คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกมีปืนพก 1 กระบอก ติดตัวไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันใช้ปืนดังกล่าวยิง 3 นัด เพื่อสะดวกแก่การปล้น แต่นำสืบว่าจำเลยกับพวกมีปืนติดตัวไป 3 – 4 กระบอก แล้วใช้ปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหายทั้งสอง ดังนี้ ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางพิจารณาต่างกับที่กล่าวในฟ้องเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่แตกต่างในข้อสารสำคัญอันจะต้องยกฟ้อง
แม้จะปรากฏว่าคนร้ายใช้ปืนตีศีรษะพวกของผู้เสียหายและใช้ปืนยิงผู้เสียหาย แต่โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 และ 288 หรือ 289ประกอบด้วย 80 ด้วยนั้น ก็ไม่ทำให้ศาลต้องยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีปืนพก ๑ กระบอก เป็นอาวุธติดตัวไปปล้นทรัพย์ ของนายคำ ยอดจวง และนางสวัสดิ์ ยอดจวงผู้เสียหาย โดยใช้ปืนขู่เข็ญจะทำร้ายผู้เสียหายกับพวกและใช้ปืนตีนายสนั่น สอนรอด และนายวัน สีจักพงษ์ พวกของผู้เสียหายแต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย กับใช้ปืนยิงรวม ๓ นัด เพื่อให้เป็นความสะดวกในการปล้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๒, ๓ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ลงโทษจำคุก ยกฟ้องจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยที่ ๒ ร่วมปล้นทรัพย์รายนี้จริง และวินิจฉัยว่าแม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกมีปืนพก ๑ กระบอกติดตัวไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายแล้วจำเลยกับพวกร่วมกันใช้ปืนดังกล่าวยิง ๓ นัด เพื่อให้เป็นความสะดวกในการปล้นทรัพย์ แต่นำสืบว่าจำเลยทั้งสามกับพวกมีปืนติดตัวไปปล้นทรัพย์ ๓-๔ กระบอก แล้วใช้ปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหายทั้งสอง ก็เป็นข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่แตกต่างในข้อสารสำคัญอันจักต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๒ วรรค ๒ และการที่คนร้ายใช้ปืนตีนายสนั่นและนายวันและยิงผู้เสียหายทั้งสอง แต่โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕, ๒๙๗ และ ๒๘๘ หรือ ๒๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ ด้วยนั้นก็ไม่ทำให้ฟ้องไม่สมบูรณ์ อันจะต้องยกฟ้องดังที่จำเลยฎีกา
เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้บทลงโทษจำเลยที่ ๒ โดยใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ แล้ว ก็ชอบที่จะพิพากษาถึงจำเลยที่ ๑ ด้วยเพราะเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีแต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้พิพากษาถึงจำเลยที่ ๑ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก่เสียให้ถูก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ตามที่แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๑๔ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share