คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา คู่ความจะต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้จึงจะอุทธรณ์ฎีกาได้
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2514เวลา 10.00 นาฬิกา และพิพากษาคดีเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม2514 เวลา 13.30 นาฬิกา จำเลยย่อมมีโอกาสเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ เมื่อมิได้โต้แย้งไว้จำเลยจะอุทธรณ์ฎีกาเพื่อขอสืบพยานต่อไปอีกมิได้
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานของคู่ความ แล้วพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยอุทธรณ์ฎีกาขอให้สั่งศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ และโต้เถียงในเรื่องการเรียกค่าขึ้นศาล และการใช้แทนค่าฤชาธรรมเนียมโดยมิได้ขอให้ชี้ขาดแพ้ชนะในข้อหาแห่งคดีหรือขอให้พิพากษาให้จำเลยชนะคดี จำเลยควรเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา เพียงศาลละ 50 บาทตามตาราง 1 ข้อ 2 ก.ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินหนึ่งแปลงตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 75 มีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ จำเลยได้ตกลงขายที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงให้แก่โจทก์ ราคาไร่ละ 3,500 บาทจำเลยได้รับเงินล่วงหน้าเป็นค่ามัดจำจากโจทก์แล้ว 4,000 บาทและจะไปทำนิติกรรมหักโอนกรรมสิทธิ์ต่อกันต่อเจ้าพนักงานภายใน4 เดือนนับแต่วันทำสัญญา ก่อนโอนจำเลยยอมให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ได้ ถ้าโจทก์ผิดนัด จำเลยจะริบเงินมัดจำ แต่ถ้าจำเลยผิดนัดหรือผิดสัญญา ก็ยอมให้โจทก์ฟ้องศาลบังคับให้จำเลยขายที่ดินให้แก่โจทก์ กับให้เรียกค่าเสียหาย 8,000 บาท อีกโสดหนึ่งด้วยข้อตกลงดังกล่าวได้ทำเป็นสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญามัดจำ ครั้นถึงกำหนดนัดจดทะเบียนโอน จำเลยผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยทำนิติกรรมโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์อีก8,000 บาทด้วย

จำเลยให้การว่า ที่ดินของจำเลยตามฟ้อง เจ้าหน้าที่รังวัดได้เนื้อที่ 38 ไร่ ไม่ใช่ประมาณ 30 ไร่ จำเลยมิได้ผิดนัดผิดสัญญาโจทก์จำเลยมีเจตนาซื้อขายที่ดิน 38 ไร่ ตามจำนวนเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในราคาไร่ละ 3,500 บาทแต่เวลาเขียนสัญญามัดจำโจทก์ที่ 2 เขียนระบุเนื้อที่เป็นประมาณ30 ไร่ จำเลยทักท้วง โจทก์ที่ 2 ว่าไม่สำคัญ เพราะเป็นสัญญาชั่วคราว เนื้อที่ดินให้ถือ 38 ไร่ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยจึงทำสัญญากับโจทก์ ต่อมาโจทก์ว่าเนื้อที่มีเพียง 29 ไร่บ้าง 32 ไร่บ้าง จำเลยเรียกร้องให้โจทก์ไปทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินและจ่ายเงินให้แก่จำเลยในเนื้อที่ 38 ไร่ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จนพ้นระยะเวลาในสัญญา จำเลยจึงได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์ และแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยริบเงินมัดจำแล้ว ขอให้พิพากษายกฟ้อง

คู่ความแถลงรับกันว่า จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาท้ายฟ้องกับโจทก์ และได้บอกเลิกสัญญาดังสำเนาหนังสือท้ายคำให้การ และโจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากจำเลยหลังจากจำเลยไม่ยอมรับหมายเรียกของอำเภอ

ในวันสืบพยาน จำเลยแถลงรับว่า มีถนนสาธารณะผ่านในที่ดินแปลงนี้ แต่ไม่ทราบว่าถนนดังกล่าวมีเนื้อที่เท่าใด โจทก์ยินดีชำระค่าที่ดินตามราคาเนื้อที่ดินซึ่งรังวัดได้ในราคาไร่ละ 3,500 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน และฟังว่า ขณะทำสัญญาโจทก์จำเลยมีเจตนาจะซื้อขายที่ดินกันตามจำนวนที่รังวัดได้พิพากษาให้จำเลยไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินดังกล่าว เนื้อที่ 29 ไร่ 24 ตารางวา ในราคาไร่ละ 3,500 บาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 8,000 บาทอีกด้วย

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับประเด็นข้อหนึ่งที่ว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานของคู่ความจำเลยจะฎีกาขอให้ดำเนินการสืบพยานของคู่ความต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานของคู่ความ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 คู่ความจะต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้จึงจะอุทธรณ์ฎีกาได้ คดีนี้ ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานของคู่ความเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2514 เวลา 10.00 นาฬิกาและพิพากษาคดีเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2514 เวลา 13.30 นาฬิกาจำเลยย่อมมีโอกาสเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งได้ เมื่อมิได้โต้แย้งไว้ จำเลยจะอุทธรณ์ฎีกาเพื่อขอสืบพยานต่อไปอีกมิได้

สำหรับประเด็นข้อสองที่ว่า จำเลยควรใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เพียงใดและควรเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาในจำนวนทุนทรัพย์เท่าใด เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจัดการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินทั้งแปลงให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย ซึ่งตามคำฟ้องที่ดินมีราคา 105,000 บาท และยังให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอีก 8,000 บาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ 113,000 บาท ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีเป็นเงิน 2,825 บาท จึงเป็นการถูกต้อง ต่อมาจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีในศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดแทนโจทก์จึงชอบแล้ว แต่เมื่อจำเลยอุทธรณ์ฎีกาต่อมานั้น ศาลฎีกาได้ตรวจฟ้องอุทธรณ์และฟ้องฎีกาโดยตลอดแล้ว เห็นว่าจำเลยเพียงแต่ขอให้สั่งศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ และโต้เถียงมาในเรื่องการเรียกค่าขึ้นศาล และการใช้แทนค่าฤชาธรรมเนียมเท่านั้น จำเลยมิได้ขอให้ชี้ขาดแพ้ชนะในข้อหาแห่งคดี หรือขอให้พิพากษาให้จำเลยชนะคดีแต่ประการใด จำเลยจึงควรเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเพียงศาลละ 50 บาทตามตาราง 1 ข้อ 2 ก. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขใหม่ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1044/2509

พิพากษายืนในผลแห่งคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลที่จำเลยเสียไว้ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 50 บาทนั้น ให้แก่จำเลย

Share