คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518ได้ให้บทนิยามคำว่า “วัตถุตำรับ” หมายความว่า สิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่มีวัตถุออกฤทธิ์รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้รวมทั้งวัตถุออกฤทธิ์ที่มีลักษณะเป็นวัตถุสำเร็จรูปทางเภสัชกรรมซึ่งพร้อมที่จะนำไปใช้แก่คนหรือสัตว์ได้ นอกจากนั้นในมาตรา 59ยังได้บัญญัติว่า “ให้ถือว่าวัตถุตำรับที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทหนึ่งประเภทใดปรุงผสมอยู่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทนั้นด้วย” จึงเป็นที่เห็นได้ว่าวัตถุออกฤทธิ์ในความหมายดังกล่าวนั้น นอกจากหมายถึงวัตถุออกฤทธิ์โดยเฉพาะแล้ว ยังหมายรวมถึงสิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปร่างลักษณะใดที่มีวัตถุออกฤทธิ์ปรุงผสมอยู่ด้วย
ในระหว่างพิจารณา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2538) ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 85 (พ.ศ. 2536) ซึ่งบังคับใช้อยู่ขณะเกิดเหตุ และกำหนดการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 เมื่อคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วสำหรับเมทแอมเฟตามีนต้องไม่เกิน0.500 กรัม เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าวัตถุออกฤทธิ์ของกลาง น้ำหนักรวม105.10 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ปริมาณเกินกว่าที่รัฐมนตรีกำหนดหรือไม่จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 106 ทวิ เพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ.2538) เป็นคุณแก่จำเลย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 106 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2538)ไม่มีผลถึงความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิวรรคหนึ่ง, 89 เพราะความผิดฐานนี้ไม่ได้กำหนดปริมาณของวัตถุออกฤทธิ์อันจะเป็นความผิดไว้
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ตามมาตรา 89 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 106 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ปัญหานี้แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ รวมทั้งกำหนดโทษจำเลยในความผิดตามมาตรา 89 ซึ่งศาลล่างทั้งสองมิได้กำหนดไว้ได้

Share