แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันพา ก. ผู้เยาว์อายุ 16 ปีเศษยังไม่เกิน 18 ปีไปเสียจาก ข. ผู้เป็นบิดาเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงหรือใช้วิธีการข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด สำหรับองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 เป็นการพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี โดยปราศจากเหตุอันสมควร แม้ฟ้องโจทก์จะระบุว่าพา ก. ไปเสียจาก ข. ก็ตาม ก็เป็นเพียงการบรรยายรายละเอียดโดยปราศจากองค์ประกอบของการพรากไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร คำว่า “พาไป” กับคำว่า “พรากไป” มีความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้คำขอท้ายฟ้องจะอ้างมาตรา 319 มาด้วยก็ตาม กรณีจะแปลรวมไปถึงว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 ด้วยหาได้ไม่ จึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานนี้ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง คงแปลได้เพียงว่าโจทก์ฟ้องและประสงค์ให้ลงโทษตามมาตรา 284 เท่านั้น
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่า ร่วมกันโดยใช้อุบายหลอกลวงพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร แสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 319 อันเป็นข้อหาหลัก แม้ทางสอบสวนปรากฏว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 ด้วยซึ่งเป็นข้อหาเพิ่มเติม ถือว่าได้สอบสวนในความผิดดังกล่าวโดยชอบและได้ทำการสอบสวนทั้งความผิดตามมาตรา 284 และ 319 ครบถ้วนแล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 284 ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามความผิดมาตรา 284 ตามที่พิจารณาได้ความได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 284, 319, 83, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 284 วรรคแรก, 319 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง จำคุก 15 ปี ฐานร่วมกันพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีเพื่อการอนาจาร จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีเพื่อการอนาจาร จำคุก 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 12 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 เพียงกระทงเดียว ให้จำคุก 15 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 16 ปีเศษ อยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นบิดา จำเลยกับพวกได้ร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บ้านจำเลยแล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ต่อมาผู้เสียหายที่ 2 ตั้งครรภ์และคลอดบุตรเป็นหญิง พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและสอบสวนบันทึกคำให้การจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อเดียวว่า โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 หรือไม่ และโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดตามมาตรา 284 ได้หรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์ข้อ ก. ว่า จำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันพานางสาวพัชวรรณ ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุ 16 ปีเศษยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากนายพุ่ม ผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นบิดาเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงหรือใช้วิธีการข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด สำหรับองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 319 นั้น เป็นการพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี โดยปราศจากเหตุอันสมควรไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล แม้ฟ้องโจทก์จะระบุว่าพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ก็ตาม เป็นเพียงการบรรยายในรายละเอียดโดยปราศจากองค์ประกอบของการพรากโดยปราศจากเหตุอันสมควร คำว่า “พาไป” กับคำว่า “พราก” นั้น มีความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้คำขอท้ายฟ้องจะอ้างมาตรา 319 มาด้วยก็ตาม กรณีจะแปลรวมไปถึงว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 ด้วยหาได้ไม่ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ฟ้องข้อนี้คงแปลได้แต่เพียงว่าโจทก์ฟ้องและประสงค์ขอให้ลงโทษตามมาตรา 284 เท่านั้น ไม่รวมถึงมาตรา 319 แต่อย่างใด
สำหรับบันทึกคำให้การจำเลยนั้น พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า ร่วมกันโดยใช้อุบายหลอกลวงพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร แสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 อันเป็นข้อหาหลัก แม้ทางสอบสวนปรากฏว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 ด้วย ซึ่งเป็นข้อหาเพิ่มเติม กรณีถือว่าได้สอบสวนในความผิดดังกล่าวโดยชอบแล้วและพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนทั้งความผิดตามมาตรา 284 และ 319 ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยในความผิดตามมาตรา 284 เมื่อโจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 284 แล้ว ศาลย่อมที่จะลงโทษจำเลยตามความผิดมาตรา 284 ตามที่พิจารณาได้ความได้…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง (เดิม), 284 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 276 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8