป็นจริงของแต่ละเดือนไว้แล้วในคำฟ้อง) ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วและร่วมกันจงใจยื่นแบบแสดงรายการการค้าด้วยข้อความเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรแก่กรมสรรพากร รวมค่าภาษีอากรที่จำเลยทั้งสองแจ้งเท็จต่ำกว่าความจริงเป็นเงิน ๑๒,๗๒๐,๖๙๔.๗๒ บาท กรมสรรพากรได้แจ้งการประเมินภาษีการค้าให้จำเลยทราบ และให้จำเลยนำเงินค่าภาษีที่หลีกเลี่ยงไปชำระภายในกำหนดแล้วให้จำเลยทราบ และให้จำเลยนำเงินค่าภาษีที่หลีกเลี่ยงไปชำระภายในกำหนดแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลรัษฎากร มาตาม ๓๗,๗๗,๘๐,๘๔,๘๕,๘๕ ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓,๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ข้อ ๒
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยได้ร่วมกันจงใจยื่นแบบแสดงรายการการค้าด้วยการแจ้งข้อความเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรแก่กรมสรรพากรจริงดังฟ้อง แต่ได้ความว่าจำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนเลิกกิจการแล้ว คดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ จึงเป็นอันระงับ คงลงโทษเฉพาะจำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนเลิกกิจการแล้ว คดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ จึงเป็นอันระงับ คงลงโทษเฉพาะจำเลยที่ ๒ ผู้เดียว ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๓๗,๗๗,๘๐,๘๔,๘๕,๘๕ ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓,๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ การกระทำผิดของจำเลยแยกเป็นรายกรรมได้ ๒๕ กรรม จำคุกกรรมละ ๓ เดือน รวมจำคุก ๖ ปี ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๔ ปี ๒ เดือน
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกาให้ปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๗ บัญญัติว่า “ผู้ใด (๑) โดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ แจ้งข้อความ ฯลฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะนี้ ฯลฯ ต้องระวางโทษ…..” ฉะนั้นหากผู้ใดแจ้งข้อความไม่ตรงต่อความจริง โดยผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่า ข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จทั้งนี้ เพื่อประสงค์จะหลีกเลี่ยงกรเสียภาษีอากรตามลักษณะ ๒ คือ ภาษีอากรฝ่ายสรรพากรจะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะ ๒ คือ ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ย่อมมีความผิดแล้ว และการแจ้งข้อความเท็จเช่นนี้ย่อทำให้รัฐเสียหาย กล่าวคือขายรายได้อันควรได้ไป ส่วนจำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า เมื่อแจ้งการประเมินภาษีการค้าต่ำกว่ารายรับจริง เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจแก้จำนวนเงินที่ประเมินนั้นได้ ก็เป็นเรื่องการแก้ไขเพื่อให้รายได้ที่ขาดไปคืนมาเท่านั้น หาใช่เป็นกรณีที่บัญญัติว่าการกระทำอย่างไรเป็นความผิดหรือไม่เป็นความผิดไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๒ ทราบรายรับของจำเลยที่ ๑ ดีอยู่แล้ว กลับยื่นแสดงรายการค้า เพื่อแจ้งจำนวนรายรับที่ต้องคำนวณเสียภาษีต่ำกว่ารายรับจริงเป็นเวลาถึง ๒๕ เดือน แสดงว่าจำเลยที่ ๒จงใจแจ้งข้อความเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเช่น กระทำของจำเลยที่ ๒ จึงมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๗ แล้ว
เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าทุกเดือน ภาษี โดยแสดงรายรับที่ต้องคำนวณเสียภาษีต่ำกว่ารายรับที่ได้รับที่จำเลยที่ ๑ ได้รับจากการขายสินค้าประจำเดือนและเดือนจริง และฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ได้รู้เห็นในการยื่นแบบแสดงรายการค้าเพื่อเสียภาษีทุกฉบับเช่นนี้แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่ากระทำของจำเลยที่ ๑ เช่นว่านั้น ย่อมถือเป็นการกระทำของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นผู้แสดงออกซึ่งความประสงค์ของจำเลยที่ ๑ และเป็นผู้ดำเนินงานแทนจำเลยที่ ๑ ด้วย จึงเป็นการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๑ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ แล้ว แม้จำเลยที่ ๒จะมิได้เป็นผู้ลงนามในแบบแสดงรายการค้านั้นทุกฉบับก็ตาม
ปรากฏว่า จำเลยที่ ๒ ได้กระทำความผิดก่อนวันใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ข้อ ๒ และโดยที่ข้อ ๒ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว ยกเลิกความในมาตรา ๙๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และบัญญัติความใหม่ว่า ผู้ใดได้กระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จึงถือว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้มิได้เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดเพราะมาตรา ๙๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะที่กระทำผิดบัญญัติว่า ความผิดหลายกรมต่างกัน ศาลจะลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป หรือจะลงโทษเฉพาะกระทงที่หนักที่สุดก็ได้ ดังนั้น คดีนี้จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ เดิม
พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒เรียงกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์