คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11118/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่สำนักงาน น. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง ว. นั้น โจทก์ร่วมดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน น. และในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่ศูนย์ พ. ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ให้ทุนสนับสนุนทางวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์แก่สำนักงาน น. เพื่อดำเนินงานโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพในหัวข้อ “การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของภาคเกษตรอินทรีย์ไทย” (Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Agriculture) โดยทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมงานซึ่งดำเนินงานตามโครงการนี้ดังนั้นไม่ว่าการดำเนินงานตามโครงการนี้จะอยู่ในขอบเขตการทำงานตามที่สำนักงาน น. ว่าจ้างจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม เมื่อปรากฏชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการนั้นย่อมถือได้ว่าทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ซึ่งต่อมาทีมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวได้จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอันมีใจความสำคัญและรายนามผู้เขียนร่วมกันตรงกันกับบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการฉบับหนึ่ง คงมีความแตกต่างในลำดับของรายนามผู้เขียน ซึ่งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างก็โต้แย้งว่าตนเองเป็นผู้เขียนหลักในบทความดังกล่าว ดังนั้นเมื่อทั้งรายงานฉบับสมบูรณ์ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการดังกล่าวมีรายนามผู้เขียนร่วมกัน 7 คน เหมือนกัน และมีชื่อทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันเหมือนกันโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เขียนคนใดเขียนในเนื้อหาส่วนใด จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าบุคคลทั้งเจ็ดคนดังกล่าวเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าวร่วมกันทั้งหมด แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการดำเนินการตามโครงการนวัตกรรม ชื่อ “โครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย” ที่บริษัท ส. ได้รับทุนอุดหนุนการดำเนินโครงการจากสำนักงาน น. แต่เมื่อปรากฏว่าหัวข้อโครงการที่บริษัท ส. ดำเนินการดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกันกับหัวข้อโครงการที่สำนักงาน น. ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และระยะเวลาการดำเนินโครงการของบริษัท ส. เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับระยะเวลาดำเนินโครงการของสำนักงาน น. ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. และใกล้เคียงกับช่วงระยะเวลาที่ทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าเนื้อหาการดำเนินโครงการของบริษัท ส. ดังกล่าวอาจมีความทับซ้อนกันกับเนื้อหาการดำเนินโครงการตามรายงานฉบับสมบูรณ์ที่มีชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานจัดทำขึ้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมทำดุษฎีนิพนธ์ในการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ที่มีความใกล้เคียงกันกับหัวข้อดำเนินงานวิจัยในโครงการที่สำนักงาน น. ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อยู่ในทีมดำเนินงาน และคล้ายคลึงกันกับหัวข้อบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ที่วารสารทางวิชาการ ทั้งยังเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันทั้งหมด โดยเอกสารทางวิชาการที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นมีเนื้อหาอันเป็นใจความสำคัญเหมือนกันโดยบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมทำขึ้นก็อ้างอิงถึงรายงานฉบับสมบูรณ์ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานได้จัดทำขึ้นด้วย ทั้งยังได้ความอีกด้วยว่า จำเลยที่ 1 สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตโดยจะเสนอหัวข้อดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยส่งบทความทางวิชาการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการมาแล้วนั้น แต่อาจารย์ที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 แจ้งว่า ไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ร่วมดำเนินงานโครงการวิจัยและมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันในบทความทางวิชาการที่มีการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการก่อนที่โจทก์ร่วมจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกัน ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมนำผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมวินิจฉัยและร่วมเขียนบทความไปใช้ในการเขียนดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมในผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องตามที่กล่าวอ้างถึงข้างต้นหรือไม่ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้เขียนร่วมในผลงานทางวิชาการที่กล่าวอ้างถึงดังกล่าว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วม ทั้งในวงวิชาการนั้นพึงมีบรรทัดฐานด้านจรรยาบรรณของนักวิชาการในระดับสากลเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้วิจัยหรือผู้เขียนผลงานทางวิชาการนำผลงานทางวิชาการของผู้สร้างสรรค์ร่วมกันมาใช้ในผลงานทางวิชาการของตน ก็ควรอย่างยิ่งที่โจทก์ร่วมจะได้บอกกล่าวผู้สร้างสรรค์ร่วมกันทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 1 ว่าจะนำบทความที่เขียนร่วมกันนั้นไปใช้ในดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม และเมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม โดยในส่วนของจำเลยที่ 1 คือการกระทำในส่วนที่ให้สัมภาษณ์แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ลงพิมพ์เผยแพร่ข้อความคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์เป็นบทความภาษาอังกฤษ จึงต้องพิจารณาจากข้อความในบทความที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นเบื้องต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อความภาษาอังกฤษในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แล้ว เห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ข้อความดังกล่าวตามฟ้องทั้งหมด ทั้งใจความสำคัญของข้อความที่กล่าวอ้างไว้ในบทความภาษาอังกฤษล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม รายงานการดำเนินงานวิจัยที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับรายงานการดำเนินงานตามโครงการที่บริษัท ส. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งงานสร้างสรรค์ในลักษณะงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมทั้งหกชิ้นดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหรืออาจถึงขนาดที่กล่าวได้ว่าทับซ้อนกันในเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญได้ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมด ประกอบกับปรากฏตามสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงจากรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงจากรายงานการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำสั่ง จ. ว่า คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเอกสารทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นผลงานของจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ แต่ดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วมมีการคัดลอกงานวิชาการจากเอกสารจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งเป็นงานเขียนของกลุ่มบุคคลในปริมาณงานที่มาก แม้ว่าโจทก์ร่วมจะอ้างอิงเอกสารบางรายการไว้ในบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ แต่การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism) ไม่ว่าจะเป็นการลอกวรรณกรรมของตนเองหรือเป็นการลอกวรรณกรรมของผู้อื่นหรือโดยผู้อื่นเป็นเจ้าของผลงานร่วมด้วย นอกจากนี้ สัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ในงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อโต้แย้งของทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการทำรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและในบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้น รวมทั้งบทความทางวิชาการที่เผยแพร่ต่อเนื่องจากการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้นย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับบุคคลอื่นในคณะบุคคลหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับหน่วยงานผู้ให้สนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้อง และแม้ลิขสิทธิ์ในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้นจะมิใช่ของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย แต่ในฐานที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในผลงานวิชาการในรูปแบบงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมซึ่งมีลิขสิทธิ์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้น จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 พึงได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิในฐานะผู้เขียนเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดังกล่าวนั้นด้วยการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเป็นธรรม การแสดงข้อความตามฟ้องที่ปรากฏในบทความภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์ร่วมได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงข้อความอันเป็นสาระสำคัญดังกล่าวของผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยมิได้บอกกล่าวหรือขออนุญาตผู้สร้างสรรค์ร่วมกันหรือผู้เขียนร่วม หรือผู้มีลิขสิทธิ์ในผลงานนั้นครบถ้วนทุกคน ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326 ดังที่โจทก์ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326 และ 328
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายศุภชัย ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาโจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์เฉพาะจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 2 หลบหนี ศาลชั้นต้นออกหมายจับแล้วยังไม่ได้ตัวมา ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเข้าศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเขียนดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การสร้างกลยุทธ์แห่งชาติด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย : กรณีศึกษาการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์” (Establishment of Thailand’s National Organic Agriculture Strategies : a Case Study in Organic Asparagus Production) โดยโจทก์ร่วมจบการศึกษาดังกล่าวในปี 2551 หรือปีการศึกษา 2550 ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 รับทำงานให้แก่สำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น โจทก์ร่วมดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่ศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (International Trade Centre หรือ ITC) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ให้ทุนสนับสนุนทางวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์แก่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อดำเนินงานโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในหัวข้อ “การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของภาคเกษตรอินทรีย์ไทย” (Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Agriculture) โดยทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมงานซึ่งดำเนินงานตามโครงการนี้ ตามรายชื่อผู้ดำเนินงานโครงการที่ปรากฏในวารสาร มีการจัดทำรายงานโครงการฉบับสมบูรณ์ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ต่อมาโจทก์ร่วมส่งบทความ เรื่อง “การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของภาคเกษตรอินทรีย์ไทย” (Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Sector) ซึ่งมีเนื้อหาตรงกับรายงานโครงการฉบับสมบูรณ์ไปพิมพ์เผยแพร่ที่วารสารทางวิชาการชื่อ “Outlook on Agriculture” ฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 1 ส่งบทความเรื่องเดียวกันไปพิมพ์เผยแพร่ที่วารสารทางวิชาการ ชื่อ “Outlook on Agriculture” เล่มที่ 36 นอกจากนี้ ในวันที่ 25 ธันวาคม 2549 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ทำสัญญามอบทุนอุดหนุนโครงการนวัตกรรมให้แก่บริษัทสวิฟท์ จำกัด เพื่อให้ดำเนินโครงการนวัตกรรม ชื่อ “โครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย” มีระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 1 ปี 3 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 24 มีนาคม 2551 ตามสัญญารับทุนอุดหนุนโครงการนวัตกรรม เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2552 โจทก์ร่วมซื้อหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน 2552 ซึ่งมีสิ่งตีพิมพ์ส่วนสเปกตรัม (Spectrum) เล่มที่ 2 เลขที่ 23 วันที่ 7 ถึง13 มิถุนายน 2552 แนบมาด้วย ในสิ่งตีพิมพ์ส่วนสเปกตรัมดังกล่าว มีบทความภาษาอังกฤษ เรื่อง “บททดสอบทางจรรยาบรรณด้านทรัพย์สินทางปัญญา” (A test of intellectual integrity) ซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้เรียบเรียง ตามสำเนาบทความและคำแปล โจทก์ร่วมร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีโจทก์ร่วมเป็นผู้อำนวยการจำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่สำนักงานศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศซึ่งให้ทุนสนับสนุนทางวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์แก่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อดำเนินงานโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพในหัวข้อ “การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของภาคเกษตรอินทรีย์ไทย” (Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Agriculture) โดยทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมซึ่งดำเนินงานตามโครงการนี้ด้วย อันสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ร่วมอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความตอบโจทก์ซักถามว่า โจทก์ร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนโครงการเสนอขอทุนจากศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ ดังนั้นไม่ว่าการดำเนินงานตามโครงการนี้จะอยู่ในขอบเขตการทำงานตามที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติว่าจ้างจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม แต่การที่ปรากฏชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินการโครงการนั้น ย่อมถือได้ว่าทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้โจทก์ร่วมยังอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมซักถามว่า ทีมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวได้จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษอันมีใจความสำคัญและรายนามผู้เขียนร่วมกันตรงกันกับบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ที่วารสารทางวิชาการฉบับหนึ่ง คงมีความแตกต่างในลำดับของรายนามผู้เขียน ซึ่งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างก็โต้แย้งว่าตนเองเป็นผู้เขียนหลักในบทความดังกล่าว ดังนั้นเมื่อทั้งรายงานฉบับสมบูรณ์ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ที่วารสารทางวิชาการดังกล่าวมีรายนามผู้เขียนร่วมกัน 7 คนเหมือนกัน และมีชื่อทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันเหมือนกัน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เขียนคนใดเขียนในเนื้อหาส่วนใด จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าบุคคลทั้งเจ็ดคนดังกล่าวเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าวร่วมกันทั้งหมด เมื่อรายงานฉบับสมบูรณ์และบทความดังกล่าวมีเนื้อหาสาระอันเป็นใจความสำคัญตรงกันจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันในผลงานทางวิชาการทั้งสี่ฉบับดังกล่าวนี้ แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการดำเนินการตามโครงการนวัตกรรม ชื่อ “โครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย” ที่บริษัทสวิฟท์ จำกัด ได้รับทุนอุดหนุนการดำเนินโครงการจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ แต่เมื่อปรากฏว่าหัวข้อโครงการที่บริษัทสวิฟท์ จำกัด ดำเนินการ คือ “โครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม่ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย” มีความคล้ายคลึงกันกับหัวข้อโครงการที่สำงานนวัตกรรมแห่งชาติได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ คือหัวข้อ “การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของภาคเกษตรอินทรีย์ไทย” (Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Agriculture) ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และระยะเวลาการดำเนินโครงการของบริษัทสวิฟท์ จำกัด เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับระยะเวลาดำเนินโครงการของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ และใกล้เคียงกับช่วงระยะเวลาที่ทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ที่วารสารทางวิชาการ จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าเนื้อหาการดำเนินโครงการของบริษัทสวิฟท์ จำกัด ดังกล่าวอาจมีความทับซ้อนกันกับเนื้อหาการดำเนินโครงการตามรายงานฉบับสมบูรณ์ที่มีชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานจัดทำขึ้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ร่วมทำดุษฎีนิพนธ์ในการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การสร้างกลยุทธแห่งชาติด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย : กรณีศึกษาการผลิตหน่อไม่ฝรั่งอินทรีย์” (Establishment of Thailand’s National Organic Agriculture Stategies : a Case Study in Organic Asparagus Production) ซึ่งมีความใกล้เคียงกันกับหัวข้อดำเนินงานวิจัยในโครงการที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อยู่ในทีมดำเนินงาน และคล้ายคลึงกันกับหัวข้อบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ที่วารสารทางวิชาการชื่อ “Outlook on Agriculture” คือ บทความเรื่อง “การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของภาคเกษตรอินทรีย์ไทย” (Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Sector) ทั้งยังเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันทั้งหมด โดยเอกสารทางวิชาการที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นมีเนื้อหาอันเป็นใจความสำคัญเหมือนกัน และบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมทำขึ้นอ้างอิงถึงรายงานฉบับสมบูรณ์ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานได้จัดทำขึ้นด้วย ทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ 1 ตอบโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 1 สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจำเลยที่ 1 จะเสนอหัวข้อดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยส่งบทความทางวิชาการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชามาแล้วนั้น แต่อาจารย์ที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 แจ้งว่าไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงว่า โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ร่วมดำเนินงานโครงการวิจัยและมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันในบทความทางวิชาการที่มีการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการก่อนที่โจทก์ร่วมจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตดังกล่าวทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกันย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์ร่วมนำผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมวิจัยและร่วมเขียนบทความไปใช้ในการเขียนดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมในผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องตามที่กล่าวอ้างถึงข้างต้นหรือไม่แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้เขียนร่วมในผลงานทางวิชาการที่กล่าวอ้างถึงดังกล่าว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วม ทั้งในวงวิชาการนั้นพึงมีบรรทัดฐานด้านจรรยาบรรณของนักวิชาการในระดับสากลเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้วิจัยหรือผู้เขียนผลงานทางวิชาการนำผลงานทางวิชาการของผู้สร้างสรรค์ร่วมกันมาใช้ในผลงานทางวิชาการของตน ก็ควรอย่างยิ่งที่โจทก์ร่วมจะได้บอกกล่าวผู้สร้างสรรค์ร่วมกันทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 1 ว่าจะนำบทความที่เขียนร่วมกันนั้นไปใช้ในดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม และเมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม โดยในส่วนของจำเลยที่ 1 คือ การกระทำในส่วนที่ให้สัมภาษณ์แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 นำข้อความที่จำเลยที่ 1 ใส่ความมาเขียนบทความ บทความภาษาอังกฤษชื่อ “บททดสอบทางจรรยาบรรณด้านทรัพย์สินทางปัญญา” (A test of intellectual integrity) ซึ่งบทความดังกล่าวลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เป็นภาษาอังกฤษ อันเป็นการโฆษณาด้วยเอกสาร จึงต้องพิจารณาจากข้อความที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กล่าวไว้ในบทความที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นเบื้องต้นว่า ข้อความที่มีการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กล่าวนั้นเป็นการที่จำเลยที่ 1 กระทำอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฟ้องว่า บทความดังกล่าวมีข้อความภาษาอังกฤษซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “นายแอลลิสเป็นผู้แต่งหลักของหนึ่งในงานพิมพ์ที่เขาอ้างว่านายศุภชัยใช้เป็นแหล่งข้อมูลที่เขาคัดลอกไปใช้ในงานดุษฎีนิพนธ์ งานพิมพ์ฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม 2549 ภายใต้ชื่อ “การสร้างความเข้มแข็งให้กับศักยภาพการส่งออกผลิตผลเกษตรอินทรีย์ของไทย” และข้อความว่า “นายแอลลิสได้ยืนยันว่า ในดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีเนื้อหาเพียง 14 หน้า เท่านั้นที่เป็นงานเขียนของเดิมที่ไม่มีการคัดลอก (สเปกตรัมได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวและยืนยันได้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการคัดลอกคำต่อคำมาจากเอกสารอื่น) เนื้อหาส่วนใหญ่ของดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้เห็นได้ชัดว่ามาจากเอกสาร 4 ฉบับ ที่นายแอลลิสได้กล่าวหาว่ามาจากงานของคนอื่น ซึ่งรวมถึงงานของไอ.ที.ซี. และรายงานความยาว 185 หน้า ที่ได้รับเงินสนับสนุนทุนจาก สนช. ชื่อ “ความท้าทายและโอกาสของการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ : นัยยะของประเทศไทย” ซึ่งจัดเตรียมโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ร่วมกับบริษัทสวิฟท์ และได้รับการตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม 2550 รายงานของเอไอที/สวิฟท์ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินประมาณสองล้านบาทจาก สนช. ได้ปรากฏเป็นข้อมูลการทดลองจากแปลงปลูกและงานวิจัยของนายศุภชัย” รวมทั้งข้อความว่า “ในขณะที่นายแอลลิสได้เรียกกรณีนี้ว่าเป็นการขโมยคัดลอกและการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา…” ตลอดจนข้อความว่า “กรณีนี้ได้รับการเพิ่มความสำคัญให้มากขึ้นไปอีกจากการที่นายศุภชัยได้รับการพิจารณาเป็นผู้ท้าชิงคนสำคัญที่จะขึ้นรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คณะกรรมการบริหารของ สสว. ได้เลื่อนการตัดสินใจประกาศผู้รับตำแหน่งผู้อำนวยการคนใหม่เมื่อเดือนที่แล้ว” โดยโจทก์ร่วมมาเบิกความเป็นพยานว่า โจทก์ร่วมแปลข้อความดังกล่าวจากข้อความภาษาอังกฤษในบทความชื่อ “บททดสอบทางจรรยาบรรณด้านทรัพย์สินทางปัญญา” (A test of intellectual integrity) ย่อหน้าที่ 4 ย่อหน้าที่ 11 และย่อหน้าที่ 13 ตามลำดับ ในย่อหน้าที่ 4 ความว่า “Mr Wyn is a principal author of one of the works he claims Mr Supachai’s dissertation was lifted from, an ITC report published in August 2006 which is essentially a national action plan for organic agriculture in Thailand. The report – “Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Agriculture” ในย่อหน้าที่ 11 ความว่า “Mr Ellis contends there are only 14 pages of original work in that dissertation. (Spectrum has reviewed these documents and can vouch that it appears to be a largely word-for-word reproduction from other texts). Large chunks of the dissertation apparently come from four documents that Mr Ellis alleges are other people’s work, including the ITC report and a 185- page, NIA-funded report entitled “Challenges and Opportunities of Organic Asparagus Production : Implication for Thailand”, which was prepared by the Asian Institute of Technology (AIT) and Swift Company and published in December 2007. The AIT/ Swift report, which received roughtly 2 million baht in NIA funding, includes the requisite field trial data and research component of Mr Supachai’s dissertation.” และในย่อหน้าที่ 13 ความว่า “While Mr Ellis says it’s plagiarism and theft of intellectual property, Mr Supachai says it’s a personal conflict.” ตามลำดับ ซึ่งเมื่อพิจารณาทั้งจากข้อความภาษาอังกฤษในบทความดังกล่าวและคำแปลแล้ว เห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ข้อความดังกล่าวทั้งหมด ทั้งใจความสำคัญของข้อความที่กล่าวอ้างไว้ในบทความภาษาอังกฤษล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม รายงานการดำเนินงานวิจัยที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับรายงานการดำเนินงานตามโครงการนวัตกรรมที่บริษัทสวิฟท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งงานสร้างสรรค์ในลักษณะงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมทั้งหกชิ้นดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหรืออาจถึงขนาดที่กล่าวได้ว่าทับซ้อนกันในเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญได้ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมด ประกอบกับปรากฏตามสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงจากรายงานการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเอกสารทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นผลงานของจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ แต่ดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วมมีการคัดลอกงานวิชาการจากเอกสารจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งเป็นงานเขียนของกลุ่มบุคคลในปริมาณงานที่มาก แม้ว่าโจทก์ร่วมจะอ้างอิงเอกสารบางรายการไว้ในบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ แต่การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism) ไม่ว่าจะเป็นการลอกวรรณกรรมของตนเอง หรือเป็นการลอกวรรณกรรมของผู้อื่นหรือโดยผู้อื่นเป็นเจ้าของผลงานร่วมด้วย นอกจากนี้ สัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ในงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อโต้แย้งของทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการทำรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและในบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้น รวมทั้งบทความทางวิชาการที่เผยแพร่ต่อเนื่องจากการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้นย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับบุคคลอื่นในคณะบุคคลหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับหน่วยงานผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้อง และแม้ลิขสิทธิ์ในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้นจะมิใช่ของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย แต่ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในผลงานวิชาการในรูปแบบงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมซึ่งมีลิขสิทธิ์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้น จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 พึงได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิในฐานะผู้เขียนเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดังกล่าวนั้นด้วยการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเป็นธรรม การแสดงข้อความตามฟ้องที่ปรากฏในบทความภาษาอังกฤษ จึงถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 ได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์ร่วมได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงข้อความอันเป็นสาระสำคัญดังกล่าวของผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยมิได้บอกกล่าวหรือขออนุญาตผู้สร้างสรรค์ร่วมกันหรือผู้เขียนร่วม หรือผู้มีลิขสิทธิ์ในผลงานนั้นครบถ้วนทุกคน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326 ดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share