แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
“ข้าราชการ” หมายถึง บุคคลซึ่งรับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินเดือน ข้าราชการทหารจึงเป็นข้าราชการด้วย อย่างไรเป็นข้าราชการทหารต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 และพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 เท่านั้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ข้าราชการทหาร” หมายความว่า ทหารประจำการและข้าราชการกลาโหมพลเรือนที่บรรจุในตำแหน่งอัตราทหาร ส่วนคำว่า “ทหารประจำการ” พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 4(8) ให้ความหมายว่า ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ซึ่งไม่ใช่ทหารกองประจำการ โดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 ให้ความหมาย”ทหารกองประจำการ” ว่า ทหารกองประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารและพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 4(3)”ทหารกองประจำการ” หมายความว่า ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลดทหารกองประจำการจึงไม่ใช่ทหารประจำการ ไม่ใช่ข้าราชการทหารและไม่ได้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 ดังนั้น ทหารกองประจำการจึงไม่ใช่ข้าราชการตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 100
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการทหารกองประจำการสังกัดกองร้อยบริการ กองบริการกรมการสัตว์ทหารบก ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 4 เม็ด น้ำหนัก 0.36 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 1 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 200 บาท และจำเลยทั้งสองร่วมกันเสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 100 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และให้นำโทษของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้บวกเข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 (ที่ถูกประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วย) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุกคนละ 5 ปี ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ สำหรับจำเลยที่ 1 ลงโทษจำคุก 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 รับราชการทหาร ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100 ลงโทษจำคุก 15 ปี ฐานเสพยาเสพติดให้โทษ จำคุก คนละ 1 ปี รวมโทษจำเลยที่ 1 เป็นจำคุก 11 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 21 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78สำหรับจำเลยที่ 1 จำคุก 5 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 10 ปี 6 เดือน และให้นำโทษของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2401/2542 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน มาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้รวมเป็นจำคุก 12 ปี
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการอันจะต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 100 หรือไม่ เห็นว่า “ข้าราชการ” หมายถึง บุคคลซึ่งรับราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินเดือน ข้าราชการทหารจึงเป็นข้าราชการด้วย อย่างไรเป็นข้าราชการทหารต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 และพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 เท่านั้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ข้าราชการทหาร” หมายความว่า ทหารประจำการและข้าราชการกลาโหมพลเรือนที่บรรจุในตำแหน่งอัตราทหาร ส่วนคำว่า “ทหารประจำการ” พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 4(8) ให้ความหมายว่า หมายถึง ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ซึ่งไม่ใช่ทหารกองประจำการโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 ให้ความหมาย “ทหารกองประจำการ” ว่า หมายถึงทหารกองประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 4(3) “ทหารกองประจำการ” หมายความว่าผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลด ฉะนั้น ทหารกองประจำการจึงไม่ใช่ทหารประจำการ ไม่ใช่ข้าราชการทหารและไม่ได้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 จำเลยที่ 2 เป็นทหารกองประจำการ จึงไม่เป็นข้าราชการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ระวางโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 ในความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษเป็นสามเท่านั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า คำขอให้ระวางโทษจำเลยที่ 2 เป็นสามเท่าสำหรับความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 ให้ยกคงลงโทษจำเลยที่ 2 สำหรับความผิดฐานดังกล่าวจำคุก 5 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 2 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในความครอบครองฐานเสพยาเสพติดให้โทษและบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้แล้วคงจำคุก 7 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1