คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1109/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้ดุลพินิจ สั่งการและปฏิบัติไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นคดีเดียวกัน แต่ความเสียหายของโจทก์แต่ละคนที่ได้รับต่างกันและเป็นคนละจำนวน เป็นสิทธิเรียกร้องที่สามารถแยกต่างหากจากกันได้ โจทก์ทั้งสองต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนค่าเสียหายซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือประทานบัตร เลขที่13525/10283 โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ถือประทานบัตรเลขที่ 13530/10284ซึ่งอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ดีบุก ในการทำเหมืองแร่ดีบุกผู้ถือประทานบัตรจะต้องเสนอแผนผังโครงการทำเหมืองต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดเพื่อนำเสนออธิบดีกรมทรัพยากรธรณีพิจารณาอนุญาตต่อไปหากจะมีการขอเปลี่ยนแผนผังโครงการทำเหมืองก็ต้องปฏิบัติในทำนองเดียวกัน โจทก์ทั้งสองได้ขอเปลี่ยนแผนผังโครงการทำเหมืองและเสนอแผนผังร่วมระหว่างโจทก์ทั้งสองต่อจำเลย แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ในฐานะทรัพยากรธรณีจังหวัดซึ่งดำรงตำแหน่งสืบต่อกันมาต่างยับยั้งไม่ส่งเรื่องราวการขอเปลี่ยนแผนผังโครงการทำเหมืองของโจทก์ทั้งสองไปให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้อธิบดีกรมจำเลยที่ 1 พิจารณาสั่งอนุญาตในเวลาอันสมควร และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้พิจารณาแล้วและมีคำสั่งว่า หากจะเปิดการทำเหมืองขุดแร่ตามประทานบัตร โจทก์ต้องปฏิบัติตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอันมีความหมายเป็นปริยายว่าไม่อนุญาตทำให้โจทก์เสียหาย ถือว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ปฏิบัติและสั่งการไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการอันชอบด้วยกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต่างทำละเมิดเป็นเอกเทศจากกัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่กล่าวอ้างและขอบังคับตามฟ้องแยกจากกันได้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จะต้องเสียค่าขึ้นศาลในจำนวนคนละ200,000 บาท แต่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์รวมกันมาในอัตราสูงสุดเพียง 200,000 บาท จึงมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในส่วนที่ยังขาดอีกจำนวน 200,000 บาทภายในกำหนด 30 วัน โจทก์ทั้งสองได้นำเงินค่าขึ้นศาลที่ขาดมาชำระครบถ้วนภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกัน และตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือประทานบัตรเลขที่ 13525/10283 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้คือประทานบัตรเลขที่13530/10284 ซึ่งอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ดีบุก โดยวิธีทำเหมืองเรือขุด ณ ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่ติดกัน เมื่อได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ตามประทานบัตรดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองตกลงใจจะร่วมแผนผังโครงการทำเหมืองด้วยกัน ในเดือนธันวาคม2522 จึงขอเปลี่ยนแผนผังโครงการทำเหมืองตามประทานบัตรทั้งสองฉบับเสียก่อน เมื่อวันที่ 26, 27 พฤศจิกายน 2522 โจทก์ทั้งสองได้ทำหนังสือถึงทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ต ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งอยู่ จำเลยที่ 2 รับเรื่องราวแล้วมิได้เสนอต่อจำเลยที่ 1พิจารณาสั่งโดยตรง แต่ได้ทำบันทึกลงวันที่ 19 ธันวาคม 2522เสนอขอความเห็นจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเพื่อส่งไปให้จำเลยที่ 1 ประกอบการพิจารณา เพราะได้มีคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตให้ทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้ส่งเรื่องไปให้ผู้ว่าการการท่องแห่งประเทศไทย และเลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2523 ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตขอให้พิจารณายับยั้งการทำเหมืองในบริเวณประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองไว้ก่อนวันที่ 4มีนาคม 2523 โจทก์ได้มีหนังสือถึงทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตขอทราบผลการพิจารณาคำขอเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองตามประทานบัตรของโจทก์ทั้งสอง ทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตโดยจำเลยที่ 3ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2523 ว่าบริเวณประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองอยู่ในอ่าวป่าตองใกล้กับริมหาดป่าตองซึ่งเป็นบริเวณที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตตามมติคณะรัฐมนตรีและนโยบายของรัฐบาลที่จะให้จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติจังหวัดได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติร่วมพิจารณา และสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยขอให้พิจารณายับยั้งการทำเหมืองในบริเวณที่โจทก์ขอไว้ก่อน วันที่ 18 เมษายน2523 สำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตได้รับหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แจ้งถึงเรื่องที่ทางจังหวัดภูเก็ตขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของโจทก์ว่าต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาชี้ขาดอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเป็นนโยบายสำคัญต้องตัดสินในระดับสูง ตามเอกสารหมาย ล.71 ทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตโดยจำเลยที่ 3 ได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบ ต่อมาเมื่อประทานบัตรของโจทก์ที่ 2 จะหมดอายุ โจทก์ที่ 2 ได้ขอต่อประทานบัตรทรัพยากรธรณีโดยจำเลยที่ 4 ได้แจ้งให้โจทก์ที่ 2 ทราบถึงข้อตกลงใจของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องการทำเหมืองแร่บริเวณอ่าวป่าติงตามเอกสารหมาย จ.9 และเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2525ทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตโดยจำเลยที่ 4 ได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบถึงเรื่องไม่อนุญาต ให้โจทก์ทั้งสองเปิดการทำเหมืองตามประทานบัตร ตามเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.16
คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแกรว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่ส่งเรื่องขอเปลี่ยนแผนผังโครงการทำเหมืองแร่ไปให้อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีพิจารณาอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 57 แต่เก็บเรื่องราวของโจทก์ไว้ขอความเห็นจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเสียก่อน เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่จนได้รับความเสียหายเป็นการจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิด และที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้ทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตแจ้งต่อโจทก์ทั้งสองว่าห้ามขุดแร่ในอ่าวป่าตองตามประทานบัตร เป็นการนำมติที่ฝ่าฝืนกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้โจทก์ปฏิบัติมีผลเสมือนจำเลยที่ 1 ไม่ให้โจทก์ทั้งสองทำการขุดแร่ตามแผนผังโครงการที่ยื่นขอเปลี่ยนแปลงไว้ เป็นการกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายโจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการละเมิด จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ด้วย พิเคราะห์แล้วเห็นว่าทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตนอกจากจะเป็นหน่วยงานของกรมทรัพยากรธรณีแล้วยังเป็นหน่วยงานที่ประจำอยู่ในจังหวัด จึงเป็นหน่วยงานของราชการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของข้าราชการในหน่วยงานนี้ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน2515 ข้อ 53 (4) ด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตจึงมีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะสั่งการให้ทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตปฏิบัติการใด ๆ ได้ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ในกรณีคดีนี้ได้ความจากคำของนายเสน่ห์ วัฑฒนาธร ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้นเบิกความเป็นพยานจำเลยว่าได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และปรับปรุงสถานที่ตากอากาศและเกาะจึงมีปัญหาเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ เพราะการทำเหมืองแร่นั้นถ้าทำแร่รอบเกาะแล้วจะทำลายสิ่งแวดล้อมและความสวยงามของธรรมชาติ พยานในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการวางแนวทางปฏิบัติไว้ว่าเมื่อทางทรัพยากรธรณีจังหวัดรับเรื่องราวการทำเหมืองแร่ ให้เสนอมาทางจังหวัดซึ่งทางจังหวัดจะได้ส่งเรื่องไปให้หน่วยงานใดพิจารณานั้น จะต้องดูแต่ละเรื่องที่เสนอมา ปัญหามีว่าการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตดังกล่าว เป็นการสั่งโดยชอบหรือไม่ เห็นว่าคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตดังกล่าวเป็นการปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ตามคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการบริหารราชการตามที่กระทรวงทบวงกรมมอบหมายซึ่งได้กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ข้อ 53 (1) (2) ถือไม่ได้ว่าคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้สั่งให้ทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตเสนอเรื่องเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเสียก่อนนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการแต่อย่างใด และทางพิจารณาก็ไม่ได้ความว่าได้มีระเบียบของทางราชการกำหนดวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับคำขอเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองแร่ที่ต้องขออนุญาตต่ออธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 อย่างใด ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 รับเรื่องราวการขอเปลี่ยนแปลงแผนผังการทำเหมืองแร่ของโจทก์แล้วทำบันทึกเสนอขอความเห็นจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ยังไม่ส่งเรื่องราวดังกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 พิจารณาสั่งการโดยตรง จึงเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยระเบียบแบบแผนของทางราชการ และการที่ผู้ถือประทานบัตรจะขอเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมือง แผนผังโครงการ และเงื่อนไขจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีก่อน ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 57 นั้น กฎหมายก็มิได้บังคับว่าอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีจะต้องอนุญาตเสมอไปหากแต่ให้อยู่ในดุลพินิจที่จะพิจารณาอนุญาตหรือไม่ก็ได้ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตแจ้งต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตเพื่อแจ้งต่อโจทก์ทั้งสองว่า หากจะเปิดทำการเหมืองแร่จะต้องปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้น เป็นการใช้ดุลพินิจสั่งการตามข้อตกลงใจของนายกรัฐมนตรี และมิตของคณะรัฐมนตรีซึ่งตัดสินใจให้นโยบายไว้โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติหาเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าว หรือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใดไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการหาใช่เป็นการกระทำโดยจงใจต่อโจทก์ทั้งสองโดยผิดกฎหมายไม่ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ทั้งสองในประเด็นเรื่องค่าเสียหาย
ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นคดีเดียวกันชอบที่จะเสียค่าขึ้นศาลเป็นคดีเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลเพิ่ม ไม่ชอบนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสี่เป็นกรณีละเมิด โดยบรรยายฟ้องถึงความเสียหายของโจทก์แต่ละคนที่ได้รับต่างหากจากกัน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองตั้งใจจะเปลี่ยนแผนผังโครงการทำเหมืองแร่ร่วมกันแต่ความเสียหายของโจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง เห็นได้ชัดว่าต่างกันและเป็นคนละจำนวน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองสามารถแยกต่างหากจากกันได้แม้จะฟ้องรวมมาเป็นคดีเดียวกัน โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนค่าเสียหายซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share