แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทยเป็นรายจ่ายเพื่อปลดเปลื้องความรับผิดอันเนื่องมาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เอง จึงเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่ง ป.รัษฎากร และยังเป็นรายจ่ายที่ไม่อาจถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่ง ป.รัษฎากร อีกด้วย เนื่องจากค่าปรับทางอาญาและเงินเพิ่มภาษีอากรตามมาตรา 65 ตรี (6) มิใช่หมายถึงเฉพาะค่าปรับและเงินเพิ่มตาม ป.รัษฎากรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าปรับที่เป็นโทษทางอาญาและเงินเพิ่มภาษีอากรตามกฎหมายอื่นด้วย ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า ค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทย เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่ง ป.รัษฎากร เป็นเพียงการปรับบทมาตรา 65 ตรี ศาลภาษีอากรกลางจึงมีอำนาจหยิบยกปรับบทให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล เลขที่ NSN: ภงด 73.1 – 03013280 – 25480420 – 002 – 0005 ลงวันที่ 19 เมษายน 2548 เพิกถอนหรือแก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ ภญ (อธ.1)/1/2553 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2553 และขอให้ลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ประกอบกิจการค้าสุราจากต่างประเทศ นำเข้าสุราจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย พนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้าตรวจค้นสถานประกอบการของโจทก์ และยึดเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าโจทก์สำแดงราคาตามใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ต่ำกว่าราคาตามเอกสารที่ตรวจยึด ในชั้นตรวจสอบภาษีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ให้การต่อเจ้าพนักงานของจำเลยว่า ส่วนต่างราคาสินค้า 178,626,013.92 บาท โจทก์มิได้ชำระราคาให้ผู้ขายในต่างประเทศ เนื่องจากผู้ขายในต่างประเทศยอมให้โจทก์หักไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขายสินค้าตามคำให้การ โดยในชั้นอุทธรณ์การประเมินโจทก์ยังคงยืนยันเช่นเดิม ตามคำอุทธรณ์ของโจทก์ พนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงประเมินส่วนต่างของราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น 178,626,013.92 บาท และอากรขาเข้า ค่าปรับอากร เงินเพิ่มศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย ค่าปรับอาญา ภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม จากส่วนต่างของราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น รวมเป็นเงิน 623,718,968 บาท โจทก์นำค่าภาษีที่ถูกประเมินรวม 623,718,968 บาท ดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2543 เพื่อเป็นการยุติคดีอาญา โจทก์ยอมรับว่าโจทก์สำแดงราคาสินค้าพิพาทต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายจริงและชำระค่าปรับตามการเปรียบเทียบของพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ NSN: ภงด 73.1 – 03013280 – 25480420 – 002 – 0005 ลงวันที่ 19 เมษายน 2548 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2543 โดยให้โจทก์รับผิดเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม รวม 220,317,996.07 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ปรากฏว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ลดภาษีลง คงเหลือเรียกเก็บเป็นภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม รวม 24,207,990.62 บาท โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเฉพาะการประเมินในส่วนค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทย โดยไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทย แม้เป็นไปตามกฎหมายอื่นนอกจากประมวลรัษฎากร แต่ก็เป็นบทลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายก็เพื่อลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดกฎหมาย หากยินยอมให้นำค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทย มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ผู้กระทำความผิดย่อมไม่ได้รับการลงโทษหรือถูกบังคับอย่างแท้จริง ย่อมผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทย เป็นความรับผิดที่โจทก์จะต้องชำระอันเนื่องมาจากการกระทำผิดกฎหมายแล้ว รายจ่ายค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทยดังกล่าวจำนวน 244,049,225.40 บาท จึงไม่ใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีมติให้ปรับปรุงรายจ่าย โดยไม่ให้นำรายจ่ายค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทยดังกล่าว มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และให้ลดเบี้ยปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลให้โจทก์คงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย ส่วนเงินเพิ่ม ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้งดหรือลดได้ จึงไม่อาจพิจารณาให้ได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทย ยังเป็นรายจ่ายที่ไม่อาจถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากค่าปรับทางอาญาและเงินเพิ่มภาษีอากรตามมาตรานี้มิใช่ค่าปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น แต่รวมถึงค่าปรับที่เป็นโทษทางอาญาและเงินเพิ่มภาษีอากรตามกฎหมายอื่นด้วย การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่ารายจ่ายค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทย เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเพียงการปรับบทมาตรา 65 ตรี ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจหยิบยกปรับบทให้ถูกต้องได้เอง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ