แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินชั้นอำเภอเปรียบเทียบที่มีเงื่อนไขว่าให้ฟังคำให้การพยานคนกลางเป็นข้อชี้ขาด เมื่อพยานได้ให้การไปแล้ว ฝ่ายใดจะยกขึ้นมาโต้แย้งว่าพยานคนกลางให้การไม่ตรงต่อความเป็นจริงอีกไม่ได้
ย่อยาว
คดีนี้พิพาทกันเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินโจทก์และจำเลยที่ ๑ เคยโต้แย้งสิทธิกันที่อำเภอครั้งหนึ่งอำเภอเปรียบเทียบ คู่กรณีตกลงให้พยานคนกลางชี้ขาด พยานชี้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ นำเจ้าพนักงานไปรังวัดแจ้งสิทธิครอบครองเพื่อขายให้จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๑-๒ สมคบกันทำสัญญายอมความในศาลโดยจำเลยที่ ๑ ยอมขายนาให้จำเลยที่ ๒ แต่จำเลยเพิ่มขอให้อำเภอทำนิติกรรมโจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์
จำเลยต่อสู้ว่านาพิพาทเป็นของมารดาจำเลย ที่ ๑ จำเลยที่ ๑ โอนนาพิพาทให้จำเลยที่ ๒ โดยสุจริต จำเลยที่ ๒ ครอบครองมาเกิน ๑ ปีแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า นาพิพาทเป็นของโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าทั้งสองฝ่ายนำสืบรับรองกันว่าที่นาพิพาทโจทก์และจำเลยที่ ๑ เคยพิพาทกันมาครั้งหนึ่งแล้วในชั้นอำเภอ และได้ตกลงกันเพื่อระงับข้อพิพาทโดยมีเงื่อนไขให้ถือเอาคำกำนันพร้อมที่จะมาให้การต่ออำเภอเป็นข้อชี้ขาด และต่างรับรองว่าจะไม่ยกขึ้นต่อสู้และโต้เถียงกันอีกต่อไป ทั้งสองฝ่ายได้ลงชื่อรับรองไว้ ทางอำเภอได้จัดการให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งข้อตกลงนั้นว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา ๘๕๐,๘๕๒ คู่กรณีจะอ้างว่าพยานคนกลางให้การไม่ตรงต่อความจริงโต้เถียงอีกไม่ได้ จำเลยที่ ๒ รู้ดีในผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ยังขืนรับโอนและชำระราคาไปจึงเป็นการไม่สุจริต ยิ่งกว่านี้เรื่องนี้ยังปรากฎว่าจำเลยที่ ๑ และ ๒ ทำสัญญายอมความกันที่ศาล แต่ยังหามีการรับโอนจดทะเบียนที่ดินโดยถูกต้องไม่ จึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ โจทก์ครอบครองที่พิพาทตลอดมา ที่ศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ชนะคดีชอบแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน